แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งคดีอาญาโจทก์เป็นผู้เสียหาย และจำเลยเป็นจำเลย ในการพิจารณาคดีแพ่งจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่ว่า จำเลยขับรถโดยประมาททำให้โจทก์ได้รับอันตรายจำเลยจะโต้เถียงว่าไม่ได้ประมาทเลินเล่ออีกไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ขับโจทก์ที่ 2 นั่งมาด้วย ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บและรถเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 42,225 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ที่ 1 ขับรถฝ่าสัญญาณจราจรไฟสีแดงตัดหน้ารถที่จำเลยที่ 1 ขับในระยะกระชั้นชิด เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องสูงกว่าความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 5,325 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในส่วนโจทก์ที่ 2 ว่า ในการพิจารณาคดีนี้ซึ่งเป็นคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แต่คำพิพากษาส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยที่ 1จะต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดหรือไม่ เห็นว่าคดีในส่วนโจทก์ที่ 2กับจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ที่ 2 เป็นผู้เสียหายและจำเลยที่ 1เป็นจำเลยในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9252/2531 ของศาลแขวงธนบุรีในการพิจารณาคดีนี้จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่ฟังว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ประมาททำให้โจทก์ที่ 2ได้รับบาดเจ็บจริงดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา และในสำนวนคดีอาญาดังกล่าวศาลมิได้วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 ขับรถยนต์ประมาท เป็นแต่วินิจฉัยข้อเท็จจริง เพื่อใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษจำเลยที่ 1เท่านั้น ฉะนั้นจำเลยทั้งสองจะโต้เถียงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ โจทก์ที่ 1 ประมาทเลินเล่อฝ่ายเดียวไม่ได้ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน