คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5626/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104ให้อำนาจแก่ศาลที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่จำเลยและโจทก์นำเข้าสู่กระบวนพิจารณานั้นเป็นการเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีหรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นได้ดำเนิน กระบวนพิจารณาอันเป็นสาระสำคัญ โดยสั่งให้ทำแผนที่ วิวาทตามที่คู่ความนำชี้ เมื่อคู่ความแถลงรับว่าแผนที่ วิวาทถูกต้อง และแถลงรับข้อเท็จจริงต่อศาลชั้นต้น ก็เป็น การเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง งดสืบพยานทั้งสองฝ่าย จึงเป็นการใช้อำนาจศาลตามกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2534 ซึ่งใช้บังคับอยู่ ในขณะนั้นและเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลยยังมิได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ กันเป็นส่วนสัด เมื่อโจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมโดยมิได้แบ่งแยกการครอบครองกันเป็นส่วนสัด ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามส่วน โดยกำหนดวิธีการแบ่งตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 บัญญัติไว้ได้ไม่เป็นการพิพากษานอกประเด็น หรือพิพากษาเกินคำขอ โจทก์และจำเลยตกลงกันให้โจทก์ครอบครองที่ดินที่เป็น กรรมสิทธิ์รวมด้านทิศเหนือและจำเลยครอบครองด้านทิศใต้ ตามแผนที่วิวาทซึ่งคู่ความรับว่าถูกต้องและจำเลยได้ปลูกบ้าน อยู่ในที่ดินพิพาททางด้านทิศใต้แล้ว หากจะให้เอาที่ดิน พิพาทประมูลขายทอดตลาดแล้วเอาเงินแบ่งให้โจทก์ จำเลยตามส่วนตามบทบัญญัติของกฎหมาย จำเลยอาจ ได้รับความเดือดร้อน ดังนี้ศาลให้แบ่งแยกที่ดินพิพาทตามแนว แผนที่วิวาทดังกล่าว โจทก์ฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์ในฐานะเจ้าของรวมจำเลยให้การกล่าวแก้ว่าวิธีการแบ่งทรัพย์ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องนั้นไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้องมิได้ขอ บังคับให้ที่ดินส่วนใดเป็นของจำเลยเกินกว่าสิทธิของจำเลยเมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามโฉนดเลขที่ 13797 เนื้อที่ 1 งาน 68 ตารางวาหรือ 168 ส่วน โดยเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ 96 ส่วน อยู่ทางทิศเหนือเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย 72 ส่วนอยู่ทางทิศใต้ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทางราชการได้เวนคืนที่ดินทางด้านทิศตะวันออกเพื่อขยายถนนสายสุพรรณบุรี-ลาดตาล เป็นเนื้อที่ 23 ตารางวาหักเป็นส่วนของโจทก์ 5 ตารางวา ของจำเลย 18 ตารางวาทำให้ที่ดินส่วนของโจทก์เหลือ 91 ตารางวา ส่วนของจำเลยเหลือ 54 ตารางวา ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง เมื่อพุทธศักราช 2534จำเลยปลูกบ้านลงในที่ดินส่วนของจำเลยด้านทิศใต้ และขุดหลุมทำรั้วคอนกรีตรุกล้ำที่ดินส่วนของโจทก์ โจทก์ห้ามแล้วจำเลยไม่รับฟัง ต่อมาโจทก์และจำเลยตกลงยื่นเรื่องราวขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาท แต่เมื่อรังวัดแล้วปรากฏว่าแนวรั้วของจำเลยรุกล้ำที่ดินส่วนของโจทก์ จำเลยจึงคัดค้านไม่ยอมให้รังวัดขอให้บังคับจำเลยร่วมกับโจทก์ยื่นเรื่องต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรีขอให้รังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 13797ทางด้านทิศเหนือ 91 ตารางวา ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องให้แก่โจทก์หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาแทน และให้จำเลยรื้อรั้วคอนกรีตที่จำเลยก่อสร้างรุกล้ำที่ดินของโจทก์ตามแนวเส้นประสีแดงของแผนที่สังเขปท้ายฟ้องออกจากที่ดินส่วนของโจทก์ และปรับพื้นที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิม
จำเลยให้การว่า โจทก์และจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามฟ้อง แต่ยังไม่ได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นส่วนสัดจึงถือว่าโจทก์และจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกันทุกส่วนทั้งแปลง โจทก์ฟ้องจำเลยกล่าวหาว่าสร้างรั้วคอนกรีตเกินส่วนของจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินส่วนของโจทก์เป็นการไม่ชอบโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ทั้งเนื้อที่ดินทั้งหมดและเนื้อที่ดินที่โจทก์และจำเลยถือกรรมสิทธิ์ตามที่โจทก์บรรยายในฟ้องไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ดีจำเลยปลูกบ้านและสร้างรั้วในที่ดินส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยไม่ได้รุกล้ำที่ดินส่วนที่เป็นของโจทก์ ที่ดินตามโฉนดที่โจทก์และจำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมทางราชการเวนคืนไปบางส่วน แต่ในการเวนคืนที่ดินนั้นทางราชการมิได้ระบุว่าเวนคืนที่ดินส่วนที่เป็นของโจทก์มีเนื้อที่เพียงใด และส่วนที่เป็นของจำเลยมีเพียงใดแต่ระบุเนื้อโดยรวมไว้ จึงไม่สามารถบังคับตามคำขอท้ายฟ้องได้ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นหน้าที่นำสืบกำหนดทุนทรัพย์ที่ดินพิพาทและเรียกค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์พิพาทจำนวน 