คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 377/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ขับรถมาถึงทางร่วมทางแยกก่อนรถโจทก์ จะนำมาตรา 71(2) พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะตามบทมาตราดังกล่าวเป็นกรณีที่รถมาถึงทางร่วมทางแยกพร้อมกัน และตามมาตรา 51(2)(จ) ก็เป็นกรณีเมื่อรถอยู่ในทางร่วมทางแยกต้องให้รถที่สวนมาในทางเดินรถเดียวกันผ่านไปก่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงให้เลี้ยวขวาไปได้ มิใช่กรณีการเดินรถในถนนคนละสาย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุก จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถโดยสารโชคอนันต์ทัวร์ จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของและครอบครองทำประโยชน์รถโดยสาร จำเลยที่ 4 เป็นผู้ร่วมกับจำเลยที่ 3 แสวงหาประโยชน์จากรถโดยสารดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ควบคุมบังคับรถทั้งสองคันดังกล่าวด้วยความประมาทเลินเล่อ ปราศจากความระมัดระวังมิได้ให้สัญญาณใด ๆ และมิได้ดูถนนให้ปลอดยานพาหนะที่ผ่านไปมาเสียก่อนที่จะเลี้ยวรถเป็นเหตุให้รถบรรทุกของโจทก์ชนด้านท้ายทางขวา ทำให้รถบรรทุกของโจทก์ได้รับความเสียหายขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 56,437.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่าเหตุที่รถชนกันในคดีนี้ไม่ได้เกิดจากการขับรถโดยประมาทของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามฟ้องเหตุที่รถเกิดชนกันเพราะผู้ขับรถบรรทุกของโจทก์ขับรถด้วยความประมาทใช้ความเร็วสูงจนไม่สามารถบังคับให้รถหยุดได้เมื่อต้องการหยุดไม่ลดความเร็วเมื่อถึงทางแยกทางร่วมอันเป็นที่คับขัน และนำรถที่มีเครื่องห้ามล้อไม่ดีมาขับบนถนน รถของโจทก์ได้รับความเสียหายไม่ถึงตามฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า เหตุที่รถชนกันคดีนี้เกิดเพราะความประมาทของนายชาญ เพ็งลอย คนขับรถโจทก์ที่ขับรถด้วยความเร็วสูงไม่คำนึงความปลอดภัยของผู้อื่น ความเสียหายของรถโจทก์มีเพียงด้านหน้ารถบุบเท่านั้น ค่าเสียหายจึงไม่ถึงตามที่โจทก์ฟ้อง ค่าเสียหายที่แท้จริงไม่เกิน 5,000 บาท
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 มิได้มีผลประโยชน์ในการเดินรถโดยสารร่วมกับจำเลยอื่น เหตุคดีนี้จึงเกิดจากความประมาทร่วมหรือความประมาทของผู้ขับรถบรรทุกของโจทก์ฝ่ายเดียว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาวินิจฉัยประการแรกมีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขับรถโดยประมาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 80 – 0035ชุมพร ลากจูงรถโดยสารหมายเลขทะเบียน 10 – 0185 นครปฐมซึ่งจำเลยที่ 2 นั่งบังคับพวงมาลัยมาตามถนนเศรษฐกิจ 1 เมื่อถึงสามแยกอ้อมน้อย