คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 561/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 181(1) นี้ หมายถึงว่า อัตราโทษชั้นต่ำของความผิดนั้น จะต้องมีระวางโทษจำคุก 3 ปี เป็นอย่างน้อยที่สุด
การเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญาไม่ใช่เรื่องแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความ แต่เป็นเรื่องเบิกความซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจจดข้อความตอนใดหรือไม่จดก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ การจดจึงเป็นเรื่องของศาล ไม่ใช่เรื่องของพยานที่จะแจ้งให้ศาลจดข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267
จำเลยไม่ใช่นายช่วง แต่มาอ้างต่อศาลว่าเป็นนายช่วง และข้อเท็จจริงที่จำเลยเบิกความว่าได้รู้เห็นเหตุการณ์ จำเลยก็มิได้รู้เห็นจริง กับจำเลยได้ลงนามปลอมว่า นายช่วง ในคำเบิกความที่ศาลจดไว้อีกด้วย ความผิดฐานเบิกความเท็จสำเร็จได้โดยไม่ต้องอาศัยการลงนามปลอม การลงนามปลอมของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 อีกด้วย แต่จำเลยหามีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 อีกมาตราหนึ่งไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งไม่ใช่นายช่วง เวชเตง ได้สาบานตัวต่อศาลอ้างว่าเป็นนายช่วง เวชเตง แล้วให้การเป็นพยานแก่นายอัมมรจำเลยในการพิจารณาคดีอาญาฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร โดยจำเลยบังอาจเอาความที่รู้ว่าเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดีมาเบิกความต่อศาล และจำเลยแจ้งให้นายพยนต์ ยาวะประภาษ ผู้พิพากษาซึ่งเป็นเจ้าพนักงนาผู้พิจารณาคดีจดคำเบิกความเท็จในเอกสารราชการ เมื่อเบิกความเท็จดังกล่าว และผู้พิพากษาได้จดข้อความตามจำเลยเบิกความลงในกระดาษคำให้การพยานแล้วจำเลยได้ลงลายมือชื่อปลอม นายช่วง เวชเตง ลงในกระดาษคำให้การพยานซึ่งเป็นเอกสารราชการด้วย การกระทำของจำเลยน่าจะเกิดความเสียหายแก่นายพยนต์ ยาวะประภาษ นายช่วง เวชเตง และประชาชนได้ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗, ๑๘๑, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๗
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗, ๑๘๑(๑), ๒๖๗ ให้ลงโทษจำคุกตามมาตรา ๑๘๑(๑) อันเป็นบทหนักมีกำหนด ๖ ปี และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๕ ให้จำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕ ซึ่งเป็นบทหนักมีกำหนด ๔ ปี รวมโทษจำคุก ๑๐ ปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ คงจำคุก ๕ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗ วรรค ๒ และมาตรา ๒๖๕ ให้วางโทษตามมาตรา ๑๗๗ วรรค ๒ มีกำหนด ๓ ปี จำเลยสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน ความผิดฐานให้เจ้าพนักงานจดข้อความเท็จให้ยก
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยโจทก์ฎีกาขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยทุกมาตราตามที่ศาลชั้นต้นพิจารณา จำเลยฎีกาขอให้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕
ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๓ ปีขึ้นไป ในมาตรา ๑๘๑(๑) นั้น หมายถึงอัตราโทษขั้นต่ำของความผิดนั้น ๆ จะต้องมีระวางโทษจำคุก ๓ ปีเป็นอย่างน้อยที่สุด เมื่อโทษในคดีที่จำเลยเบิกความเท็จเป็นโทษตามมาตรา ๒๘๔ ฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารไม่มีอัตราขั้นต่ำ การเบิกความเท็จของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๗๗ วรรค ๒ เท่านั้น ไม่ใช่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๑(๑)
ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยเบิกความเท็จต่อศาล ก็คือ การแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการ จำเลยนอกจากจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๗๗ แล้ว จำเลยังจะต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๗ ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความ แต่เป็นเรื่องเบิกความ ซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจจดข้อความตอนใดหรือไม่จดก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ การจดจึงเป็นเรื่องของศาล ไม่ใช่เรื่องของพยานที่จะแจ้งให้ศาลจดข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
การที่จำเลยเบิกความเท็จแล้วลงนามปลอมนั้น การลงนามปลอมมิได้เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำผิดฐานเบิกความเท็จ เพราะแม้จำเลยจะมิได้ลงนามปลอมความผิดฐานเบิกความเท็จก็ไม่ขาดองค์ประกอบไปแต่อย่างใด ฉะนั้น เมื่อจำเลยเบิกความเท็จแล้ว ยังบังอาจลงนามปลอมไปอีก จำเลยก็ต้องมีความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๔ ด้วย แต่การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕ เพราะเอกสารฉบับนั้นศาลทำขึ้น การปลอมเอกสารราชการจะต้องกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง แต่การที่ศาลจดข้อความไว้เอง และผู้พิพากษาผู้จดข้อความก็ลงนามไว้ด้วยเพียงแต่จำเลยผู้เบิกความปลอมตัวมาลงนามในฐานะผู้เบิกความเช่นนี้ หาทำให้จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๕ ด้วยไม่ จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ เท่านั้น
พิพากษาแก้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่กฎหมายหลายกรรม คือ ฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๗๗ วรรค ๒ และฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๔ แต่ให้วางโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๗๗ วรรค ๒ ซึ่งเป็นกระทงที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ จำคุกจำเลยมีกำหนด ๓ ปี ลดโทษให้จำเลยตามมาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลย ๑ ปี ๖ เดือน

Share