คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 194/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บริษัท ล. ขายสินค้าผ้าให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศโดยบริษัทล. ได้ว่าจ้างจำเลยทั้งสองขนสินค้าดังกล่าวซึ่งบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ และบริษัท ล. ได้ประกันภัยสินค้ารายนี้ไว้กับโจทก์ เมื่อปรากฏว่าได้มีการบรรจุสินค้าผ้าจำนวน 1,149 ม้วนลงในตู้บรรจุสินค้าดังกล่าวและสินค้าผ้าจำนวน 1,078 ม้วนได้สูญหายไปขณะอยู่ในความรับผิดของจำเลยทั้งสอง การสูญหายดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเนื่องจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่สภาพแห่งสินค้านั้นเองหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง จำเลยทั้งสองในฐานะผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัท ล. เมื่อโจทก์ได้ใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัท ล. ไปตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัท ล. ผู้เอาประกันภัยมาฟ้องร้องจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัททูลทอลฟาบริคส์ (ฮอลแลนด์) จำกัดประเทศเนเธอร์แลนด์ได้สั่งซื้อสินค้าผ้าฝ้ายโพลีเยสเตอร์จากบริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด ผู้ขายที่ประเทศไทยจำนวน 1,149ม้วนเป็นเงิน 2,406,780.27 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ขายจะต้องส่งสินค้าผ้าไปให้ผู้ซื้อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์บริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด ได้ว่าจ้างจำเลยทั้งสองขนสินค้าดังกล่าวจากโกดังของบริษัทไปยังท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อส่งให้แก่ตัวแทนของบริษัทเรือนำลงเรือส่งต่อไปยังผู้ซื้อบริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด ได้เอาประกันภัยในการขนส่งไว้กับโจทก์ 2,647,499.95 บาท จำเลยทั้งสองได้ขนส่งสินค้ารายนี้ไปถึงท่าเรือแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าสินค้าผ้าได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่งของจำเลยทั้งสอง 1,078 ม้วน บริษัทผู้เอาประกันภัยได้เรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยและโจทก์ได้ชดใช้เงินจำนวน 2,191,267.54 บาทแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่ง โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายคิดเป็นดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 113,028.34 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,304,290.88 บาทพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายจากต้นเงิน2,191,262.54 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า บริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัดมิได้เอาประกันภัยสินค้าไว้กับบริษัทโจทก์ตามฟ้อง ในการส่งสินค้าตามฟ้องบริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด เป็นผู้บรรจุสินค้าลงในตู้หีบห่อเอง มีเจ้าหน้าที่ของบริษัทกับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเท่านั้นร่วมรู้เห็น จำเลยทั้งสองมิได้ร่วมรู้เห็นในการบรรจุสินค้าเมื่อมีการตรวจตู้สินค้าก็ไม่ปรากฏร่องรอยการงัดแงะตู้สินค้าแต่อย่างใด เพียงแต่ตู้สินค้ามีน้ำหนักเบาผิดปกติ จึงเปิดตู้สินค้าพบว่ามีผ้าเพียง 71 ม้วน สินค้าผ้าดังกล่าวมิได้สูญหายไปในระหว่างขนส่งของจำเลย จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อบริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด หากบริษัทโจทก์รับประกันภัยไว้จริงก็ไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ถ้าโจทก์ได้ชดใช้ไปจริงก็ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยทั้งสองได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,191,262.54บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียม โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาทแทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่าบริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด มิได้ประกันภัยการขนส่งสินค้าตามฟ้องไว้กับโจทก์นั้น ในปัญหานี้โจทก์มีนายมนูญ ศรีวัฒนาผู้จัดการแผนกประกันภัยทางทะเลของโจทก์มาเบิกความว่า บริษัททูลทอลฟาบริคส์ (ฮอลแลนด์) จำกัด ผู้ซื้อในประเทศเนเธอร์แลนด์ได้สั่งซื้อสินค้าผ้าจากบริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด ผู้ขายในประเทศไทยรวม 5 รายการ จำนวน 1,149 ม้วน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 2 ล้านบาทเศษ และผู้ขายได้เอาประกันภัยสินค้าผ้าทั้งหมดไว้กับโจทก์รวมเป็นเงินประมาณ 2,600,000 บาท ปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยรวม 5 ฉบับ เอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.15 เมื่อได้ตรวจกรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 5 ฉบับดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าเป็นการรับประกันภัยเพื่อคุ้มครองวินาศภัยทั้งหมด จากโรงเก็บสินค้าของผู้ขายถึงโรงเก็บสินค้าของผู้ซื้อ จำนวนสินค้าและรายละเอียดของสินค้าตามกรมธรรม์ประกันภัยตรงกับกับสินค้าที่บริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด ผู้ขายส่งไปให้ผู้ซื้อในต่างประเทศตรงกับคำเบิกความของนายมนูญ จำเลยทั้งสองก็ไม่นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น จึงเชื่อว่าบริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด ได้เอาประกันภัยสินค้ารายนี้ไว้กับโจทก์ ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า บริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัดมิได้บรรจุสินค้าผ้าที่สูญหายลงในตู้บรรจุสินค้าและสินค้าผ้าดังกล่าวมิได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่งของจำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า ในเบื้องแรกได้มีการตรวจนับจำนวนสินค้าผ้าที่โรงเก็บสินค้าของบริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย)จำกัด ที่ตำบลบางปู โดยมีเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร 3 คน คือนายบรรจงเลิศอมรพงศ์ นายตรวจศุลกากร นายเสนีย์ เจริญกุล สารวัตรศุลกากรและนายพจน์ ไพจิตร เจ้าหน้าที่ศุลการักษ์ ได้ร่วมกันตรวจคุณภาพนับจำนวน และควบคุมการบรรจุสินค้ารายพิพาทนี้พร้อมกับนายสมศักดิ์ศรีเรืองงาม ผู้รับมอบหมายจากนายทองสุข จูประจักษ์ พนักงานออกของหรือชิปปิ้งสำหรับสินค้ารายนี้ และนายสุรินทร์ วิธุระ หัวหน้าคุมโรงเก็บสินค้าของบริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด บุคคลทั้งห้าดังกล่าวได้มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันว่าได้มีการบรรจุสินค้าครบจำนวนตามหลักฐานการส่งสินค้าขาออก ซึ่งมีเอกสารประกอบ เช่นใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย จ.30และ จ.31 ใบอินวอยซ์ เอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.10 ได้ระบุจำนวนสินค้าผ้า 1,149 ม้วน และใบสั่งให้ส่งสินค้าหรือใบ ดี โอเอกสารหมาย จ.25 ถึง จ.29 