คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5608/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกซึ่งเป็นรถกระบะบรรทุกไม่ประจำทางบรรทุกไม้แปรรูปอันเป็นการขนส่งของจำเลยที่ 3 ผู้เช่าซื้อรถ จึงเชื่อ ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถดังกล่าวและจำเลยที่ 2เป็นผู้ประกอบการขนส่งอันเป็นการร่วมกิจการกับจำเลยที่ 3 ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 3 ด้วย ค่ารักษาพยาบาลอันเป็นค่าเสียหายฐานละเมิดนั้น แม้ทางราชการจะจ่ายแทนโจทก์ไปแล้วก็ตาม แต่ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยโจทก์จึงยังมีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยผู้ต้องรับผิดฐานละเมิดได้และปัญหาว่าโจทก์เสียหายเพราะการกระทำละเมิดเพียงใด แม้ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย เมื่อโจทก์จำเลยต่างนำสืบประเด็นข้อนี้ไว้แล้วก็ไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอีก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องอย่างคนอนาถาว่า จำเลยที่ 1 ได้ขับขี่รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบีบน พบ 70-0086 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ด้วยความประมาททำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์และไม่ใช่นายจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มิได้ขับขี่รถยด้วยความประมาท เหตุเกิดเพราะความประมาทของโจทก์จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เป็นเงิน 82,780 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อไปนับแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2523 จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยขับขี่รถโดยประมาทกระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ววินิจฉัยว่า “…ส่วนปัญหาว่าโจทก์เสียหายเพียงใดนั้นศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ แต่เมื่อโจทก์จำเลยต่างนำสืบประเด็นข้อนี้ไว้แล้ว ก็ไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอีก ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปทีเดียวโจทก์ฎีกาว่า ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสงขลา เป็นเงิน 9,700 บาทมีแพทย์หญิงสายทอง มโนมัยอุดม ผู้อำนวยการโรงพยาลสงขลา พยานโจทก์เบิกความว่า โจทก์เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลาเนื่องจากอุบัติเหตุตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2523 ถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2523รวมค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 9,780 บาท ได้เบิกเงินจากทางราชการแล้วโดยโจทก์ไม่ต้องจ่ายเงิน ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ค่ารักษาพยาบาลอันเป็นค่าเสียหายฐานละเมิดนั้น แม้ทางราชการจะจ่ายแทนโจทก์ไปแล้ว แต่ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลย โจทก์จึงยังมีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยผู้ต้องรับผิดฐานละเมิดได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2455/2519 ระหว่าง จ่าสิบเอกประสิทธิ์ กิสศิลป์โจทก์ บริษัทศิริมิตร จำกัด กับพวก จำเลย จึงกำหนดค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์เป็นเงิน 9,700 บาท ตามที่ขอมาในฎีกา ส่วนค่าพยาบาลเฝ้าไข้นั้น ได้ความว่าโจทก์ได้รับบาดเจ็บสลบไปมารู้สึกตัวที่โรงพยาบาลสงขลาประมาณ 20 วันเศษ หลังเกิดเหตุมีนางนงเยาว์ วัฒนชนม์ มารดาโจทก์ พยานโจทก์เบิกความว่า โจทก์สลบอยู่ที่โรงพยาบาลสงขลา 20 วัน จึงได้จ้างพยาบาลพิเศษเฝ้าไข้คืนละ 300 บาท เป็นเวลา 20 วัน เป็นเงิน 6,000 บาท เห็นว่าค่าจ้างพยาบาลเฝ้าไข้ดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่จำเป็นและมีจำนวนไม่เกินสมควร โจทก์จึงเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ ส่วนค่าทำศัลยกรรมตกแต่งกะโหลกศีรษะเป็นเงิน 20,000 บาทนั้น…สมควรกำหนด…ให้โจทก์เป็นเงิน 20,000 บาท… ที่โจทก์เรียกร้องค่าหลอดเสียงเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท นั้น… เห็นว่า พยานโจทก์…ยังไม่ชัดแจ้งว่าหลอดเสียงของโจทก์เสียจนถึงขนาดจะต้องได้รับการผ่าตัดจากนายแพทย์ จึงไม่คิดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ ส่วนที่โจทก์เรียกร้องค่าสมองและสิตปัญญาเสื่อมถอย กับค่าขาดบุคลิกภาพในร่างกายและขาดความก้าวหน้าในราชการเป็นเงิน 114,220 บามนั้น…ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า สมองและสติปัญญาโจทก์เสื่อมถอยลง โจทก์จึงควรได้รับค่าเสียหายส่วนนี้โดยคิดรวมไปกับค่าเสียหายที่โจทก์สูญเสียความสามารถและประกอบการงานในภายหน้า… ค่าเสียหายสองรายการนี้สมควรกำหนดให้โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์เป็นเงิน 135,700 บาท
ที่จำเลยที่ 3 แก้ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยทั้งสี่นั้น ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ประกอบหนังสือของขนส่งจังหวัดเพชรบุรี ที่ พบ.10/ท 0522 ลงวันที่23 เมษายน 2524 เอกสารหมาย จ.1 ว่า รถบรรทุกคันหมายเลขทะเบียนพบ. 70-0086 เป็นรถกระบะบรรทุกไม่ประจำทาง ผู้ประกอบการขนส่งชื่อ ห้างหุ้นส่วนจำกัดจงสงวนขนส่ง (จำเลยที่ 2) นายสมปอง รักดี(จำเลยที่ 3) เป็นผู้เช่าซื้อ และห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยรัชการ(ก๋วยหมงกี่) (จำเลยที่ 4) เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ซึ่งจำเลยที่ 3แถลงรับว่าขนส่งจังหวัดเพชรบุรีได้ทำเอกสารหมาย จ.1 ไว้จริงจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกคันดังกล่าวบรรทุกไว้แปรรูปเต็มคันรถในคืนเกิดเหตุออกจากถนนสายสงขลา-นาทวี จะไปยังอำเภอหาดใหญ่ อันเป็นการขนส่งของจำเลยที่ 3 จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถคันดังกล่าว และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบการขนส่งอันเป็นการร่วมกิจการกับจำเลยที่ 3 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 4และ จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 3 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 135,700 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2523 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับยกเว้นให้ฟ้องคดีอย่างคนอนาถานั้น ให้จำเลยทั้งสี่ชำระต่อศาลในนามของโจทก์”.

Share