แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
องค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปนายจ้างจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างประจำทุกเดือนและมีจำนวนแน่นอน ซึ่งเป็นการจ่ายตอบแทนการทำงานของลูกจ้างทุกคน ย่อมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ทั้งตามข้อบังคับของจำเลยให้ความหมายของคำว่า”เงินเดือน” ว่า หมายถึงเงินที่องค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปจ่ายให้แก่พนักงานเป็นรายเดือนเพื่อตอบแทนการทำงานของพนักงาน ค่าครองชีพจึงอยู่ในความหมายของคำว่า “เงินเดือน” ตามข้อบังคับของจำเลย หาใช่เป็นสวัสดิการไม่ ฉะนั้น การคำนวณค่าชดเชยและเงินบำเหน็จของลูกจ้างจึงต้องนำค่าครองชีพมารวมคำนวณด้วย ส่วนเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวเป็นเงินที่กระทรวงกลาโหมสั่งให้จำเลยจ่ายแก่โจทก์ เพื่อเป็นการปูนบำเหน็จความชอบแก่โจทก์ เพื่อตอบแทนที่โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่สู้รบณ สาธารณรัฐเวียตนาม มิใช่เป็นเงินที่จำเลยตกลงจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบจึงมิใช่ค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จระบุว่า พนักงานซึ่งออกจากงานมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จแต่เพียงอย่างเดียว และให้ถือว่าเป็นเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วย เงินบำเหน็จดังกล่าวมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายแตกต่างจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งบังคับให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เงินบำเหน็จจึงมีลักษณะเป็นเงินสงเคราะห์เพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้างที่ทำงานด้วยดีตลอดมาจนออกจากงาน ถือได้ว่าเป็นเงินประเภทอื่นต่างหากจากค่าชดเชยที่ข้อบังคับของจำเลยให้ถือว่าการจ่ายเงินบำเหน็จเป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วยเป็นการขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ไม่มีผลบังคับ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ต่างหาก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้ง 158 คน เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2531 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้ง 158 คน เพราะหยุดกิจการ จำเลยจ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ทั้ง158 คน ไปแล้วบางส่วน โดยจำเลยไม่นำค่าครองชีพซึ่งโจทก์ทั้ง158 คนได้รับเป็นประจำทุกเดือนมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยและเงินบำเหน็จ และสำหรับโจทก์ที่ 14 ที่ 22 ที่ 92 จำเลยไม่ได้นำเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) ซึ่งจำเลยจ่ายให้โจทก์ทั้งสามทุกเดือนมารวมคำนวณค่าชดเชยด้วย ขอให้จำเลยชำระค่าชดเชยและเงินบำเหน็จส่วนที่ยังขาดแก่โจทก์แต่ละคนพร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า ได้จ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วเงิน พ.ส.ร. หรือค่าครองชีพตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลผู้จ่ายไม่ใช่จ่ายเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างตามปกติ แต่เป็นสวัสดิการเช่นเดียวกับค่าเช่าบ้านที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์แก่พนักงานรัฐวิสาหกิจและมิได้จ่ายให้สม่ำเสมอ อาจเพิ่มหรือลดลงก็ได้ตามสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันนี้ไม่มีการจ่ายค่าครองชีพแล้ว และเหตุที่จ่ายพร้อมกับค่าจ้างหรือเงินเดือนก็เพื่อสะดวกแก่เจ้าหน้าที่คำนวณทางด้านบัญชีและผู้จ่าย ตลอดจนความสะดวกของผู้รับด้วย การที่จ่ายพร้อมเงินเดือนก็มิได้หมายความว่าเป็นค่าจ้าง มิฉะนั้นค่าเช่าบ้านก็ต้องถือเป็นค่าจ้างด้วย จำเลยมีข้อบังคับองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ท้ายคำให้การซึ่งมีลักษณะการจ่ายเช่นเดียวกับค่าชดเชย และตามข้อ 9 โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเพียงอย่างเดียว การที่โจทก์ทั้งหมดได้รับค่าชดเชยและเงินบำเหน็จไปทั้ง 2 อย่างพร้อมกันจึงเป็นเรื่องการจ่ายซ้ำซ้อน และจ่ายเกินกว่าที่โจทก์ทั้งหมดฟ้องมา จำเลยไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้องศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาดให้โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 13 คนละ 1,800 บาท โจทก์ที่ 15 ถึงโจทก์ที่ 21คนละ 1,800 บาท โจทก์ที่ 23 ถึงโจทก์ที่ 83 คนละ 1,800 บาท โจทก์ที่ 84 ถึง 91 คนละ 2,400 บาท โจทก์ที่ 93 ถึงโจทก์ที่ 158คนละ 2,400 บาท โจทก์ที่ 14 และโจทก์ที่ 22 คนละ 2,700 บาท โจทก์ที่ 92 จำนวน 3,300 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากเงินค่าชดเชยของโจทก์แต่ละคน นับแต่วันเลิกจ้าง (1 ตุลาคม2531) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ ให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่ขาดแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 158 พร้อมทั้งดอกเบี้ย จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าค่าครองชีพไม่ใช่ค่าจ้างหรือเงินเดือน แต่เป็นสวัสดิการช่วยเหลือลูกจ้างที่มีรายได้น้อยเป็นการชั่วคราวเท่านั้น