ซึ่งมีรายละเอียดของสินค้าและจำนวนสินค้าตรงกันกับใบอินวอยซ์เอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.10ทุกประการ โดยเฉพาะการบรรจุสินค้าผ้าในช่วงสุดท้ายนายสมศักดิ์ เบิกความว่า ได้บรรจุสินค้าจนเกินตู้ คงเหลือเศษอีก10 ม้วน พยานปิดประตูเข้ามาบานหนึ่งแล้วใช้รถยกดันเอาผ้าทั้ง 10ม้วนอัดเข้าไปจนครบ จากนั้นจึงปิดตู้สินค้าโดยมีเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรช่วย และนายสุรินทร์เบิกความว่าเมื่อบรรจุผ้าในตู้คอนเทนเนอร์แล้วผ้าไม่สามารถบรรจุลงได้หมดยังคงเหลือผ้าอยู่ประมาณ 8 ม้วน เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ชิปปิ้ง และพยานจึงช่วยกันดันม้วนผ้าที่เหลือเข้าไปในตู้คอนเทนเนอร์แล้วทำการปิดตู้ แสดงว่าตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้ารายพิพาทนี้เต็มตู้พออี ทั้งได้ความจากคำเบิกความของนายเสนีย์ นายบรรจง และนายพจน์ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรว่า เมื่อได้ตรวจสอบบรรจุสินค้าผ้ารายนี้ลงในตู้บรรจุสินค้าแล้วก็ได้บันทึกไว้ในใบขนสินค้าขาออกเอกสารหมาย จ.30 ว่ามีผ้าจำนวน 324 ม้วน และเอกสารหมาย จ.31 ว่ามีผ้า 825 ม้วนรวม 1,149 ม้วน ต่อหน้านายสุรินทร์ หัวหน้าคุมโกดังของบริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด และได้ผนึกตู้บรรจุสินค้าโดยใช้แถบผนึกของกรมศุลกากรไว้ด้วย เห็นว่า การบรรจุสินค้าผ้าครบจำนวนหรือขาดจำนวนนี้ จะต้องอยู่ในความรับผิดชอบและการรู้เห็นของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ได้แก่ฝ่ายโรงเก็บสินค้าของผู้ขายสินค้า ฝ่ายผู้ออกของและฝ่ายเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร หากจะบรรจุสินค้าผ้าดังกล่าวให้ขาดจำนวนตามหลักฐาน ก็จะต้องเป็นการร่วมมือด้วยกันทุกฝ่าย ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เมื่อพิจารณาถึงเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรคือนายเสนีย์ นายบรรจง และนายพจน์ แล้ว ก็เห็นได้ว่าต่างมีความรับผิดชอบแยกจากกันตามตำแหน่งหน้าที่การงานของตนคงจะไม่ร่วมกันกระทำการที่ไม่ถูกต้องในการบรรจุสินค้าดังกล่าวเป็นแน่ และเมื่อพิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ว่าเมื่อปิดตู้คอนเทนเนอร์และปิดผนึกตู้หรือซีลตู้ซึ่งเป็นหน้าที่ของนายพจน์ นายพจน์จะไม่ตรวจสอบอีกครั้งหรือว่าลักษณะการบรรจุสินค้าผ้าในตู้คอนเทนเนอร์เป็นเช่นใดถ้ามีการบรรจุสินค้าผ้าเพียง 71 ม้วนจริงนายพจน์ย่อมต้องทราบดีในขณะที่ปิดตู้และซีลตู้ จึงไม่เชื่อว่าจะมีการบรรจุสินค้าผ้าเพียง71 ม้วนมาแต่แรก ส่วนที่ว่าสินค้าผ้าดังกล่าวได้สูญหายไประหว่างการขนส่งของจำเลยหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าผ้ามาถึงที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้วก็ได้มีการเปิดตู้ดูสินค้า นายนิพนธ์ สุวรรณเปี่ยม สารวัตรศุลกากร ผู้ทำหน้าที่เปิดดวงตราหรือเปิดซีล พยานโจทก์เบิกความว่า หากดูไม่ละเอียดจะเห็นว่าซีลและสภาพตู้ในขณะนั้นอยู่ในสภาพที่เรียบร้อย แต่ถ้าพิจารณาตัวซีลอีกจะเห็นแถบเหล็กที่เป็นซีลมีรอยยับ ส่วนหัวซีลมีรอยถูกบีบด้วยของมีคม และเมื่อทดลองจับซีลโยกดูปรากฏว่าโยกเยกได้ผิดจากปกติ ทั้งนายนิพนธ์ได้ให้ความเห็นว่าได้มีการเปิดซีลที่ผนึกตู้มาก่อนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งมาแล้ว และในการตรวจซีลนี้พยานได้ทำบันทึกเสนอผู้อำนวยการกองตรวจสินค้าขาออกตามเอกสารหมาย จ.21นอกจากนี้ร้อยตรีเสริญ สุนทรชาติ ผู้อำนวยการกองตรวจสินค้าขาออกในขณะเกิดเหตุ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า ได้ตรวจดูซีลดังกล่าวด้วย