แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เบิกความสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 โทรศัพท์มาหาจำเลยที่ 2 บอกให้ไปรับของที่ตลาดบ้านนาอ้อให้จำเลยที่ 3 เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ให้การชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจไม่ได้เกิดขึ้นจากการบังคับขู่เข็ญ ทั้งคำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวมิได้เป็นเรื่องปัดความผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ซัดทอดให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียว คงเป็นการแจ้งเรื่องราวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการกระทำความผิดของตนยิ่งกว่าการปรักปรำกลั่นแกล้งจำเลยที่ 3 แม้คำให้การของจำเลยที่ 2 เป็นคำซัดทอด แต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 โดยจะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ได้ต่อเมื่อมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษ หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ร้อยตำรวจโท ว. เบิกความว่า พยานได้ตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีการโทรศัพท์ติดต่อกัน โดยวันเกิดเหตุก่อนถูกจับกุม จำเลยที่ 2 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 3 รวม 6 ครั้ง และจำเลยที่ 3 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 2 รวม 2 ครั้ง แม้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 โทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องใด และพันตำรวจโท พ. กับพวกไม่ได้ยินคำพูดของจำเลยที่ 2 ขณะพูดโทรศัพท์กับจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่ตามข้อมูลการใช้โทรศัพท์ก็ระบุว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้โทรศัพท์ติดต่อกันซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่พันตำรวจโท พ. กับพวกให้จำเลยที่ 2 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 3 เพื่อให้ไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลาง หากจำเลยที่ 3 มิใช่ผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดังที่จำเลยที่ 2 ให้การไว้ในชั้นสอบสวน ก็ไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 2 จะโทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 3 ในช่วงเวลานั้น เชื่อว่าจำเลยที่ 3 ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลางจริง จึงทำให้คำซัดทอดของจำเลยที่ 2 ประกอบไปด้วยเหตุผลและรับฟังเป็นความจริงได้ เป็นพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือในการพิสูจน์ความจริง คำซัดทอดของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคำซัดทอดที่มีเหตุผลอันหนักแน่นอันควรแก่การเชื่อถือ และรับฟังได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 6 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วจำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นปฏิเสธ
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 วรรคสอง และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1) จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 16 ปี และปรับคนละ 900,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง และจำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี และปรับ 450,000 บาท จำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี 8 เดือน และปรับ 600,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยที่ 3 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 10 ปี 8 เดือน และปรับ 600,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2557 เวลา 15.30 นาฬิกา พันตำรวจโทไพโรจน์ ร้อยตำรวจตรีเวศ ร้อยตำรวจโทอำนาจ ร้อยตำรวจโทพงศ์พิพัฒน์ กับพวก เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรโพนทอง จับกุมจำเลยที่ 1 ได้ พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 998 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 91.987 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 15.059 กรัม ตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง เป็นของกลาง โดยจำเลยที่ 1 ให้การว่า จะนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งรออยู่ที่ตลาดนาอ้อ พันตำรวจโทไพโรจน์กับพวกจึงให้จำเลยที่ 1 โทรศัพท์หาจำเลยที่ 2 แจ้งว่าจะรออยู่ที่ศาลาที่พักผู้โดยสารข้างตลาดนาอ้อ ต่อมาจำเลยที่ 2 มายังบริเวณดังกล่าว ขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังยื่นเมทแอมเฟตามีนของกลางให้จำเลยที่ 2 พันตำรวจโทไพโรจน์กับพวกจึงเข้าจับกุมจำเลยที่ 2 พร้อมยึดได้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 2314 7765 เป็นของกลาง จำเลยที่ 2 ให้การว่าจะนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปให้ผู้ว่าจ้าง โดยได้รับค่าจ้าง 20,000 บาท พันตำรวจโทไพโรจน์กับพวกจึงให้จำเลยที่ 2 โทรศัพท์ให้ผู้ว่าจ้างมารับเมทแอมเฟตามีนที่ไร่มันสำปะหลังบ้านนาแขม ตำบลนาแขม อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย แต่ผู้ว่าจ้างไม่มารับ ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2557 พันตำรวจโทไพโรจน์กับพวกจับกุมจำเลยที่ 3 ได้พร้อมยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข 08 2852 2822 เป็นของกลาง คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งเมทแอมเฟตามีน ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานก่อให้ผู้อื่นมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เกิดจากการบังคับขู่เข็ญเป็นพยานหลักฐานที่มิได้เกิดขึ้น โดยสมัครใจและเป็นพยานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ทั้งมีลักษณะเป็นคำซัดทอด ซึ่งศาลจะต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง รายการการใช้โทรศัพท์ของจำเลยที่ 3 และที่ 2 นำมารับฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 3 ไม่ได้เพราะไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 3 โทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามฟ้อง และพันตำรวจโทไพโรจน์กับพวกก็ไม่ได้ยินคำพูดของจำเลยที่ 2 ขณะพูดโทรศัพท์ คำเบิกความของพยานโจทก์มีพิรุธผิดวิสัยไม่ให้จำเลยที่ 