แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลได้พิพากษาให้ริบรถยนต์แล้ว จึงได้มีการโอนรถยนต์นั้นมาเป็นของผู้เช่าซื้อ แล้วผู้เช่าซื้อได้โอนให้ผู้ร้องอีกทอดหนึ่ง ฉะนั้นรถยนต์ย่อมตกเป็นของแผ่นดินการโอนให้แก่กันภายหลังนั้น ผู้รับโอนย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ ฉะนั้น ผู้ร้องจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าของที่แท้จริงที่จะยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36เพราะขณะที่ศาลพิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลาง รถยนต์นั้นยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าซื้ออยู่
ย่อยาว
คดีนี้ เดิมโจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยทั้งสี่มีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองโดยบรรทุกอยู่ในรถยนต์ของจำเลยที่ ๔ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้และให้ริบของกลาง
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้อง จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ เป็นอีกคดีหนึ่งแล้วพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีความผิดตามฟ้อง วางโทษจำคุกคนละ๖ เดือน ปรับคนละ ๒,๐๐๐ บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ คงจำคุกคนละ ๓ เดือน ปรับคนละ ๑,๐๐๐ บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้คนละ ๒ ปี ไม้และรถยนต์ของกลางให้ริบ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า รถยนต์เป็นของผู้ร้อง ให้จำเลยที่ ๔ ขอยืมไปบรรทุกข้าวเปลือก ผู้ร้องไม่ได้รู้เห็นในการกระทำผิดเรื่องนี้ ขอให้สั่งคืนรถยนต์ให้ผู้ร้อง
โจทก์แถลงคัดค้านว่า รถยนต์ของกลางเป็นของจำเลยที่ ๔
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมจำเลยที่ ๔ เช่าซื้อรถยนต์ของกลางมาจากห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกงเฮง สระบุรี ซึ่งเป็นเอเย่นต์ของบริษัทมิตซูบิชิ(ขณะเกิดเหตุ) ยังส่งเงินไม่ครบ ภายหลังศาลพิพากษาริบรถยนต์แล้วจำเลยที่ ๔ ได้โอนทะเบียนรถยนต์ของกลางจากบริษัทมิตซูบิชิมาเป็นชื่อของจำเลยที่ ๔ แล้วจำเลยที่ ๔ ได้โอนรถยนต์ของกลางใส่ชื่อนายสมพลโฉมวัฒนา ผู้ร้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า บริษัทมิตซูบิชิผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้ดำเนินการร้องขอให้ศาลสั่งคืนรถยนต์ของกลางเสียก่อน ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริงไม่มีสิทธิจะร้องขอคืนรถยนต์ของกลางต่อศาลได้ พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกาว่า ถ้าบริษัทมิตซูบิชิเจ้าของแท้จริงมีโอกาสขอรับทรัพย์คืนเหตุไฉนผู้ร้องจึงถูกจำกัดสิทธิในเรื่องนี้
ศาลฎีกาเห็นว่า ขณะที่ศาลพิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลาง รถยนต์ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทมิตซูบิชิผู้ให้เช่าซื้ออยู่ และเมื่อศาลสั่งริบแล้วรถยนต์ย่อมตกเป็นของแผ่นดิน การโอนให้แก่กันภายหลังนั้น ผู้รับโอนย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์ ดังนั้น เมื่อศาลได้พิพากษาให้ริบรถยนต์แล้ว จึงได้มีการโอนรถยนต์มาเป็นชื่อของจำเลยที่ ๔ และจำเลยที่ ๔ ได้โอนใส่ชื่อผู้ร้องอีกทอดหนึ่งในวันเดียวกัน ผู้ร้องจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าของที่แท้จริงจะขอคืนรถยนต์คันนี้ไม่ได้
พิพากษายืน