คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 630/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีหลักเกณฑ์ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ (ฉบับที่ 2)ฯ โดยสรุปคือเครื่องหมายการค้านั้นต้องมีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 และไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าตามมาตรา 13 พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ ไม่ได้ให้คำนิยามคำว่า “ลักษณะบ่งเฉพาะ” ไว้โดยแจ้งชัดแต่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 7 วรรคแรกว่า “เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะได้แก่ เครื่องหมายการค้าอันมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น” และในมาตรา 7 วรรคสอง ได้บัญญัติว่า “เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นสาระสำคัญต่อไปนี้ ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ…(6) ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้น” เมื่อพิเคราะห์เครื่องหมายการค้า “รูปขวด” ของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนที่มีลักษณะบ่งเฉพาะพิเศษโดยมีส่วนเว้า ส่วนนูน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีลวดลายเป็นจุดที่เว้าลึกรอบขวดในระยะที่ห่างเท่ากันแล้ว เห็นว่า รูปขวดของโจทก์มีลักษณะไม่เหมือนรูปขวดทั่วไป แต่เป็นภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 7 วรรคสอง (6) ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองที่ทำให้ประชาชนผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น เครื่องหมายการค้ารูปขวดของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2543 โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (รูปขวด) ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญาในสินค้าจำพวก 32 สำหรับสินค้าจำพวกเครื่องดื่ม ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 434307 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาคำขอแล้วมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2544 โดยอ้างว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 กล่าวคือ ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 เพราะเครื่องหมายการค้ารูปขวด เมื่อนำไปใช้กับสินค้าตามที่ขอแล้วเป็นรูปภาชนะบรรจุสินค้า ไม่ใช่เครื่องหมายการค้าตามมาตรา 4 เป็นสิ่งสามัญทั่วไปและไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปขวดของโจทก์ คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเครื่องหมายรูปขวดของโจทก์เป็นขวดที่มีส่วนเว้าส่วนนูน และมีลวดลายจุดๆ ที่เว้าลึกรอบขวดในระยะที่ห่างเท่ากันมีลักษณะบ่งเฉพาะไม่เหมือนของใคร จึงมีลักษณะเป็น “เครื่องหมาย” ตามคำนิยามใหม่ในบทบัญญัติมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 ซึ่งให้คำนิยามคำว่าเครื่องหมายหมายความรวมถึง “…รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ…” และเป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เนื่องจากมีลวดลายจุดๆ ที่เว้าลึกรอบขวดในลักษณะที่ห่างเท่าๆ กัน และโจทก์ยังใช้ขวดเป็นเครื่องหมายในการบ่งบอกถึงสินค้าของโจทก์ เป็นสิ่งที่ใช้หมายเกี่ยวกับตัวสินค้า ไม่ได้เป็นตัวสินค้าจึงสามารถเป็นเครื่องหมายการค้าได้ โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปขวดกับสินค้าเครื่องดื่มรสชาติเลมอน โดยนำออกจำหน่ายมาหลายสิบปี จนสาธารณชนทั่วไปสามารถจำแนกได้ทันทีเมื่อเห็นรูปขวดที่เป็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์
จำเลยให้การว่า การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปขวดของโจทก์ และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นชอบด้วยกฎหมายและข้อเท็จจริงแล้ว เนื่องจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ยื่นขอจดทะเบียนเป็นรูปขวด เมื่อนำมาใช้กับสินค้าตามที่ขอเป็นรูปภาชนะบรรจุสินค้า ไม่ใช่เครื่องหมายการค้าเป็นสิ่งสามัญทั่วไป ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ และการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ชอบด้วยมาตรา 9 เนื่องจากไม่ระบุรายการสินค้าและบริการที่ประสงค์จะได้รับความคุ้มครองแต่ละอย่างไว้อย่างชัดแจ้ง เมื่อโจทก์อุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียนและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้มีคำวินิจฉัยโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ คำวินิจฉัยของคณะกรรมเครื่องหมายการค้าการค้าจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคแรก โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจขอให้ศาลพิพากษาและบังคับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ เพราะการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องเป็นไปตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังได้ว่า โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปขวดเป็นภาพขาวดำมีจุดขาวรอบขวดตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 434307 ใช้กับสินค้าจำพวก 32 รายการสินค้า น้ำแร่ เครื่องดื่มชนิดอัดลม เครื่องดื่มชนิดไม่อัดลม และเครื่องดื่มชนิดต่างๆ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยให้เหตุผลว่ารูปขวดที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนมีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายกาค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 หรือไม่ เห็นว่า การรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีหลักเกณฑ์ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 โดยสรุปคือ เครื่องหมายการค้านั้นต้องมีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 และไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าตามมาตรา 13 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ไม่ได้ให้คำนิยามคำว่า “ลักษณะบ่งเฉพาะ” ไว้โดยแจ้งชัด แต่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 7 วรรคแรกว่า “เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะได้แก่ เครื่องหมายการค้าอันมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น” และในมาตรา 7 วรรคสอง ได้บัญญัติว่า “เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นสาระสำคัญต่อไปนี้ ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ
(6) ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้น”
เมื่อพิเคราะห์เครื่องหมายการค้า “รูปขวด” ของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนที่มีลักษณะพิเศษโดยมีส่วนเว้า ส่วนนูน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีลวดลายเป็นจุดที่เว้าลึกรอบขวดในระยะที่ห่างเท่ากันแล้ว เห็นว่า รูปขวดของโจทก์มีลักษณะไม่เหมือนรูปขวดทั่วไป แต่เป็นภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (6) ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองที่ทำให้ประชาชนผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น เครื่องหมายการค้ารูปขวดของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7
ส่วนที่จำเลยอ้างว่า รูปขวดเป็นรูปภาชนะบรรจุสินค้าเมื่อนำไปใช้กับสินค้าตามที่ขอจดทะเบียนเป็นสิ่งสามัญทั่วไป ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะนั้น เห็นว่า โจทก์ขอจดทะเบียน “รูปขวด” ซึ่งเป็นภาพประดิษฐ์ดังที่ได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า มีลักษณะพิเศษ มีส่วนเว้า ส่วนนูนและมีลวดลายจุดที่เว้าลึกรอบขวด ซึ่งข้อนี้พยานจำเลยปากนางเพียรพันธ์นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เป็นผู้ตรวจคำขอจดทะเบียนของโจทก์คดีนี้เบิกความ ตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับว่า ภาพถ่ายที่เป็นขวด 3 ขวด รูปขวดที่อยู่ตรงกลาง (ขวดของโจทก์) เป็นขวดที่มีลักษณะไม่เหมือนขวดอื่นเพราะมีจุดเว้าอยู่รอบขวด ซึ่งย่อมแสดงให้เห็นว่าพยานจำเลยเองเพียงมองจากภาพถ่ายรูปขวดของโจทก์ ก็สามารถบอกลักษณะความแตกต่างได้ว่า รูปขวดของโจทก์มีลักษณะแตกต่างจากรูปขวดทั่วไป ประกอบกับสินค้าที่โจทก์จำหน่ายคือเครื่องดื่มซึ่งอาจบรรจุอยู่ภายในภาชนะที่เป็นขวด เป็นกระป๋องหรือเป็นกล่อง โจทก์มิได้จำหน่ายสินค้าที่เป็นภาชนะบรรจุที่เป็นรูปขวด ดังนั้น ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่ารูปขวดเป็นเพียงภาชนะบรรจุสินค้าจึงเป็นสิ่งสามัญไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะจึงฟังไม่ขึ้น
เมื่อฟังว่า เครื่องหมายการค้ารูปขวดตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์เป็นภาพประดิษฐ์และเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เครื่องหมายการค้ารูปขวดของโจทก์ได้ลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคท้าย หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับเป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 434307 ของโจทก์ต่อไป

Share