คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5633/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานที่ออกตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ77มีผลเพียงเป็นการชี้แนะของเจ้าหน้าที่เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างนายจ้างลูกจ้างมิใช่คำสั่งหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดที่กฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องปฏิบัติตามถ้าโจทก์เห็นว่าคำเตือนนั้นไม่ถูกต้องจะไม่ปฏิบัติตามก็ได้การที่จำเลยที่2และที่3ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานออกคำเตือนแก่โจทก์ย่อมไม่เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำเตือนนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่จำเลยที่ 1 มอบหมาย ได้มีคำเตือนพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 1/2539 เตือนให้โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างและดอกเบี้ยแก่นายเปอร์รี่ เดลไดเคส จำนวน 350,000 บาท ภายใน15 วัน ความจริงแล้วโจทก์มิได้เป็นหนี้นายเปอร์รี่ เพราะมีการหักหลบลบหนี้ที่นายเปอร์รี่เช่ารถแทรกเตอร์ของโจทก์เพื่อทำการปรับปรุงสนามกอล์ฟแล้ว ขอให้เพิกถอนคำเตือนพนักงานตรวจแรงงานที่ 1/2539 ดังกล่าวเสีย จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานที่ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างแก่นายเปอร์รี่นั้นมิใช่คำสั่งหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างต้องปฏิบัติตาม ทั้งนายเปอร์รี่มิได้เช่ารถแทรกเตอร์จากโจทก์แต่อย่างใด จึงไม่มีหนี้ที่โจทก์จะนำมาหักกลบลบหนี้ได้ คำเตือนของพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 1/2529 จึงชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิเคราะห์คำฟ้องและคำให้การแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานที่ 1/2539 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 77 บัญญัติว่า เมื่อปรากฎว่านายจ้างฝ่าฝืนประกาศนี้พนักงานตรวจแรงงานอาจให้คำเตือนเพื่อให้นายจ้างปฏิบัติการให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำเตือนเสียก่อนก็ได้ หมายความว่า เมื่อปรากฎว่านายจ้างได้กระทำการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตามพนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจเตือนให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด คดีนี้ปรากฎว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา อยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2และที่ 3 ได้สอบสวนตามที่นายเปอร์รี่ เดลไดเคส ร้องเรียนว่าโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าจ้างตามข้อตกลง ผลการสอบสวนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ปรากฎว่าโจทก์ฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 29จึงออกคำเตือนแก่โจทก์โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 77 แห่งประกาศดังกล่าวให้โจทก์จ่ายค่าจ้างแก่นายเปอร์รี่ เดลไดเคส ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำเตือนนั้น คำเตือนดังกล่าวมีผลเพียงเป็นการชี้แนะของเจ้าหน้าที่เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างนายจ้างลูกจ้าง มิใช่เป็นคำสั่งหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดที่กฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องปฏิบัติตาม ถ้าโจทก์เห็นว่าคำเตือนนั้นไม่ถูกต้องจะไม่ปฏิบัติตามก็ได้คำเตือนดังกล่าวจึงไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิหน้าที่ของโจทก์ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3ออกคำเตือนแก่โจทก์จึงไม่เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำเดือนของพนักงานตรวจแรงงานที่ 1/2539 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นและคดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์อีกข้อที่ว่า ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลยชอบหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป” พิพากษายืน

Share