คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 772/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องโจทก์มุ่งประสงค์ให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่ขายที่ดินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้ราคาสูงสุดและเป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาประมูลครั้งก่อนซึ่งโจทก์เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง เป็นสาระสำคัญ กับมีคำขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นคำขอต่อเนื่อง ฟ้องของโจทก์จึงเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวในคดีของศาลแพ่งซึ่งออกหมายบังคับคดีส่งไปให้ศาลจังหวัดเพชรบุรีบังคับคดีแทน และจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้อง กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 15 วรรคท้าย และมาตรา 302 วรรคหนึ่งและวรรคท้าย เช่นกัน โจทก์จะต้องเสนอคำฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี คือศาลแพ่งหรืออาจยื่นต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีซึ่งเป็นศาลที่ออกหมายบังคับคดีและบังคับคดีแทนเท่านั้น โจทก์จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลแพ่งธนบุรีที่จำเลยทั้งสามมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลตามมาตรา 4 (1) หาได้ไม่เพราะบทบัญญัติมาตรา 4 อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 7

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีประจำสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเพชรบุรี อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2546 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ดำเนินการบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 45418 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นครั้งที่ 13 โดยติดจำนองไปด้วย ตามหมายบังคับคดีของศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ 459/2543 ระหว่างนางสุรีย์ โสภณโภไคย โจทก์ นางนิ่มนวล พินทุโยธิน จำเลย ซึ่งส่งไปให้ศาลจังหวัดเพชรบุรีบังคับคดีแทนโจทก์ได้เข้าประมูลและเป็นผู้ให้ราคาสูงสุด และไม่น้อยกว่าราคาสูงสุดของการประมูลในครั้งก่อน อีกทั้งไม่มีผู้คัดค้าน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคาะไม้ขายทรัพย์ให้แก่โจทก์ โดยอ้างในคำสั่งว่าราคาที่โจทก์เสนอยังไม่เป็นราคาที่สมควรขาย อันเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพราะฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และให้โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวได้ กับให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ศาลชั้นต้น (ศาลแพ่งธนบุรี) ตรวจคำฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ตามคำฟ้องและคำขอบังคับคดีของโจทก์มุ่งประสงค์ให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ไม่ขายที่ดินตามฟ้องให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้ราคาสูงสุดและเป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาประมูลครั้งก่อน ซึ่งโจทก์เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง เป็นสาระสำคัญ กับมีคำขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นคำขอต่อเนื่องฟ้องของโจทก์จึงเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีในคดีหมายเลขแดงที่ 459/2543 ของศาลแพ่ง ซึ่งออกหมายบังคับคดีส่งไปให้ศาลจังหวัดเพชรบุรีบังคับคดีแทน และจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้อง กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 15 วรรคท้าย และมาตรา 302 วรรคหนึ่งและวรรคท้าย เช่นกัน โดยโจทก์จะต้องเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี ในกรณีนี้ก็คือศาลแพ่งหรืออาจยื่นต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีซึ่งเป็นศาลที่ออกหมายบังคับคดีและบังคับคดีแทนเท่านั้น โจทก์จะนำคดีมาฟ้องที่ศาลชั้นต้นในคดีนี้ (ศาลแพ่งธนบุรี) โดยอ้างเหตุจำเลยทั้งสามมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) หาได้ไม่เพราะบทบัญญัติแห่งมาตรา 4 ดังกล่าวอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 7 ศาลชั้นต้นในคดีนี้จึงไม่มีอำนาจรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องและวินิจฉัยว่ากรณียังรับฟังมิได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 โต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 และพิพากษายกฟ้องมานั้น จึงไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข โดยไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป”
พิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งรับฟ้องของศาลชั้นต้น ไม่รับคำฟ้องโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลทั้งสองศาลแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากนี้ทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share