จำเลยที่ 1 ขับรถเลี้ยงขวาตัดเข้าถนนเพชรเกษมเมื่อรถที่จำเลยที่ 1 ขับเลี้ยวข้ามพ้นเกาะกลางถนนมาแล้ว แต่รถคันที่จำเลยที่ 2 นั่งบังคับพวงมาลัยมานั้นยังอยู่ในช่องทางเดินรถอีกฝั่งหนึ่ง รถของโจทก์ ซึ่งวิ่งมาทางตรงตามช่องทางเดินรถดังกล่าวได้ชนถูกบริเวณที่นั่งคนขับของรถคันที่จำเลยที่ 2นั่งบังคับพวงมาลัยอยู่ พฤติการณ์ดังกล่าวนี้ จะเห็นได้ว่า รถโจทก์เป็นฝ่ายชนรถที่จำเลยที่ 2 นั่งบังคับพวงมาลัย ซึ่งถูกลากจูงโดยรถที่จำเลยที่ 1 ขับ นายชาญลูกจ้างขับรถของโจทก์เบิกความว่าเห็นรถบรรทุกน้ำมันที่จำเลยที่ 1 ขับข้ามถนนไปแล้วประมาณ 10 วาจึงเห็นรถโดยสารที่รถบรรทุกน้ำมันลากจูงมา นายชาญห้ามล้อรถ แต่ห้ามล้อไม่อยู่ แสดงว่านายชาญขับรถมาด้วยความเร็วค่อนข้างสูง ซึ่งนายชาญก็เบิกความยอมรับว่าตนขับรถด้วยความเร็วประมาณ 70กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งในขณะที่นายชาญขับรถเข้าทางแยกทางร่วมโดยใช้อัตราความเร็วดังกล่าวนั้น ย่อมถือได้ว่านายชาญได้ขับรถมาด้วยอัตราความเร็วสูง นอกจากนี้ไม่ปรากฏว่าบริเวณทางแยกที่เกิดเหตุเป็นทางโค้ง หรือมีสิ่งใดปิดบังที่จะทำให้ไม่สามารถมองเห็นรถที่ออกมาจากถนนเศรษฐกิจ 1 ดังนั้นการที่นายชาญมองไม่เห็นว่ารถบรรทุกน้ำมันลากจูงรถโดยสารมาด้วยนั้น ถือได้ว่านายชาญขับรถมาโดยมิได้มีความระมัดระวังตามสมควรอันเป็นวิสัยของผู้ขับรถ จึงมองไม่เห็นรถโดยสารที่ถูกลากจูงมา และโดยปกติธรรมดาแล้วนายชาญก็น่าที่จะแลเห็นรถบรรทุกน้ำมันได้ตั้งแต่ขับรถอยู่ในระยะห่างไกลพอที่จะหยุดรถของตนได้ทัน เพราะขณะเกิดเหตุนั้นรถบรรทุกน้ำมันที่จำเลยที่ 1 ขับได้เลี้ยวพ้นเกาะกลางถนนไปแล้ว และนายชาญควรที่จะห้ามล้อให้รถหยุดได้ทันท่วงที รถให้รถที่จำเลยที่ 1 ขับลากจูงรถที่จำเลยที่ 2 นั่งบังคับพวงมาลัยผ่านพ้นไปเสียได้โดยไม่ยากแต่นายชาญหาได้กระทำไม่อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 70 และ 71 ถือได้ว่านายชาญคนขับรถโจทก์ได้ขับรถโดยประมาท ส่วนจำเลยที่ 1 ได้ขับรถเลี้ยวข้ามเกาะกลางถนนมาแล้วเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ขับรถมาถึงทางแยกก่อนรถโจทก์ดังนั้นจึงจะนำมาตรา 72(2) (ที่ถูกมาตรา 71(2)) แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาใช้บังคับดังที่โจทก์อ้างหาได้ไม่เพราะตามบทมาตราดังกล่าวเป็นกรณีที่รถมาถึงทางร่วมทางแยกพร้อมกันอีกประการหนึ่งที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฝ่าฝืน มาตรา 51(2)(จ) ด้วยนั้น เห็นว่า ตามบทมาตราดังกล่าวเป็นกรณีเมื่อรถอยู่ในทางร่วมทางแยก ต้องให้รถที่สวนมาในทางเดินรถเดียวกันผ่านไปก่อนเมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงให้เลี้ยวขวาไปได้มิใช่กรณีการเดินรถในถนนคนละสายดังเช่นพฤติการณ์ในคดีนี้ จึงจะนำมาปรับกับคดีนี้ไม่ได้เช่นกัน…”
พิพากษายืน.

Share