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์ทั้ง158 คนเป็นประจำทุกเดือนและมีจำนวนแน่นอน ซึ่งเป็นการจ่ายตอบแทนการทำงานของโจทก์ทุกคน ย่อมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างทั้งตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ข้อ 3.3ให้ความหมายของคำว่า “เงินเดือน” ว่า หมายถึง “เงินที่องค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปจ่ายให้แก่พนักงานเป็นรายเดือน เพื่อตอบแทนการทำงานของพนักงานรวมทั้งเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบด้วย แต่ไม่รวมเงินตอบแทนในลักษณะค่าล่วงเวลา โบนัส เบี้ยเลี้ยง เบี้ยกรรมการหรือประโยชน์อย่างอื่น” เมื่อค่าครองชีพเป็นเงินซึ่งจำเลยจ่ายตอบแทนการทำงานของโจทก์ทั้ง 158 คนค่าครองชีพจึงอยู่ในความหมายของคำว่า”เงินเดือน” ตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว หาใช่เป็นสวัสดิการตามที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ เพราะฉะนั้น การคำนวณค่าชดเชยและเงินบำเหน็จของโจทก์ทั้ง 158 คน จึงต้องนำค่าครองชีพมารวมคำนวณด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ข้อที่สองว่า เงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ(พ.ส.ร.) เป็นเงินสวัสดิการของกระทรวงกลาโหมให้แก่ผู้รับไปรบ แม้จะไม่ทำงานกระทรวงกลาโหมก็จ่ายให้ จึงมิใช่เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานอันจะถือเป็นค่าจ้างหรือเงินเดือนที่จะนำมารวมคำนวณค่าชดเชยพิเคราะห์แล้ว จำเลยมีข้อบังคับองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปว่าด้วยเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) สำหรับพนักงานที่อาสาไปปฏิบัติราชการ ณ สาธารณรัฐเวียตนาม พ.ศ. 2516 ข้อ 2, ข้อ 3กำหนดว่า พนักงานของจำเลยที่จะมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) ต้องเป็นพนักงานที่ได้รับอนุญาตจากจำเลยให้ลาไปปฏิบัติการรบ ณ สาธารณรัฐเวียตนามโดยได้รับเงินเดือน หรือค่าจ้างเมื่อกลับมาปฏิบัติงาน และทางกระทรวงกลาโหมปูนบำเหน็จความชอบให้เป็นเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) การจ่ายเงินเพิ่มดังกล่าว จำเลยจ่ายตามจำนวนที่กระทรวงกลาโหมพิจารณาให้ โดยเริ่มจ่ายนับแต่วันที่กระทรวงกลาโหมระบุในคำสั่ง เห็นว่า เงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) ตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว เป็นเงินที่กระทรวงกลาโหมสั่งให้จำเลยจ่ายแก่โจทก์ เพื่อเป็นการปูนบำเหน็จความชอบแก่โจทก์ เพื่อตอบแทนที่โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่สู้รบ ณสาธารณรัฐเวียตนาม มิใช่เป็นเงินที่จำเลยตกลงจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) จึงมิใช่ค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน2515 ข้อ 2 แม้ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521ข้อ 3.3 จะระบุว่า “เงินเดือน” หมายความรวมถึงเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) ด้วย ก็เป็นเพียงจำเลยได้กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการคิดคำนวณเงินบำเหน็จของจำเลย ว่าจะให้นำเงินประเภทใดไปรวมคิดคำนวณบ้างเท่านั้นส่วนเงินที่จำเลยกำหนดให้นำไปรวมในการคิดคำนวณเงินบำเหน็จจะเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยได้หรือไม่ต้องพิจารณาว่าเงินดังกล่าวเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวหรือไม่เมื่อเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) มิใช่ค่าจ้างตามประกาศดังกล่าวดังได้วินิจฉัยมา จึงไม่อาจนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 14 ที่ 22 และที่ 92 ได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ได้กำหนดกฎเกณฑ์เงื่อนไขการคิดเงินบำเหน็จเช่นเดียวกับค่าชดเชย และตามข้อ 9 ก็ได้กำหนดให้ได้รับเงินบำเหน็จอย่างเดียว การที่โจทก์ทุกคนได้รับเงินค่าชดเชยและเงินบำเหน็จไปแล้วจึงเป็นการได้รับเกินไปกว่าที่ควรได้ เห็นว่าตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ข้อ 9 ระบุว่า พนักงานซึ่งออกจากงานตามข้อ 8 มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จแต่เพียงอย่างเดียวและให้ถือว่าเป็นเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วย แต่การจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยข้อ 8 ไม่จำกัดแต่เฉพาะกรณีจ่ายให้แก่พนักงานเมื่อเลิกจ้างเท่านั้นพนักงานของจำเลยซึ่งออกจากงานโดยการลาออกหรือหย่อนความสามารถก็มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเงินบำเหน็จดังกล่าวจึงมีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการจ่ายแตกต่างจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานซึ่งบังคับให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นเงินสงเคราะห์เพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้างที่ทำงานด้วยดีตลอดมาจนออกจากงานถือได้ว่าเป็นเงินประเภทอื่นต่างหากจากค่าชดเชย ที่ข้อบังคับของจำเลยให้ถือว่าการจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ เป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วย เป็นการขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ไม่มีผลบังคับ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้ง 158 คน ต่างหาก”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาดให้โจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 1,800 บาท โจทก์ที่ 22 เป็นเงิน 1,800 บาท และโจทก์ที่ 92 เป็นเงิน 2,400 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากเงินค่าชดเชยของโจทก์แต่ละคน นับแต่วันเลิกจ้าง(1 ตุลาคม 2531) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง