คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522มาตรา4จะบัญญัติว่าการผลิตให้หมายความรวมถึงการแบ่งบรรจุหรือการรวมบรรจุด้วยก็ตามแต่โทษฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท1นั้นมาตรา65วรรคหนึ่งกำหนดให้ระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตเท่ากับโทษฐานจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท1มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัมตามมาตรา66วรรคหนึ่งกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับจึงย่อมเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดโทษความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามความร้ายแรงของอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมจากการกระทำความผิดโดยการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท1ไม่ว่าด้วยการเพาะปลูกทำผสมปรุงแปรสภาพเปลี่ยนรูปหรือสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์เป็นการกระทำที่จะเกิดอันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรงเพราะเป็นการเพิ่มความรุนแรงของยาเสพติดให้โทษหรือเป็นการทำให้ยาเสพติดให้โทษนั้นแพร่หลายง่ายขึ้นกฎหมายจึงต้องกำหนดโทษสูงเมื่อความมุ่งหมายของกฎหมายเป็นเช่นนี้คำว่า”การแบ่งบรรจุหรือการรวมบรรจุ”ในมาตรา4จึงต้องหมายถึงการแบ่งบรรจุหรือการรวมบรรจุที่เป็นอันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรงทำนองเดียวกับการเพาะปลูกทำผสมปรุงแปรสภาพเปลี่ยนรูปหรือสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์เช่นการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุเพื่อจำหน่ายแก่บุคคลโดยทั่วไปเป็นต้นสำหรับคดีนี้แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้องศาลก็ยังต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา176เมื่อข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานโจทก์ในคดีนี้ไม่ได้ความว่าจำเลยแบ่งบรรจุเฮโรอีนของกลางเพื่อจำหน่ายจ่ายแจกแก่บุคคลทั่วไปนอกจากนั้นยังปรากฏว่าจำเลยต่างติดยาเสพติดให้โทษจึงอาจเป็นดังที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยแบ่งบรรจุเฮโรอีนเพื่อความสะดวกในการใช้ของตนเองการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท1จำเลยคงมีความผิดเพียงฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท1เท่านั้นซึ่งการกระทำความผิดฐานนี้เป็นการกระทำอย่างหนึ่งในความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท1ที่โจทก์ฟ้องนั่นเองศาลย่อมลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 65, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 49 ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 65 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปีจำเลยที่ 2 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน ของกลางให้ริบ
โจทก์ และ จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ที่ 1 ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 และที่ 2และยึดของกลาง คือ เฮโรอีน 20 หลอด มีน้ำหนักสุทธิ 0.54 กรัมพร้อมหลอดพลาสติก 1 หลอด หลอดกาแฟปิดท้ายแล้ว 6 หลอด ไม้ขีดไฟ2 กล่อง เทียนไข 3 เล่ม และหลอดกาแฟสีขาว 38 หลอดโดยเฮโรอีนจำนวนดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันแบ่งบรรจุใส่หลอด มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1มีความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 หรือไม่ ในข้อนี้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 บัญญัติความหมายของคำว่า “ผลิต” ว่าให้หมายความถึง “เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุงแปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์และให้หมายความรวมถึงการแบ่งบรรจุหรือการรวมบรรจุด้วย” ศาลฎีกาเห็นว่า แม้กฎหมายจะบัญญัติว่า การผลิตให้หมายความรวมถึงการแบ่งบรรจุหรือการรวมบรรจุด้วย คำว่า “การแบ่งบรรจุหรือการรวมบรรจุ” ในมาตรา 4 หมายถึงการแบ่งบรรจุหรือการรวมบรรจุที่เป็นอันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรงทำนองเดียวกับการเพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูปหรือสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น การแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุเพื่อจำหน่ายแก่บุคคลโดยทั่วไปเป็นต้น สำหรับคดีนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลก็ยังต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 176 ซึ่งข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานโจทก์ในคดีนี้ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แบ่งบรรจุเฮโรอีนของกลางเพื่อจำหน่ายจ่ายแจกแก่บุคคลทั่วไป นอกจากนั้นยังปรากฏว่าทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างติดยาเสพติดให้โทษ จึงอาจเป็นดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แบ่งบรรจุเฮโรอีนเพื่อความสะดวกในการใช้ของตนเอง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำเลยที่ 1 คงมีความผิดเพียงฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เท่านั้นซึ่งการกระทำความผิดฐานนี้เป็นการกระทำอย่างหนึ่งในความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ที่โจทก์ฟ้องนั่นเองศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 ให้วางโทษจำคุก 8 ปี เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้วคงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share