คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5643/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “ศาล” ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 24 หมายถึงศาลที่มีคำสั่งหรือความเห็นชอบในการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้เฉพาะในกรณีที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เท่านั้น พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มิได้บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งหรือให้ความเห็นชอบในกรณีที่จำเลยผ่อนชำระเงินตามเช็คให้แก่ผู้คัดค้านภายหลังจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเพื่อให้ผู้คัดค้านถอนฟ้องคดีอาญาแก่จำเลย แม้ศาลในคดีอาญาจดรายงานกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับข้อตกลงระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านและให้เลื่อนการพิพากษาคดีอาญาไป ก็หาใช่ศาลที่ให้ความยินยอมตามกฎหมายแห่งพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 24 ไม่ ปัญหาที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 24 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจผู้ร้องที่จะร้องขอให้เพิกถอนการชำระหนี้ของจำเลยได้ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการชำระหนี้นั้น แม้ผู้คัดค้านจะมิได้ยกข้อต่อสู้ดังกล่าวไว้ในคำคัดค้าน และมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นก็ตาม แต่กรณีเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกาได้ และศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาต้องวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคสอง และ 249 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ที่ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรไม่รับวินิจฉัยปัญหานี้ให้เป็นการไม่ชอบ และแม้ผู้คัดค้านจะมิได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อนี้แต่กลับยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็วินิจฉัยให้ได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ การชำระหนี้ของจำเลยให้แก่ผู้คัดค้านเป็นการชำระหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด ย่อมเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 22 และ 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 จึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องซึ่งมีอำนาจในการจัดการและรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยย่อมมีอำนาจร้องขอให้ผู้คัดค้านคืนเงินที่จำเลยชำระได้ ปัญหาที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินที่ต้องคืนด้วยนั้นไม่ชอบเพราะผู้คัดค้านรับชำระหนี้จากจำเลยโดยสุจริต เข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 และที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการชำระหนี้ของจำเลยขัดต่อมาตรา 22และ 24 ไม่ว่าผู้คัดค้านจะทราบว่าจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือไม่นั้น ไม่ชอบด้วยเช่นกัน เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านจะมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำคัดค้าน ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกาได้ และศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาต้องวินิจฉัยให้ การชำระหนี้ของจำเลยตกเป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 22 และ 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483เงินที่ผู้คัดค้านรับไว้จากจำเลย จะต้องคืนให้แก่จำเลยฐานลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 412แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าก่อนยื่นคำร้องคดีนี้ ผู้ร้องได้เรียกร้องให้ผู้คัดค้านคืนเงินให้จึงต้องถือว่าผู้ร้องเรียกร้องให้ผู้คัดค้านคืนเงินนับแต่วันยื่นคำร้องในคดีนี้เป็นต้นไป คดีนี้ผู้คัดค้านจะอ้างว่าได้รับชำระหนี้จากจำเลยโดยสุจริตเข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 114 ไม่ได้ เพราะผู้ร้องมิได้ร้องขอให้เพิกถอนการชำระหนี้ตามบทมาตราดังกล่าว ทั้งการร้องขอให้เพิกถอนการชำระหนี้ตามมาตรา 114 จะต้องเป็นการกระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังเท่านั้นอันหมายถึงการชำระหนี้ที่กระทำก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หาใช่เป็นการชำระหนี้ที่กระทำหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดดังเช่นคดีนี้ไม่ ดังนี้ การชำระหนี้ของจำเลยจึงต่อมาตรา 22 และ 24 ไม่ว่าผู้คัดค้านจะทราบว่าจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือไม่ และตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับผู้ร้องย่อมร้องขอให้ผู้คัดค้านคืนเงินในส่วนนี้ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่22 มิถุนายน 2532 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2533 จำเลยยังไม่พ้นภาวะล้มละลายเมื่อระหว่างวันที่ 21 สิงหาคม 2533 ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2534ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดจำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 700,000 บาทขอให้เพิกถอนการชำระหนี้ระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านดังกล่าวและให้ผู้คัดค้านคืนเงิน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงินที่ชำระแต่ละครั้งนับแต่วันที่จำเลยชำระให้ในแต่ละคราวจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด จำเลยและบุคคลภายนอกได้ชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้านรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 700,000 บาท การชำระหนี้ดังกล่าวสืบเนื่องมาจากเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2524 จำเลยออกเช็ครวม 5 ฉบับ สั่งจ่ายเงินทั้งสิ้น 4,790,000 บาท และนำมาแลกเงินสดจากผู้คัดค้าน แต่เช็คทั้งห้าฉบับเรียกเก็บเงินไม่ได้ผู้คัดค้านจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค 2 คดี ต่อมาวันที่14 เมษายน 2530 จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องทั้งสองคดีและตกลงกับผู้คัดค้านโดยจำเลยยอมผ่อนชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้าน2,500,000 บาท แล้วผู้คัดค้านจะถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าวส่วนเงินที่เหลือผู้คัดค้านจะไปว่ากล่าวในคดีแพ่ง เมื่อตกลงกันได้ศาลจึงเลื่อนการพิพากษาคดีไป หลังจากนั้นจำเลยได้ผ่อนชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้านและขอเลื่อนการพิพากษาคดีเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2534 ผู้คัดค้านจึงได้รับชำระหนี้ครบถ้วนและได้ถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าว การชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านภายหลังจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดรวม 700,000 บาท นั้นเป็นเงินของจำเลยเพียง 300,000 บาท เท่านั้น ส่วนอีก 400,000 บาทเป็นการชำระของบุคคลภายนอกโดยจำเลยนำเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาราชบุรี ของนางทัศนีย์ ศิริชัย รวม 5 ฉบับ มาชำระให้แก่ผู้คัดค้านต่อหน้าศาล แต่เช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินไม่ได้ ต่อมานางทัศนีย์ได้ชำระเงินสดแลกเอาเช็คคืนไป การชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านดังกล่าวเป็นการกระทำโดยความเห็นชอบของศาลอันเข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 24ไม่เป็นโมฆะ ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการชำระหนี้ได้ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านคืนเงิน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 70,000 บาท นับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2533 ในต้นเงิน 130,000 บาท นับแต่วันที่22 สิงหาคม 2533 ในต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2533 ในต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันที 15 เมษายน 2534 ในต้นเงิน 51,000 บาท นับแต่วันที่ 16 เมษายน 2534 ในต้นเงิน49,000 บาท นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2534 และในต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่าจำเลยได้ออกเช็ครวม 5 ฉบับ สั่งจ่ายเงินทั้งสิ้น 4,790,000 บาทและมอบให้แก่ผู้คัดค้านเพื่อชำระหนี้ แต่เช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินไม่ได้ ผู้คัดค้านจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค รวม 2 คดีจำเลยตกลงยอมผ่อนชำระหนี้และได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านแล้วบางส่วน รวมทั้งได้นำเช็คของนางทัศนีย์ ศิริชัย น้องสาวจำเลยชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้าน แต่เช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินไม่ได้เช่นกัน ผู้คัดค้านฟ้องนางทัศนีย์เป็นคดีอาญาในความผิดเดียวกับกับจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2533 ภายหลังจากนั้นได้มีการชำระเงินตามเช็คดังกล่าวรวม 700,000 บาท ให้แก่ผู้คัดค้าน โดยชำระเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2533 จำนวน 70,000 บาท วันที่ 22 สิงหาคม 2533 จำนวน130,000 บาท วันที่ 25 ธันวาคม 2533 จำนวน 100,000 บาท วันที่ 15 เมษายน 2534 จำนวน 200,000 บาท วันที่ 16 เมษายน 2534จำนวน 51,000 บาท วันที่ 22 เมษายน 2534 จำนวน 49,000 บาทและวันที่ 22 พฤษภาคม 2534 จำนวน 100,000 บาท ผู้คัดค้านจึงถอนฟ้องคดีอาญาที่ฟ้องจำเลยและนางทัศนีย์ดังกล่าว
ปัญหาข้อแรกที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า คำว่า “ศาล” ตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 24 มิได้หมายความว่าต้องเป็นศาลที่พิจารณาคดีล้มละลายเท่านั้น แต่หมายถึงศาลแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 24 ที่บัญญัติว่า “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้” ฉะนั้น คำว่า “ศาล”ในบทมาตราดังกล่าวจึงหมายถึงศาลที่มีคำสั่งหรือความเห็นชอบในการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้เฉพาะในกรณีที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เท่านั้นเมื่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มิได้บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งหรือให้ความเห็นชอบในกรณีที่จำเลยผ่อนชำระเงินตามเช็คให้แก่ผู้คัดค้านภายหลังจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเพื่อให้ผู้คัดค้านถอนฟ้องคดีอาญาแก่จำเลย แม้ศาลจดรายงานกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับข้อตกลงระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้าน และให้เลื่อนการพิพากษาคดีอาญาไป ก็หาใช่ศาลที่ให้ความยินยอมตามความหมายแห่งมาตรา 24 ดังกล่าวไป
