คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5611/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในคดีอาญาเรื่องก่อนที่โจทก์กับจำเลยร่วมและ น. พนักงานของโจทก์ได้ตกลงประนีประนอมยอมความกัน เป็นมูลคดีที่โจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยร่วมและ น. ในข้อหาฉ้อโกง เนื่องจากจำเลยร่วมและ น. ร่วมกันหลอกลวงเอาเช็คไปจากโจทก์ และนำเข้าบัญชีของจำเลยร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินที่ธนาคารจำเลย ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานละเมิด เนื่องจากพนักงานของจำเลยกระทำการด้วยความประมาทเลินเล่อ เรียกเก็บเงินตามเช็คซึ่งระบุชื่อผู้ทรงและมีข้อความขีดคร่อมห้ามเปลี่ยนมือเข้าบัญชีของจำเลยร่วมโดยไม่ตรวจสอบว่าเป็นเช็คที่ออกให้แก่บุคคลอื่น เป็นเหตุให้ธนาคารตามเช็คหักเงินจากบัญชีของโจทก์โอนเข้าบัญชีของจำเลยร่วมไป แม้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมและน. ในคดีอาญาเป็นเรื่องระงับข้อพิพาทในทางอาญาในความผิดฐานฉ้อโกงอันเป็นความผิดที่ยอมความกันได้ เป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยร่วมกับ น. กรณีทั้งสองเป็นคนละเรื่องกัน ความรับผิดในมูลละเมิดของจำเลยในคดีนี้จึงยังไม่ระงับสิ้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม 2536พนักงานโจทก์ได้ทำการทุจริตออกใบสำคัญซื้อตั๋วเครื่องบินเท็จเพื่อให้โจทก์ชำระหนี้ค่าตั๋วเครื่องบิน โจทก์หลงเชื่อจึงออกเช็คธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด สำนักงานใหญ่ จำนวน 5 ฉบับ สั่งจ่ายแก่บริษัทตัวแทนจำหน่ายตั๋วเครื่องบินเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว โดยเช็คทั้งหมดเป็นเช็คขีดคร่อมระบุชื่อผู้ทรงเช็คไว้ด้านหน้าและมีคำสั่งว่า “A/C PAYEE ONLY” ซึ่งหมายความว่าห้ามเปลี่ยนมือ มอบให้พนักงานโจทก์ ต่อมาพนักงานโจทก์มอบเช็คทั้งหมดให้นางพรพิกุล พิชยพาณิชย์ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีของตนเองโดยให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเรียกเก็บเงินตามเช็ค และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาได้กระทำการโดยทุจริตและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ตรวจสอบว่าเช็คทั้งหมดเป็นเช็คขีดคร่อมและมีคำสั่งห้ามเปลี่ยนมือต้องนำเข้าบัญชีผู้มีชื่อในเช็คเท่านั้น เป็นเหตุให้ธนาคารตามเช็คหักเงินจากบัญชีของโจทก์จ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินให้นางพรพิกุลไป ทำให้โจทก์เสียหายถูกธนาคารตามเช็คคิดดอกเบี้ยตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงินตามเช็คแต่ละฉบับนับแต่วันที่ธนาคารตามเช็คจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงวันฟ้องเป็นเงินรวม 71,054 บาท โจทก์ทราบเหตุเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2536 และทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 71,054 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า มูลหนี้ตามฟ้องระงับไปแล้ว เพราะมีการแปลงหนี้ใหม่ โดยนางภรณ์วลี ภู่พันธ์ ตกลงประนีประนอมยอมความกับโจทก์ยอมชำระเงินตามเช็คทั้งหมดแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางพรพิกุลหรือลภนพร พิชยพาณิชย์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

จำเลยร่วมให้การว่า โจทก์ได้ตกลงประนีประนอมยอมความกับจำเลยร่วมว่าจะไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยร่วมและจำเลยร่วมชำระเงินให้โจทก์ตามที่ตกลงกันแล้ว มูลหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลยร่วมจึงระงับสิ้นไปขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 10,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วม คำขออื่นให้ยก

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม 2537 นายนรินทร์ พิชยพาณิชย์ หัวหน้าแผนกขายตั๋วเครื่องบินของโจทก์ได้ทำใบสำคัญซื้อตั๋วเครื่องบินเท็จเพื่อให้ฝ่ายบัญชีของโจทก์ออกเช็คชำระหนี้ค่าตั๋วเครื่องบินให้แก่ตัวแทนจำหน่ายตั๋วโจทก์หลงเชื่อจึงได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด สำนักงานใหญ่จำนวน 5 ฉบับ โดยระบุชื่อบริษัทตัวแทนจำหน่ายตั๋วเครื่องบินเป็นผู้รับเงินและขีดคร่อมด้านหน้าเช็ค ระบุว่า “A/C PAYEE ONLY” ซึ่งมีความหมายว่าห้ามเปลี่ยนมือ นายนรินทร์ได้มอบเช็คดังกล่าวให้แก่นางพรพิกุลหรือลภนพรพิชยพาณิชย์ จำเลยร่วม ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยร่วมที่ธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาสุขุมวิท 35 โดยให้ธนาคารจำเลยที่ 1 เรียกเก็บเงินให้ธนาคารตามเช็คได้หักเงินจากบัญชีกระแสรายวันของโจทก์จ่ายเข้าบัญชีของจำเลยร่วมตามที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บ และคิดดอกเบี้ยจากโจทก์ในฐานะลูกหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี จำเลยร่วมได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว ต่อมาโจทก์ได้ดำเนินคดีแก่นายนรินทร์และจำเลยร่วมข้อหาฉ้อโกง ระหว่างการพิจารณาของศาลนายนรินทร์และจำเลยร่วมตกลงประนีประนอมยอมความชดใช้เงินทั้งหมดแก่โจทก์ โจทก์จึงได้ถอนคำร้องทุกข์เป็นผลให้คดีระงับไป

คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ว่า เมื่อโจทก์กับจำเลยร่วมและนายนรินทร์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้วจะทำให้มูลหนี้ละเมิดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับสิ้นไปหรือไม่ เห็นว่า ในคดีอาญาที่โจทก์กับจำเลยร่วมและนายนรินทร์ได้ตกลงประนีประนอมยอมความกันนั้นเป็นมูลคดีที่โจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยร่วมและนายนรินทร์ในข้อหาฉ้อโกงเนื่องจากจำเลยร่วมและนายนรินทร์ร่วมกันหลอกลวงเอาเช็คไปจากโจทก์และนำเข้าบัญชีของจำเลยร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินที่ธนาคารจำเลยที่ 1ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ฐานละเมิด เนื่องจากพนักงานของจำเลยที่ 1 กระทำการด้วยความประมาทเลินเล่อ เรียกเก็บเงินตามเช็คซึ่งระบุชื่อผู้ทรงและมีข้อความขีดคร่อมห้ามเปลี่ยนมือ เข้าบัญชีของจำเลยร่วม โดยไม่ตรวจสอบว่าเป็นเช็คที่ออกให้แก่บุคคลอื่น เป็นเหตุให้ธนาคารตามเช็คหักเงินจากบัญชีของโจทก์ โอนเข้าบัญชีของจำเลยร่วมไปสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมและนายนรินทร์เป็นเรื่องระงับข้อพิพาทในทางอาญาในความผิดฐานฉ้อโกงอันเป็นความผิดที่ยอมความกันได้ เป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยร่วมกับนายนรินทร์ หาได้มีผลถึงมูลละเมิดที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในคดีนี้ กรณีทั้งสองเป็นคนละเรื่องกันความรับผิดในมูลละเมิดของจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ระงับสิ้นไป”

พิพากษายืน

Share