คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 562/2490

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวนั้น ถ้าศาลอุทธรณ์ยังมิได้รับสำนวนลงสารบบก็เป็น
เรื่องอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้น
การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเรื่องใดอย่างน้อยจะต้องมีคำฟ้องคำแก้ซึ่งศาลชั้นต้นส่งขึ้นมา
ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีหรือทำคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการบังคับคดี คือศาลที่พิจารณาคดีนั้นในชั้นต้น “ฯลฯ”
การที่กฎหมายบัญญัติ มาตรา 240 และ 302 ไว้ก็เพื่อจะมิให้มีการก้าวก่ายสับสนหน้าที่กัน

ย่อยาว

คดีนี้ศาลแพ่งสั่งยึดทรัพย์จำเลยไว้ก่อนคำพิพากษา เมื่อศาลแพ่งพิพากษายกฟ้องโจทก์แล้ว จึงสั่งถอนการยึดทรัพย์
โจทก์อุทธรณ์และยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งให้ยึดทรัพย์จำเลยต่อไป ศาลแพ่งสั่งยกคำร้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์สั่งให้ยึดทรัพย์
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาให้ยกคกร้องศาลอุทธรณ์
โจทก์จึงยื่นคำร้องตรงต่อศาลอุทธรณ์ ขอให้สั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยยึดทรัพย์จำเลย และยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์สั่งในกรณีฉุกเฉิน
ศาลอุทธรณ์ฟังคำแถลงของโจทก์ประกอบคำร้องแล้ว สั่งให้ยึดทรัพย์จำเลยต่อไป
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาตัดสินว่า คำขอให้ยึดทรัพย์ก่อนคำพิพากษาเช่นนี้เมื่อพิจารณาตาม วิ.แพ่ง.ม. ๒๕๔ แล้วจะเห็นว่าให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งอนุญาตหรือยกตลอดเวลาที่ยังมิได้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ ส่วนข้อความที่ว่าไปจนถึงเวลาที่ศาลได้รับอุทธรณ์หรือฎีกานั้น คำว่าศาลในที่นี้ จะต้องแปลว่าศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาได้รับสำนวน มิได้หมายความว่าเมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์หรือฎีกา แล้วก็หมดอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะสั่งคำร้องนั้น เพราะมิฉะนั้นศาลชั้นต้นจะไม่มีโอกาสสั่งคำร้องตามมาตรานี้เลย เพราะก่อนที่จะสั่งอนุญาตให้ยึดทรัพย์ก่อนคำพิพากษา จะต้องมีคำฟ้องและศาลสั่งรับอุทธรณ์ที่เป็นมูลกรณีเสียก่อน ฉะนั้นการที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องโดยที่สำนวนยังมิได้สู้ศาลอุทธรณ์ และลงสารบบแล้วนั้น จึงเป็นการฝ่าฝืนกระบวนวิธีพิจารณา
อนึ่งตาม ม. ๒๔๐ ก็บัญญัติว่า การที่ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยคดี อย่างน้อยจะต้องมีคำร้องคำแก้ ฯลฯ ซึ่งศาลชั้นต้นส่งขึ้นมาและ ม. ๓๐๒ ก็บัญญัติว่า ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีหรือทำคำชี้ขาดเกี่ยวกับการบังคับคดี คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น การที่บัญญัติไว้เช่นนี้ก็เพื่อมิให้ก้าวก่ายสับสนหน้าที่กัน จึงพิพากษายกคำสั่งศาลอุทธรณ์

Share