ปัญหาข้อสองที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 24 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจผู้ร้องที่จะร้องขอให้เพิกถอนการชำระหนี้ของจำเลยได้ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการชำระหนี้นั้น เห็นว่า แม้ผู้คัดค้านจะมิได้ยกข้อต่อสู้ดังกล่าวไว้ในคำคัดค้าน และมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นก็ตาม แต่กรณีเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกาได้ และศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาต้องวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง และ249 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 153 ที่ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรไม่รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบและแม้ผู้คัดค้านจะมิได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อนี้แต่กลับยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็วินิจฉัยให้ได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การชำระหนี้ของจำเลยให้แก่ผู้คัดค้านนับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2533 เป็นต้นไป เป็นการชำระหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด ย่อมเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 22 และ 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 จึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับ ผู้ร้องซึ่งมีอำนาจในการจัดการและรวบรวมทรัพย์สินของจำเลย ย่อมมีอำนาจร้องขอให้ผู้คัดค้านคืนเงินที่จำเลยชำระได้
ปัญหาข้อสามที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า เพราะผู้คัดค้านพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินที่ต้องคืนด้วยนั้นไม่ชอบเพราะผู้คัดค้านรับชำระหนี้จากจำเลยโดยสุจริต เข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 และที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการชำระหนี้ของจำเลยขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 24 ไม่ว่าผู้คัดค้านจะทราบว่าจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือไม่นั้น ไม่ชอบด้วยเช่นกัน เห็นว่ากรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ผู้คัดค้านจะมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำคัดค้านผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกาได้และศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาต้องวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง และ 249 วรรคสองประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153ที่ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรไม่รับวินิจฉัยให้นั้นไม่ชอบ แม้ผู้คัดค้านจะมิได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อนี้ แต่กลับยกปัญหาดังกล่าวขึ้นโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็วินิจฉัยให้ได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ ในปัญหาดังกล่าวเมื่อฟังว่าการชำระหนี้ของจำเลยตกเป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 22 และ 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เงินที่ผู้คัดค้านรับไว้จากจำเลยจะต้องคืนให้แก่จำเลยฐานลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 412 หากมีการเรียกเงินดังกล่าวคืน แต่ผู้คัดค้านไม่คืนให้ต้องถือว่าผู้คัดค้านตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่ถูกเรียกคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 415 วรรคสอง และตกเป็นผู้ผิดนัดจะต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่เวลานั้นเป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และ 204 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าก่อนยื่นคำร้องคดีนี้ ผู้ร้องได้เรียกร้องให้ผู้คัดค้านคืนเงินให้จึงต้องถือว่าผู้ร้องเรียกร้องให้ผู้คัดค้านคืนเงินนับแต่วันยื่นคำร้องในคดีนี้เป็นต้นไป และคดีนี้ผู้คัดค้านจะอ้างว่าได้รับชำระหนี้จากจำเลยโดยสุจริตเข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 114 ไม่ได้ เพราะผู้ร้องมิได้ร้องขอให้เพิกถอนการชำระหนี้ตามบทมาตราดังกล่าว ทั้งการร้องขอให้เพิกถอนการชำระหนี้ตามมาตรา 114 จะต้องเป็นการกระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังเท่านั้น อันหมายถึงการชำระหนี้ที่กระทำก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ หาใช่เป็นการชำระหนี้ที่กระทำหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดดังเช่นคดีนี้ไม่ กรณีต้องปรับตามมาตรา 24 ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการชำระหนี้ของจำเลยขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 24 ไม่ว่าผู้คัดค้านจะทราบว่าจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือไม่ จึงชอบแล้ว
ปัญหาข้อสุดท้ายที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้คัดค้านรับชำระหนี้รวม 400,000 บาท ในส่วนที่เกี่ยวกับเช็คของนางทัศนีย์น้องสาวจำเลยเป็นเงินของนางทัศนีย์ ไม่ใช่เงินของจำเลย ผู้ร้องจึงไม่อาจร้องขอให้เพิกถอนการรับชำระหนี้ดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เงินที่ชำระดังกล่าวเป็นเงินของจำเลย หาใช่เงินของนางทัศนีย์ไม่ เมื่อเป็นการชำระหนี้ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้ว การชำระหนี้ของจำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 22 และ 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับผู้ร้องย่อมร้องขอให้ผู้คัดค้านคืนเงินในส่วนนี้ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 700,000 บาท นับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share