แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนไว้ว่าเมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/46 แล้วให้ศาลพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นบทบาทในทางเศรษฐกิจที่จะคุ้มครองเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยและให้แผนฟื้นฟูกิจการก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ตลอดจนประเทศชาติโดยรวม ศาลจึงมีอำนาจในการที่จะตรวจสอบถึงเนื้อหาของแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/58 ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า (1)…(3)…” ก็หมายความเพียงว่าเมื่อแผนมีลักษณะครบถ้วนตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว ถือว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ให้ศาลมีดุลพินิจที่จะเห็นชอบด้วยแผนได้ แต่ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนนั้น ศาลมีอำนาจนำข้อเท็จจริงหรือหลักกฎหมายอื่นนอกเหนือจากมาตรา 90/58 มาประกอบพิจารณาได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ถ้าแผนฟื้นฟูกิจการมีลักษณะครบถ้วนตามมาตรา 90/58 แล้ว ศาลจะต้องมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนทุกกรณีไป
การพิจารณาว่าแผนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แผนนั้นจะต้องมีรายละเอียดตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/42 บัญญัติว่า “ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย… (2) รายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สินและภาระผูกพันต่างๆ ของลูกหนี้ในขณะที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ…” คำว่า สินทรัพย์ หมายถึง ทรัพยากรที่อยู่ในความควบคุมของกิจการและประโยชน์ที่ได้รับในเชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรนั้นในอนาคต สินทรัพย์จึงรวมทั้งทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้อง กรณีนี้ลูกหนี้มีหนี้เงินให้กู้ยืมซึ่งมีสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าว แต่ในแผนไม่ปรากฏว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินดังกล่าว ผู้ทำแผนได้กำหนดวิธีการจัดการไว้อย่างไรที่จะให้เจ้าหนี้ได้ประโยชน์สูงสุด รวมทั้งหนี้ให้กู้ยืมเงินจำนวนมากที่กรรมการของลูกหนี้มีส่วนประมาทก่อให้เกิดความเสียหาย ลูกหนี้อาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการได้ซึ่งในการเรียกร้องนั้นเจ้าหนี้ของลูกหนี้จะเป็นผู้เรียกบังคับได้เท่าที่เจ้าหนี้ยังมีสิทธิเรียกร้องแก่ลูกหนี้อยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 หากลูกหนี้ล้มละลายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถใช้วิธีการทวงหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 118 หรือมาตรา 119 เรียกร้องหนี้ดังกล่าวได้ หรือหากเป็นหนี้เด็ดขาดตามคำพิพากษาก็มีระยะเวลาการบังคับคดี 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ดังนั้น ถือได้ว่าแผนกล่าวถึงรายละเอียดแห่งสินทรัพย์ไม่ครบถ้วน ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/42 (2)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และตั้งบริษัทเอ็ม ไทย คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอริ่ง จำกัด และนายผิน คิ้วไพศาล เป็นผู้ทำแผนเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2545
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2546 ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่มีการแก้ไขแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/46 (2) มาตรา 90/48 และมาตรา 6 ขอให้ศาลนัดพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ส่งแจ้งความกำหนดวันนัดพิจารณาให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบแล้ว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้มีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำชี้แจงว่า คดีนี้ครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วมีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ 10 ราย เป็นเงิน 2,468,977,602.28 บาท เมื่อครบกำหนดโต้แย้งปรากฏว่าไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ดังกล่าว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้เจ้าหนี้ทั้งสิบรายได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนไปแล้ว ที่ผู้คัดค้านได้คัดค้านถึงความไม่มีอยู่จริงของมูลหนี้ จึงล่วงเลยขั้นตอนที่จะให้ศาลพิจารณาในชั้นนี้ ส่วนที่อ้างว่าลูกหนี้ใช้สิทธิในการขอให้ฟื้นฟูกิจการโดยไม่สุจริตก็ชอบที่จะคัดค้านเสียตั้งแต่ในชั้นไต่สวนคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ การคัดค้านในชั้นนี้ก็ไม่ชอบเช่นกัน…
ผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจงว่า ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าแผนไม่ชอบด้วยมาตรา 90/58 (1) เนื่องจากมีรายการไม่ครบถ้วนตามมาตรา 90/42 นั้น แผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42 แล้ว คงขาดเพียงรายละเอียดการไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญาในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญามีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ เนื่องจากลูกหนี้ไม่มีภาระที่จะต้องรับผิดในทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญาดังกล่าว อีกทั้งรายการดังกล่าวไม่ใช่สาระสำคัญในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่แก้ไขตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์
ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์
ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านไว้พิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 26 (เดิม)
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านประการแรกว่า ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผน ศาลมีอำนาจนำข้อเท็จจริงหรือหลักกฎหมายอื่นนอกเหนือจากพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58 (1) ถึง (3) มาประกอบการพิจารณาได้หรือไม่ เห็นว่า การที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนไว้ว่า เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนตามมาตรา 90/46 แล้ว ให้ศาลพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนอีกชั้นหนึ่ง เป็นการกำหนดให้ศาลเข้ามาใช้ดุลพินิจอันเป็นบทบาทในทางเศรษฐกิจที่จะคุ้มครองเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยและให้แผนฟื้นฟูกิจการก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ตลอดจนประเทศชาติโดยรวม ศาลจึงมีอำนาจในการที่จะตรวจสอบถึงเนื้อหาของแผน ตลอดจนความสุจริตในการจัดทำแผนได้ด้วย ที่มาตรา 90/58 บัญญัติว่า “ให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า (1)… (3)…” ก็หมายความเพียงว่า เมื่อแผนมีลักษณะครบถ้วนตามมาตรา 90/58 (1) ถึง (3) แล้วถือว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ให้ศาลมีดุลพินิจที่จะเห็นชอบด้วยแผนได้ หาได้หมายความว่าถ้าแผนฟื้นฟูกิจการมีลักษณะตามมาตรา 90/58 (1) ถึง (3) แล้ว ศาลจะต้องมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนทุกกรณีไป
ปัญหาวินิจฉัยประการที่สองมีว่า แผนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า แผนไม่มีรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องและการจัดการเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่กับลูกหนี้เงินกู้ยืม 3 ราย รวมเป็นเงิน 925,500,000 บาท จึงมีปัญหาว่าแผนมีรายการครบถ้วนหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 บัญญัติว่า “ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย…(2) รายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สินและภาระผูกพันต่างๆ ของลูกหนี้ในขณะที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ…” คำว่า “สินทรัพย์” หมายถึง ทรัพยากรที่อยู่ในความควบคุมของกิจการและกิจการจะต้องได้รับประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรนั้นในอนาคต สินทรัพย์จึงรวมทั้งทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้อง กรณีลูกหนี้เงินให้กู้ยืม ในงบดุลของลูกหนี้ ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2545 หมายเหตุประกอบงบการเงินระหว่างกาลระบุว่า ลูกหนี้มีลูกหนี้เงินให้กู้ยืมทั้งสามรายจริงตามที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ ลูกหนี้จึงมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ทั้งสามรายดังกล่าวชำระหนี้แก่ลูกหนี้และจะต้องนำสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ แต่ในแผนไม่ปรากฏว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ยืมซึ่งมีจำนวนถึง 925,500,000 บาท ผู้ทำแผนได้กำหนดวิธีการจัดการไว้อย่างไรที่จะให้เจ้าหนี้ได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งในงบกำไรขาดทุนของลูกหนี้สำหรับงวดวันที่ 1 มกราคม ถึง 16 สิงหาคม 2545 ได้นำหนี้เงินกู้ยืมจำนวนดังกล่าวไปอยู่ในรายการหนี้สงสัยจะสูญ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้ดำเนินการสืบถึงที่ไปที่มาของเงินจำนวนดังกล่าวว่าลูกหนี้ทั้งสามรายนั้นได้นำเงินที่กู้ยืมไปใช้ประโยชน์อย่างไรหรือไม่ มีการได้ทรัพย์สินสิ่งใดจากการใช้เงินดังกล่าวไปบ้าง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่การดำเนินการบังคับคดีต่อไป นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏว่าหนี้เงินให้กู้ยืมดังกล่าวขาดอายุความ หรือลูกหนี้ได้ใช้สิทธิฟ้องร้องลูกหนี้ทั้งสามรายแต่อย่างใด อีกทั้งหากการให้กู้ยืมเงินจำนวนมากดังกล่าวกรรมการของลูกหนี้มีส่วนประมาทก่อให้เกิดความเสียหาย ลูกหนี้อาจฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ ในการเรียกร้องเช่นนี้ เจ้าหนี้ของลูกหนี้จะเป็นผู้เรียกร้องบังคับได้เท่าที่เจ้าหนี้ยังมีสิทธิเรียกร้องแก่ลูกหนี้อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 หากลูกหนี้ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถใช้วิธีการทวงหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 118 หรือมาตรา 119 เรียกร้องหนี้ดังกล่าวได้หรือหากเป็นหนี้เด็ดขาดตามคำพิพากษาก็มีระยะเวลาการบังคับคดี 10 ปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ดังนี้ถือได้ว่า แผนกล่าวถึงรายละเอียดแห่งสินทรัพย์ไม่ครบถ้วน ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 (2)
ปัญหาวินิจฉัยประการที่สามมีว่า แผนได้จัดทำและเสนอโดยสุจริตหรือไม่…ในชั้นไต่สวนคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ ผู้ร้องขอที่ 2 ตอบทนายผู้คัดค้านถามค้านว่าลูกหนี้มิได้ประกอบกิจการใดในช่วงปี 2537-2544 ช่วงดังกล่าวลูกหนี้ดำเนินธุรกิจโดยการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินแล้วนำมาปล่อยกู้นำเงินไปซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพราะเห็นว่ามีกำไรดี มิได้ยื่นเสียภาษีแก่รัฐ มิได้ยื่นงบการเงินตามกฎหมาย ดังนี้จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่าการบริหารงานของลูกหนี้ที่ผ่านมาได้กระทำโดยโปร่งใสหรือไม่ นอกจากนี้แผนบทที่ 12 หน้า 24 ยังระบุด้วยว่า… “ผู้ทำแผนไม่ได้ทำการตรวจสอบบัญชีของบริษัท (ลูกหนี้) ณ วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2545 หรือทำการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินกิจการของบริษัทที่บริษัทได้จัดเตรียมให้แก่ผู้ทำแผน ผู้ทำแผนไม่ได้ตรวจสอบเพื่อยืนยันความถูกต้องของรายงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และผู้ทำแผนไม่ได้ทำการตรวจสอบความถูกต้องมูลค่าทรัพย์สินของบริษัท… ผู้ทำแผน คณะกรรมการหรือพนักงานของผู้ทำแผนจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อความสำเร็จหรือไม่สำเร็จของผลการดำเนินงานตามแผนที่ได้คาดการณ์ไว้ในแผนนี้ และไม่รับผิดชอบหรือรับผิดใดๆ ต่อบุคคลอื่นใด”… ข้อความดังกล่าวเห็นได้ว่าผู้ทำแผนจะยอมรับแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตน ขาดความรับผิดชอบที่ควรต้องมีสำหรับงานที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งๆ ที่ผู้ทำแผนคนหนึ่งคือผู้ร้องขอที่ 2 เป็นกรรมการของลูกหนี้ด้วยพฤติการณ์ของลูกหนี้ส่อไปในทางที่เห็นว่ามีการจัดทำแผนโดยไม่สุจริต แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านประเด็นอื่นอีกเนื่องจากไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า มีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ฉบับที่แก้ไขตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ และมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58 วรรคสาม