แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวาร ให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่พิพาทตาม น.ส.3 เลขที่ 485 ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดต่อสู้คดีว่าเดิมที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 465 มีจำนวน 12 ไร่เป็นของ ป.มารดาผู้ร้องสอด แต่ ป. ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์เป็นเนื้อที่ 17 ไร่เศษ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2529ผู้ร้องสอดได้รับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวจาก ป. แล้วผู้ร้องสอดได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาและได้ซื้อเพิ่มเติม จากบุคคลภายนอกทางทิศตะวันออกของที่ดิน รวมแล้ว 23 ไร่เศษ ผู้ร้องสอดให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้อาศัยทำกิน ตามคำร้องสอดดังกล่าวเท่ากับว่าผู้ร้องสอดอ้างว่า ที่พิพาทเป็นของผู้ร้องสอดทั้งหมด ข้อต่อสู้ของผู้ร้องสอดจึงไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองที่พิพาทของโจทก์เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของ ผู้อื่นเท่านั้น ผู้ร้องสอดจึงไม่อาจอ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง ได้ คำร้องสอดของผู้ร้องสอดเป็นการเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)ซึ่งตามมาตรา 58 ผู้ร้องสอดมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ดังนี้ ย่อมถือว่าผู้ร้องสอดได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วย ทั้งคดีระหว่างโจทก์และผู้ร้องสอดเป็นคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมาตรา 142(1) บัญญัติว่า ให้พึงเข้าใจว่าเป็นประเภทเดียวกับฟ้องขอให้ขับไล่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทเป็น ของโจทก์ ศาลย่อมพิพากษาให้ขับไล่ผู้ร้องสอดได้ หาเกินคำขอไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์ และให้ส่งมอบที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย กับห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีก
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดกับจำเลยที่ 1อยู่กินฉันสามีภริยากันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2515 จำเลยที่ 2เป็นน้องเขยของผู้ร้องสอดและอาศัยอยู่กับผู้ร้องสอดเดิมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 465 มีเนื้อที่ตามเอกสารประมาณ 12 ไร่ นางแปลกเข้าครอบครองทำประโยชน์มีเนื้อที่ประมาณ 17 ไร่ มาประมาณ 30 ปี ส่วนผู้ร้องสอดครอบครองทำประโยชน์ตั้งแต่ พ.ศ. 2524โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาจนปัจจุบัน และซื้อที่ดินเพิ่มจากบุคคลภายนอกอีกรวมเป็นเนื้อที่ 27 ไร่เศษ ผู้ร้องสอดจดทะเบียนรับมรดกที่ดินดังกล่าวเมื่อ พ.ศ. 2529 หากที่ดินที่ผู้ร้องสอดครอบครองทำประโยชน์ทั้งหมดทับกับที่ดินบางส่วนของโจทก์ ผู้ร้องสอดก็ได้สิทธิครอบครองที่ดินทั้ง 27 ไร่เศษ ดังกล่าวแล้ว โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองซึ่งทำกินร่วมกับผู้ร้องสอดในที่ดินทั้ง 27 ไร่เศษเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องสอดซึ่งผู้ร้องสอดได้แย่งการครอบครองจากโจทก์แล้ว ผู้ร้องสอดจึงร้องสอดเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ขอให้พิพากษาว่าที่ดินเนื้อที่ 27 ไร่เศษตามแผนที่สังเขปท้ายคำร้องเป็นของผู้ร้องสอด ห้ามโจทก์และจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้อง
โจทก์ให้การแก้คำร้องสอดว่า ปัจจุบันที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่เหลือเพียง 83 ไร่เศษ เนื่องจากที่ดินทางด้านทิศตะวันตกและด้านทิศใต้ได้ตัดแบ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 465ที่ผู้ร้องสอดอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองนั้นเป็นที่ดินอยู่ทางด้านทิศเหนือที่ดินโจทก์ โดยมีลำบางสาธารณประโยชน์คั่นระหว่างที่ดินดังกล่าวกับที่ดินโจทก์ ผู้ร้องสอดหาได้ครอบครองที่ดินเนื้อที่ 27 ไร่ ไม่ ที่ดินที่ผู้ร้องสอดครอบครองไม่ได้อยู่ในที่ดินโจทก์ โจทก์ไม่เคยสละการครอบครองที่ดินของโจทก์จำเลยทั้งสองเช่าที่ดินจากโจทก์โดยผู้ร้องสอดไม่คัดค้านสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่ได้โต้แย้งสิทธิของผู้ร้องสอดขอให้ยกคำร้องสอด