ปรากฏว่ามีลักษณะบุบสลายทั้งมีรอยถูกบีบและเปิดซีลมาก่อนแล้ว นายนิพนธ์ และร้อยตรีเสริญ ต่างเป็นเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเบิกความถึงกิจการในหน้าที่ของตนและไม่มีสาเหตุกับจำเลยทั้งสองมาก่อน ข้อระแวงสงสัยว่าจะเบิกความเพื่อกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยทั้งสองจึงไม่มี ทั้งคดีได้ความว่านายณรงค์ ปอประสิทธิ์ลูกจ้างของจำเลยเป็นผู้ขับรถเทรลเลอร์ไปพ่วงลากตู้คอนเทนเนอร์พิพาทตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ในวันเกิดเหตุก็มีข้อพิรุธหลายประการกล่าวคือ ประการแรก เดินทางมาถึงล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นถึงสองชั่วโมงโดยออกจากโกดังเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2525 เวลาประมาณ14 นาฬิกา ตามปกติจะไปถึงการท่าเรือกรุงเทพมหานครเวลาประมาณ16 นาฬิกา แต่ปรากฏว่ารถยนต์ดังกล่าวไปถึงเวลาประมาณ 19 นาฬิกาจะอ้างว่าจราจรติดขัดและเครื่องยนต์เดินไม่สะดวกก็ไม่น่าเชื่อเพราะรถเทรลเลอร์ที่ใช้ลากจูงจะต้องได้รับการตรวจสอบสภาพของรถให้พร้อมที่จะใช้งานได้ หากบกพร่องจริงในช่วงเดินทางไปนายณรงค์ก็จะต้องทราบดี นอกจากนี้หากบรรจุสินค้าไม่เต็มตู้นายณรงค์ก็น่าจะทราบได้ทันทีเพราะมีประสบการณ์ในการขับรถลากจูงมาก่อนดังที่นายณรงค์ ถ้ำแก้ว พนักงานขับรถที่เพิ่งจะมาขับเปลี่ยนกับนายณรงค์ในช่วงหลังสามารถบอกได้ทันทีว่าตู้คอนเทนเนอร์เบา ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองคงมีแต่พยานบุคคลมาเบิกความ อ้างว่าในระหว่างลากตู้สินค้ามาสินค้าผ้าดังกล่าวไม่ได้สูญหายเท่านั้นพยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าได้มีการบรรจุสินค้าผ้าจำนวน 1,149ม้วนลงในตู้บรรจุสินค้าดังกล่าว และสินค้าผ้าจำนวน 1,078 ม้วนได้สูญหายไปขณะอยู่ในความรับผิดของจำเลยทั้งสอง การสูญหายดังกล่าวก็มิได้เกิดขึ้น เนื่องจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่สภาพแห่งสินค้านั้นเองหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง จำเลยทั้งสองในฐานะผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด ผู้ส่ง ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีก
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่าเนื่องจากบริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย)จำกัด มิได้บรรจุสินค้าผ้าลงในตู้บรรจุสินค้าให้ถูกต้อง สินค้าผ้ามิได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่งของจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด และไม่มีสิทธิที่จะรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด ได้บรรจุสินค้าผ้าลงในตู้บรรจุสินค้าครบถ้วนแล้ว และสินค้าผ้าได้สูญหายไปในระหว่างที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยทั้งสองดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วและทั้งโจทก์ได้ใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด ตามกรมธรรม์ประกันภัยไปแล้วเป็นจำนวนเงิน 2,191,262.54 บาท และบริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด ได้รับเงินจำนวนนี้ไว้ถูกต้องแล้วตามเอกสารหมาย จ.22 และ จ.23 ดังนั้นโจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด ผู้เอาประกันภัยมาฟ้องร้องจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 ทั้งบริษัทลักกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด ก็ได้โอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ให้โจทก์แล้ว ตามเอกสารหมาย จ.24 ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share