18,800 บาท และคู่ความรับกันว่าทางราชการเวนคืนที่ดินไปจากที่ดินกรรมสิทธิ์รวมด้านทิศตะวันออกเนื้อที่ 18 ตารางวาโจทก์และจำเลยรับว่าเพียงแต่ตกลงให้โจทก์ครอบครองที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมด้านทิศเหนือ จำเลยครอบครองด้านทิศใต้แต่มิได้แบ่งแนวเขตชัดเจน จึงตกลงให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตโดยวิธีปูโฉนด โดยให้หักส่วนที่ถูกเวนคืน 18 ตารางวาออกแล้วเหลือเนื้อที่เท่าใดก็ให้คำนวณแบ่งส่วนที่ดินแก่โจทก์และจำเลย เมื่อโจทก์และจำเลยตรวจดูแผนที่ทำครั้งสุดท้ายฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2539 แล้วรับว่าถูกต้อง และที่ดินส่วนที่พิพาทกันมีเพียง 3 ตารางวา ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยาน ให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองฝ่ายแล้วพิพากษาให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 13797 แก่โจทก์ 96 ส่วน ใน 168 ส่วน ทั้งนี้ให้หักที่ดินที่ถูกเวนคืน 18 ตารางวา ออกก่อนโดยหักเฉลี่ยกันตามส่วนเหลือเท่าใดให้แบ่งแก่โจทก์ตามส่วน สำหรับวิธีการแบ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 13797 เนื้อที่1 งาน 68 ตารางวา ร่วมกันอย่างบรรยายส่วน โจทก์มีส่วน96 ส่วน ใน 168 ส่วน จำเลยมีส่วน 72 ส่วนใน 168 ส่วนโจทก์และจำเลยตกลงกันให้โจทก์ครอบครองที่ดินด้านทิศเหนือจำเลยครอบครองด้านทิศใต้ แต่มิได้แบ่งแยกแนวเขตที่ดินให้ชัดเจนและทางราชการเวนคืนที่ดินซึ่งโจทก์และจำเลยมีกรรมสิทธิ์รวมกันนั้นไปเพื่อสาธารณประโยชน์ 18 ตารางวา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองฝ่ายและพิพากษาคดีไปนั้นชอบหรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 104 ให้อำนาจแก่ศาลที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่จำเลยและโจทก์นำเข้าสู่กระบวนพิจารณาแล้วนั้นเป็นการเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีหรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาอันเป็นสาระสำคัญไปแล้วโดยสั่งให้ทำแผนที่วิวาทตามที่คู่ความนำชี้ เมื่อคู่ความแถลงรับว่าแผนที่วิวาทถูกต้องและแถลงรับข้อเท็จจริงต่อศาลชั้นต้น อันเป็นการเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2540 จึงเป็นการใช้อำนาจศาลตามกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นและเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
ปัญหาต่อไปมีว่า การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้แบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตามส่วนโดยกำหนด วิธีการแบ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364นั้น เป็นการพิพากษาเกินคำขอและนอกประเด็นหรือไม่เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามแผนที่สังเขปท้ายคำฟ้อง และให้จำเลยรื้อรั้วที่ก่อสร้างรุกล้ำที่ดินส่วนของโจทก์ จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลยยังมิได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์กันเป็นส่วนสัด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทอย่างบรรยายส่วนโดยมิได้แบ่งแยกการครอบครองกันเป็นส่วนสัด ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามส่วน โดยกำหนดวิธีการแบ่งตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 บัญญัติไว้ได้ไม่เป็นการพิพากษานอกประเด็น หรือพิพากษาเกินคำขอดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่งบัญญัติไว้ แต่โจทก์และจำเลยรับกันและข้อเท็จจริงฟังยุติแล้วว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันให้โจทก์ครอบครองที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมด้านทิศเหนือและจำเลยครอบครองด้านทิศใต้ ปรากฏตามแผนที่วิวาทลงวันที่ 9 ธันวาคม 2539 ซึ่งคู่ความรับว่าถูกต้องและจำเลยได้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาททางด้านทิศใต้แล้วหากจะให้เอาที่ดินพิพาทประมูลขายทอดตลาดแล้วเอาเงินแบ่งให้โจทก์จำเลยบางส่วนตามบทบัญญัติของกฎหมาย จำเลยอาจได้รับความเดือดร้อนจึงเห็นสมควรให้แบ่งแยกที่ดินพิพาทตามแนวแผนที่วิวาทดังกล่าว
อนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์ในฐานะเจ้าของรวมจำเลยให้การกล่าวแก้ว่าวิธีการแบ่งทรัพย์ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องนั้นไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง มิได้ขอบังคับให้ที่ดินส่วนใดเป็นของจำเลยเกินกว่าสิทธิของจำเลย จึงมิได้โต้แย้งกรรมสิทธิ์คดีนี้จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่กำหนดไว้ตลอดมาไม่ถูกต้อง สมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ได้ที่ดินพิพาทส่วนทางทิศเหนือจำเลยได้ส่วนทางทิศใต้ตามแนวแผนที่วิวาทลงวันที่9 ธันวาคม 2539 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้น 270 บาท แก่โจทก์คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีการวม 540 บาท แก่จำเลยค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share