2 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งมอบให้ผู้ว่าจ้างที่บ้านหรือวางแผนจับกุมผู้ว่าจ้างที่บ้าน เพื่อเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานที่พิสูจน์ความผิด และจับกุมจำเลยที่ 3 หลังเกิดเหตุกว่า 12 วันนั้น เห็นว่า พันตำรวจโทไพโรจน์กับพวกจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง โดยจำเลยที่ 1 ให้การว่าจะนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งรออยู่ที่ตลาดนาอ้อ พันตำรวจโทไพโรจน์กับพวกจึงให้จำเลยที่ 1 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 2 เพื่อมารับเมทแอมเฟตามีนของกลาง ต่อมาจับกุมจำเลยที่ 2 ซึ่งมารับเมทแอมเฟตามีนของกลางได้ โดยจำเลยที่ 2 ให้การว่าจะนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปให้ผู้ว่าจ้าง โดยได้รับค่าจ้าง 20,000 บาท ดังนี้ การที่พันตำรวจโทไพโรจน์กับพวกให้จำเลยที่ 2 โทรศัพท์ให้ผู้ว่าจ้างมารับเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ไร่มันสำปะหลังบ้านนาแขม ถือได้ว่าเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งการแสวงหาพยานหลักฐานดังกล่าวมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุม กรณีไม่จำเป็นต้องดำเนินการดังเช่นที่จำเลยที่ 3 ฎีกาก็ได้ ทั้งร้อยตำรวจโทวีระชัย พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า พยานได้รวบรวมพยานหลักฐานและเสนอศาลชั้นต้นขออนุมัติหมายจับจำเลยที่ 3 ดังนี้ การที่พันตำรวจโทไพโรจน์กับพวกจับกุมจำเลยที่ 3 หลังเกิดเหตุนานถึง 12 วัน จึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากการรวบรวมพยานหลักฐานและขออนุมัติหมายจับจากศาลชั้นต้นของพนักงานสอบสวน คำเบิกความของพยานโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนไม่เป็นการผิดวิสัยจนถึงเป็นพิรุธ ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2557 จำเลยที่ 2 ให้การชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2557 เวลา 15.30 นาฬิกา จำเลยที่ 3 มาหาจำเลยที่ 2 ที่บ้านโดยบอกให้ไปรับเมทแอมเฟตามีนจากนางจอม คนลาว ที่นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งให้ที่ศาลาหน้าตลาดนาอ้อ โดยจะให้ค่าจ้างเป็นเงิน 20,000 บาท อันเป็นการให้การหลังจากที่จำเลยที่ 2 ถูกจับกุมเพียง 1 วัน ซึ่งจำเลยที่ 2 ยังไม่มีเวลาคิดไตร่ตรองบิดเบือนข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น ทั้งการสอบสวนจำเลยที่ 2 ดังกล่าวก็มีนายกิตติพันธุ์ ทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวนจำเลยที่ 2 ด้วย ประกอบร้อยตำรวจโทวีระชัยเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถามค้านว่า พยานสอบปากคำจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ต้องหาและในฐานะพยานตามบันทึกคำให้การ กับได้ให้จำเลยที่ 2 อ่านข้อความในบันทึกคำให้การทั้งสองฉบับก่อนและพยานได้อ่านให้ฟังด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 รับว่าถูกต้องจึงได้ลงชื่อไว้ และจำเลยที่ 2 ก็เบิกความสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนว่า วันเกิดเหตุเวลา 15.30 นาฬิกา จำเลยที่ 3 โทรศัพท์มาหาจำเลยที่ 2 บอกให้จำเลยที่ 2 ไปรับของที่ตลาดบ้านนาอ้อให้จำเลยที่ 3 เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ให้การในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การด้วยความสมัครใจไม่ได้เกิดขึ้นจากการบังคับขู่เข็ญแต่อย่างใด ทั้งคำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวมิได้เป็นเรื่องปัดความผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ซัดทอดให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียว คงเป็นการแจ้งเรื่องราวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการกระทำความผิดของตนยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำกลั่นแกล้งจำเลยที่ 3 แม้คำให้การของจำเลยที่ 2 เป็นคำซัดทอด แต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 โดยจะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ได้ต่อเมื่อมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษ หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ร้อยตำรวจโทวีระชัยเบิกความว่า พยานได้ตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีการโทรศัพท์ติดต่อกัน โดยในวันที่ 13 มีนาคม 2557 จำเลยที่ 2 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 3 รวม 6 ครั้ง และจำเลยที่ 3 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 2 รวม 2 ครั้ง เมื่อเวลา 8.50 นาฬิกา และ 15.42 นาฬิกา ตามข้อมูลการใช้โทรศัพท์ แม้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 โทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องใด และพันตำรวจโทไพโรจน์กับพวกไม่ได้ยินคำพูดของจำเลยที่ 2 ขณะพูดโทรศัพท์กับจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่ตามข้อมูลการใช้โทรศัพท์ ระบุว่า วันเกิดเหตุในช่วงเวลา 15.41.04 ถึงช่วงเวลา 15.57.48 นาฬิกา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้โทรศัพท์ติดต่อกัน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเวลาใกล้เคียงกับที่พันตำรวจโทไพโรจน์กับพวกให้จำเลยที่ 2 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 3 เพื่อให้ไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลาง หากจำเลยที่ 3 มิใช่ผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดังที่จำเลยที่ 2 ให้การไว้ในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การแล้ว ก็ไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 2 จะโทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 3 ในช่วงเวลานั้น เชื่อว่าจำเลยที่ 3 ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลางจริง จึงทำให้คำซัดทอดของจำเลยที่ 2 ประกอบไปด้วยเหตุผลและรับฟังเป็นความจริงได้ เป็นพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือในการพิสูจน์ความจริง คำซัดทอดของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคำซัดทอดที่มีเหตุผลอันหนักแน่นอันควรแก่การเชื่อถือ และรับฟังได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ก่อให้ผู้อื่นมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน