คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5608/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาในฐานะประธานกรรมการยังจัดให้ประชุมผู้ร่วมลงทุนออกหนังสือยืนยันว่าบริษัทยังดำเนินธุรกิจเป็นปกติ ทั้งยังออกหนังสือขอผ่อนผันชำระเงินทุนคืนแก่ผู้ร่วมลงทุนทุกราย เป็นการกำกับดูแลธุรกิจบริษัทประหนึ่งตนเป็น กรรมการผู้จัดการ พฤติการณ์บ่งชัดว่าได้ร่วมคบคิดกับบริษัท ซึ่งเป็นนิติบุคคลทำการกู้ยืมเงินด้วย แม้จำเลยที่ 1 จะมิใช่ กรรมการผู้จัดการและ มิได้ลงนามในสัญญาในฐานะผู้แทนบริษัท จำเลย ที่ 1 ก็เป็นผู้กู้ยืม เงินตามนัยพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็น การฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 3 เมื่อจำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะ เป็นผู้กู้ยืมเงินและได้ตกเป็นผู้ต้องหาตามพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 4,5 ทั้งได้ถูกฟ้องต่อศาลอาญาไว้แล้ว พนักงานอัยการจึงมี อำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลายได้ตามพระราชกำหนด ดังกล่าว มาตรา 10 บริษัทเป็นผู้กู้ยืมเงินโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงนามในสัญญาในฐานะผู้แทนบริษัท จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นผู้กู้ยืมเงินไปด้วยตามนัยแห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 3 การที่จำเลยที่ 2 กระทำให้เกิดข้อบกพร่องขึ้นโดยลงนามคนเดียว และไม่ประทับตราสำคัญของบริษัทนั้น หาทำให้ฐานะของจำเลยที่ 2 ที่เป็นผู้แทนบริษัทเปลี่ยนแปลงไปไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้กู้ยืมเงิน และได้ตกเป็นผู้ต้องหาตามพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา4,5 ทั้งได้ถูกฟ้องต่อศาลอาญาไว้แล้ว เช่นนี้ พนักงานอัยการ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายได้ตาม พระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 10 จำเลยที่ 2 จะได้หลอกลวงประชาชน หรือไม่ หา ได้กระทบถึงอำนาจฟ้องของโจทก์ไม่ แม้จำเลยที่ 6 จะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทด้วยผู้หนึ่ง แต่ จำเลย ที่ 6ก็มิได้เป็นกรรมการบริษัท และไม่เคยได้รับเงินจาก ผู้ ร่วม ลงทุน โดยจ่ายหรือตกลงจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ร่วมลงทุน แต่ อย่างใดจำเลยที่ 6 ไม่มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือกับบริษัท ใน การ กู้ยืม เงินจากผู้ร่วมลงทุน จำเลยที่ 6 จึงมิใช่ผู้กู้ยืมเงิน ตาม นัย พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3 พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 เป็นบุคคลล้มละลาย ตาม พระราชกำหนด ดังกล่าวมาตรา 10 ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งไม่รอฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา และได้ดำเนินการพิจารณาสืบพยานหลักฐานจนเสร็จสิ้นแล้วมีคำพิพากษา ไปประกอบกับคดีส่วนอาญาที่อ้างถึงนั้นจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อใด ก็ไม่อาจทราบได้ จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรอคดีนี้ไว้ ฟัง ข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งแปดและบริษัท เอ็ม.วาย.เอส.เอ็กเสคคิวทีฟ บิวสิเนส จำกัด ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และกระทำผิดตามพระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 4, 5 แต่จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 หลบหนีไปไม่มีตัวมาฟ้องโจทก์คงฟ้องแต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 และบริษัทเอ็ม.วาย.เอส.เอ็กเสคคิวทีฟ บิวสิเนส จำกัด เป็นจำเลยข้อหาดังกล่าวที่ศาลอาญา กล่าวคือ เมื่อระหว่างตั้งแต่ พ.ศ. 2527 ถึงวันที่ 12พฤศจิกายน 2527 ซึ่งเป็นวันก่อนที่พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ใช้บังคับ มีประชาชนนำเงินมาร่วมลงทุนโดยวิธีให้จำเลยกู้ยืม 65 ราย เป็นเงิน 16,520,000 บาท และระหว่างตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2527 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2528ซึ่งเป็นเวลาที่พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 ใช้บังคับแล้ว มีประชาชนนำเงินมาร่วมลงทุนโดยวิธีให้จำเลยกู้ยืม 275 ราย เป็นเงิน 65,308,480 บาท โดยบริษัทเอ็ม.วาย.เอส.เอ็กเสคคิวทีฟ บิวสิเนส จำกัด ทำหนังสือสัญญาร่วมลงทุนให้เป็นหลักฐานทุกราย จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทดังกล่าว และบางครั้งจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในนามบริษัทเพียงคนเดียวบริษัท เอ็ม.วาย.เอส.เอ็กเสคคิวทีฟ บิวสิเนส จำกัด ได้มีข้อตกลงนอกเหนือสัญญาว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ผู้ร่วมลงทุนร้อยละ 8 ต่อเดือน หรือร้อยละ96 ต่อปี โดยจ่ายทุกเดือน และผู้ร่วมลงทุนจะเรียกคืนต้นเงินเมื่อใดก็ได้โดยบอกกล่าวล่วงหน้าภายหลังที่ประชาชนนำเงินมาร่วมลงทุนแล้วจำเลยนำเงินบางส่วนออกหมุนเวียนจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นเองและรายอื่น ๆ ร้อยละ 8 ต่อเดือนจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2528 ครั้นเดือนเมษายน 2528 จำเลยทั้งแปดกับบริษัท เอ็ม.วาย.เอส.เอ็กเสคคิวทีฟ บิวสิเนส จำกัด งดจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนทุกราย และไม่ยอมคืนเงินต้นให้ประชาชนผู้ให้กู้ยืม โดยจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งแปดเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งแปดเป็นบุคคลล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นกรรมการและผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัท เอ็ม.วาย.เอส.เอ็กเสคคิวทีฟ บิวสิเนสจำกัด สัญญาการลงทุนจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนรู้เห็นและไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ จำเลยที่ 1 ไม่เคยรับเงินจากประชาชน เพียงแต่จำเลยที่ 1 เป็นบิดาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 รับราชการทหารประจำการกองทัพบก มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน ขอศาลพิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้หลอกลวงประชาชน จำเลยที่ 2 กับพวกตั้งบริษัท เอ็ม.วาย.เอส.เอ็กเสคคิวทีฟ ปิวสิเนส จำกัดเพื่อค้าพืชไร่ล่วงหน้าไว้เก็งกำไร (คอมโมดิตี้) และดำเนินการอื่นอีกหลายอย่าง กิจการดังกล่าวสามารถหากำไรหรือผลประโยชน์ตอบแทนมาจ่ายให้แก่ผู้ลงทุนได้เพียงพอ ต่อมากิจการบริษัทไม่อาจให้ผลประโยชน์ตอบแทนได้ เพราะผู้ให้กู้ยืมเงินถอนเงินจำนวนมากจำเลยที่ 2 มิได้หลบหนีไปไหน และหนี้สินมีจำนวนไม่ถึง 340 รายขอศาลพิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 6 เป็นเพียงผู้ถือหุ้นไม่ได้ร่วมกระทำผิดด้วย ขอศาลพิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ 7 ที่ 8 ไม่ยื่นคำให้การและแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งแปดเด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และตามพระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 10
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อแรกที่จะวินิจฉัย คือข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้เป็นบุคคลล้มละลายเพราะจำเลยที่ 1 มิใช่ผู้กู้ยืมเงิน ตามนัยแห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3 ศาลฎีกาเห็นว่า พฤติการณ์บ่งชัดว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้ร่วมคบคิดกับบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลทำการกู้ยืมเงินจากผู้ร่วมลงทุนด้วย ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะมิใช่กรรมการผู้จัดการและมิได้ลงนามในสัญญาในฐานะผู้แทนบริษัท จำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้กู้ยืมเงินตามนัยแห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 3 เช่นกัน พยานจำเลยที่ 1 ที่นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวในการบริหารงานของบริษัท ที่เข้าไปเกี่ยวข้องในตอนหลังก็เพียงเพื่อช่วยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรให้ปลอดภัยนั้นมีแต่ตัวจำเลยที่ 1 เบิกความ และไม่สอดคล้องกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 เองที่ได้แสดงออกต่อผู้ร่วมลงทุนประหนึ่งว่าเป็นกรรมการผู้จัดการโดยการจัดให้มีการประชุมผู้ร่วมลงทุน ออกหนังสือยืนยันฐานะบริษัท และเสนอขอผ่อนชำระคืนเงินทุนแก่ผู้ร่วมลงทุน ที่จำเลยที่ 1 นำสืบดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน้อยไม่พอที่จะให้เชื่อถือเมื่อจำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นผู้กู้ยืมเงิน และได้ตกเป็นผู้ต้องหาตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 4, 5 ทั้งได้ถูกฟ้องต่อศาลอาญาไว้แล้วเช่นนี้ พนักงานอัยการย่อมฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลายได้ตามพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 10