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การแก้คำร้องสอด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ร้องสอดและจำเลยทั้งสองพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่พิพาทและส่งมอบที่พิพาทคืนโจทก์ห้ามจำเลยทั้งสองและผู้ร้องสอดเกี่ยวข้องกับที่พิพาทอีกต่อไปยกคำร้องสอด
ผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้ร้องสอดฎีกาโดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 485 ผู้ร้องสอดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 465ที่พิพาทมีเนื้อที่ 25 ไร่ 1 งาน 52 ตารางวา อยู่ภายในกรอบเส้นสีแดงตามแผนที่พิพาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องสอดว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือของผู้ร้องสอดปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า รูปคดีมีเหตุผลเชื่อได้ว่า ทั้งผู้ร้องสอดและจำเลยทั้งสองได้เข้าไปทำประโยชน์ในที่พิพาทอันเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโจทก์ตาม น.ส.3 เลขที่ 485 โดยอาศัยสิทธิการเช่าจากโจทก์ตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา
ที่ผู้ร้องสอดฎีกาว่า ผู้ร้องสอดได้ยกประเด็นเรื่องแย่งการครอบครองจนได้สิทธิและผู้ร้องสอดมีสิทธิในที่พิพาทยิ่งกว่าโจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองกับบริวารและให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่พิพาทซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดต่อสู้คดีว่า เดิมที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 465 มีจำนวน 12 ไร่เป็นของนางแปลกมารดาผู้ร้องสอดแต่นางแปลกได้เข้าครอบครองทำประโยชน์เป็นเนื้อที่ 17 ไร่เศษ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2529ผู้ร้องสอดได้รับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวจากนางแปลกแล้วผู้ร้องสอดได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาและได้ซื้อเพิ่มเติมจากบุคคลภายนอกทางทิศตะวันออกของที่ดิน รวมแล้ว 23 ไร่เศษจำเลยทั้งสองเป็นผู้อาศัยผู้ร้องสอดให้ทำกิน ดังนี้ตามคำร้องสอดดังกล่าวจึงเท่ากับว่าผู้ร้องอ้างว่า ที่พิพาทเป็นของผู้ร้องสอดทั้งหมด ข้อต่อสู้ของผู้ร้องสอดจึงไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองที่พิพาทของโจทก์เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้นผู้ร้องสอดจึงไม่อาจอ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 วรรคสองได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องสอดที่ว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองเท่านั้น เมื่อผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม โจทก์ให้การแก้คำร้องสอดโดยมิได้ฟ้องแย้งให้ขับไล่ผู้ร้องสอด ศาลล่างทั้งสองพิพากษาขับไล่ผู้ร้องสอดด้วยจึงเกินคำขอ เห็นว่า คำร้องสอดของผู้ร้องสอดเป็นการเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ซึ่งตามมาตรา 58 บัญญัติว่าผู้ร้องสอดตามอนุมาตรา (1) และ (3) แห่งมาตราก่อนนี้มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ดังนี้ ย่อมถือว่าผู้ร้องสอดได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วยทั้งคดีระหว่างโจทก์และผู้ร้องสอดเป็นคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(1) ที่บัญญัติว่า ให้พึงเข้าใจว่าเป็นประเภทเดียวกับฟ้องขอให้ขับไล่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ศาลย่อมพิพากษาให้ขับไล่ผู้ร้องสอดได้
พิพากษายืน