คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5609/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้ฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างชำระดอกเบี้ยของค่าล่วงเวลาในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี และศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นพิพาทไว้แล้ว การที่ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของค่าล่วงเวลาตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่เพียงใด จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 51 นายจ้างที่ไม่ชำระค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างลูกจ้างย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากนายจ้างในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่ผิดนัด ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 วรรคแรกซึ่งตามข้อ 29(1) ลูกจ้างจะได้รับค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่าเดือนละหนึ่งครั้ง เมื่อนายจ้างมิได้ชำระแต่ละเดือนจึงถือว่าผิดนัดตั้งแต่วันที่จะต้องชำระในแต่ละเดือน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างทำหน้าที่พนักงานขับรถของจำเลย ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหาย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินบำเหน็จ ค่าชดเชย และค่าล่วงเวลาพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยเป็นธรรมแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเงินบำเหน็จและค่าชดเชย ส่วนค่าล่วงเวลาที่โจทก์ฟ้องได้มีข้อตกลงกับจำเลยแล้วว่าถือเป็นเวลาทำงานตามปกติโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยเป็นธรรมแล้ว และโจทก์มีข้อตกลงกับจำเลยแล้วว่าช่วงเวลาที่โจทก์เรียกค่าล่วงเวลามานั้นให้ถือเป็นเวลาทำงานตามปกติ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลา พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาและดอกเบี้ย
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อตกลงเรื่องค่าล่วงเวลาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าล่วงเวลาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะประเด็นในเรื่องค่าล่วงเวลาและให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาในประเด็นเรื่องดังกล่าวใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาในประเด็นค่าล่วงเวลาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระค่าล่วงเวลาจำนวน 37,814.28 บาทแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าโจทก์ได้มีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของค่าล่วงเวลาในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่1 กุมภาพันธ์ 2535 และศาลแรงงานกลางก็ได้กำหนดประเด็นไว้ด้วยแล้ว ศาลแรงงานกลางก็ได้กำหนดประเด็นไว้ด้วยแล้วศาลแรงงานกลางจึงจำเป็นต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของค่าล่วงเวลาตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่เพียงใด แต่ศาลแรงงานกลางหาได้วินิจฉัยไม่ จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 51 และเมื่อจำเลยไม่ชำระค่าล่วงเวลาให้โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันผิดนัด ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 วรรคแรก และตามข้อ 29(1)โจทก์จะได้รับค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่าเดือนละหนึ่งครั้งเมื่อจำเลยมิได้ชำระแต่ละเดือน จึงถือว่าผิดนัดตั้งแต่วันที่จะต้องชำระในแต่ละเดือน แต่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยของค่าล่วงเวลาทั้งหมดในจำนวนเงิน 37,814 บาทตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2535 หลังจากที่ถูกเลิกจ้างแล้วซึ่งเป็นประโยชน์แก่จำเลย จึงให้เท่าที่โจทก์ขอ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของเงิน 37,814 บาท นับแต่วันที่1 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share