ปัญหาข้อที่ 2 ที่จะวินิจฉัยคือข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 ได้เงินมาแล้วนำไปลงทุนจริง หาได้หลอกลวงประชาชนไม่ ข้อนี้เห็นว่า ในเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่า บริษัท เอ็ม.วาย.เอส.เอ็กเสคคิวทิฟบิวสิเนส จำกัด เป็นผู้กู้ยืมเงิน โดยมีจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3บ้าง จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวบ้าง เป็นผู้ลงนามในสัญญาในฐานะผู้แทนบริษัท จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นผู้กู้ยืมเงินไปด้วย ตามนัยแห่งพระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 3 ส่วนการที่จำเลยที่ 2 กระทำให้เกิดข้อบกพร่องขึ้นโดยลงนามคนเดียว และไม่ประทับตราสำคัญของบริษัทนั้นหาทำให้ฐานะของจำเลยที่ 2 ที่เป็นผู้แทนบริษัทเปลี่ยนแปลงไปไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้กู้ยืมเงิน และได้ตกเป็นผู้ต้องหาตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5 ทั้งได้ถูกฟ้องต่อศาลอาญาไว้แล้วเช่นนี้ พนักงานอัยการย่อมฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายได้ตามพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 10จำเลยที่ 2 จะได้หลอกลวงประชาชนหรือไม่ หาได้กระทบถึงอำนาจฟ้องของโจทก์ไม่
ปัญหาข้อที่ 3 ที่จะวินิจฉัยคือ ข้อที่จำเลยที่ 6 ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 ให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพราะจำเลยที่ 6 ไม่ใช่ผู้กู้ยืมเงิน ตามนัยแห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ข้อนี้เห็นว่าแม้จำเลยที่ 6 จะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เอ็ม.วาย.เอส.เอ็กเสคคิวทิฟบิวสิเนสจำกัด ด้วยผู้หนึ่ง แต่จำเลยที่ 6 ก็มิได้เป็นกรรมการบริษัท และไม่เคยได้รับเงินจากผู้ร่วมลงทุนโดยจ่ายหรือตกลงจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ร่วมลงทุนแต่อย่างใด ส่วนการที่จำเลยที่ 6 รับโอนเงินของบริษัทเข้าบัญชีเงินฝากของตนที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาธนบุรีนั้น เห็นว่าการโอนเงินของบริษัทปกติย่อมไม่อยู่ในอำนาจของจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นเพียงผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง แต่อยู่ในอำนาจของกรรมการผู้จัดการ และข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 6 ได้คบคิดกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินของบริษัทเกิดความคิดที่จะยักย้ายเงินของบริษัทในภายหลังเมื่อเห็นว่าบริษัทไม่สามารถหารายได้มาจ่ายแก่ผู้ร่วมลงทุนให้ครบถ้วนตามสัญญาได้แล้ว ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยที่ 6 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 2หรือกับบริษัทในการกู้ยืมเงินจากผู้ร่วมลงทุน จำเลยที่ 6 จึงมิใช่ผู้กู้ยืมเงินตามนัยแห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3 เมื่อจำเลยที่ 6 มิได้เป็นผู้กู้ยืมเงินพนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 เป็นบุคคลล้มละลายตามพระราชกำหนด ดังกล่าว มาตรา 10
ส่วนปัญหาข้อสุดท้ายคือ ข้อที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาขอให้รอคดีนี้ไว้ฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งไม่รอฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา และได้ดำเนินการพิจารณาสืบพยานหลักฐานจนเสร็จสิ้นแล้วมีคำพิพากษาไปประกอบกับคดีส่วนอาญาที่อ้างถึงนั้น จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อใดก็ไม่อาจทราบได้ จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรอคดีนี้ไว้ฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share