คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5607/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยมีข้อมูลในการพิจารณาปฏิบัติงานของโจทก์พอสมควรอยู่แล้ว แม้ไม่มีการสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จำเลยก็สามารถพิจารณาว่ามีเหตุสมควรเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ได้ การสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นเพียงแสวงหาข้อเท็จจริงซึ่งทำให้จำเลยมีข้อมูลในการพิจารณามากขึ้นเท่านั้น การตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแม้จะปฏิบัติไม่ถูกต้องและเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลย ก็ไม่เป็นเหตุที่จะมีคำสั่งเลิกจ้างไม่ได้ เพราะการสั่งเลิกจ้างเป็นการใช้อำนาจบริหารโดยอาศัยข้อบังคับจำเลย ว่าด้วยเรื่องการบรรจุ การแต่งตั้ง การเรียกประกัน การเลื่อนเงินเดือนและการถอดถอนสำหรับพนักงานตามข้อบัง 20 (2) ไม่ใช่กรณีมีคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องวินัย เมื่อโจทก์บกพร่องในการปฏิบัติงาน ประกอบกับโจทก์เคยมีประวัติถูกตัดเตือนเรื่องการดำเนินงานมาแล้ว การที่จำเลยพิจารณารายงานการสอบสวนโจทก์แล้วเห็นว่าไม่อาจไว้วางใจโจทก์ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และมีคำสั่งเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้จึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ครั้งสุดท้ายดำรงตำแหน่งนักบริหาร 12 ต่อมาจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานโดยอ้างเหตุว่ากระทำผิดวินัยตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 9 ฐานจงใจไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง แบบแผน และวิธีปฏิบัติของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่การดำเนินงานของ สกต. ร้อยเอ็ด จำกัด และ สกต. ขอนแก่น จำกัด และเสื่อมเสียชื่อเสียงของธนาคาร จำเลยที่ 1 จึงให้ลงโทษโจทก์ให้ออกโดยกล่าวหาว่าในขณะโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาระดับจังหวัดร้อยเอ็ด สั่งการให้สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. ร้อยเอ็ด จำกัด ซื้อปุ๋ยมาจำหน่ายเกินความจำเป็นทำให้ปุ๋ยคงเหลือคิดเป็นมูลค่าหลายล้านบาทและกล่าวหาว่าในขณะโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาระดับจังหวัดขอนแก่น ดำเนินการให้สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. ขอนแก่น จำกัด สั่งซื้อเครื่องขนต์ดีเซลยี่ห้อมิตซูบิชิมาจำหน่ายเกินความจำเป็น ทำให้มีเครื่องยนต์ค้างสต๊อกจำนวนมาก โจทก์อุทธรณ์คำสั่งลงโทษโจทก์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มีความเห็นเพิกถอนคำสั่งลงโทษโจทก์จากให้ออกเป็นลงโทษลดขั้นเงินเดือน 2 ขั้นแก่โจทก์แทนแต่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารจำเลยที่ 1 ไม่พิจารณาผลการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์ดังกล่าวและมีคำสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมโจทก์อีกโดยเพิ่มประเด็นการรับค่าส่งเสริมการขาย (ทองคำ) จากบริษัทไทยธุรกิจเกษตร จำกัด แล้วไม่ส่งมอบแก่สหกรณ์ ฯ ในเวลาอันควรนำมาประกอบกับประวัติทางวินัยของโจทก์ ที่อ้างว่าโจทก์เคยถูกจำเลยที่ 1 ตักเตือน 2 ครั้ง เพื่อนำมาลงโทษโจทก์ให้หนักขึ้น ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 หยิบยกมาอ้างนั้นไม่มีหลักฐานและไม่สามารถชี้ชัดว่าโจทก์กระทำผิดวินัยแต่ประการใด แต่จำเลยทั้งสองอาศัยข้ออ้างว่าโจทก์เคยถูกจำเลยที่ 1 ตักเตือนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ สกต. ทั้งสองแห่ง และมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้ออกแก่โจทก์โดยให้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ ซึ่งเป็นการออกคำสั่งกลั่นแกล้งโจทก์และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีคำสั่งสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกรณีของ สกต. ร้อยเอ็ด จำกัด และ สกต. ขอนแก่น จำกัด โดยอ้างว่าโจทก์ไม่สำรวจความต้องการของเกษตรกร ก่อนสั่งสินค้าปุ๋ยเป็นเหตุให้มีการสั่งซื้อปุ๋ยมากเกินความจำเป็นซึ่งไม่เป็นความจริงเพราะก่อนซื้อปุ๋ยของสหกรณ์จะมีการสำรวจความต้องการของเกษตรกรก่อนเสมอ แต่เนื่องจากการสั่งปุ๋ยจะต้องสั่งล่วงหน้าเป็นเวลานาน ดังนั้น เมื่อในปีดังกล่าวเกิดภาวะฝนแล้งเป็นอย่างมากประกอบกับจำเลยที่ 1 ได้รับจัดสรรปุ๋ยจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำนวนมาก และมีปุ๋ยตามโครงการผสมเองของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนและกำหนดให้จำหน่ายแก่เกษตรกรก่อนปุ๋ยของสหกรณ์ หากไม่กำหนดให้จัดจำหน่ายปุ๋ยจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และปุ๋ยตามโครงการผสมเองแล้ว ปุ๋ยของสหกรณ์ก็จะจำหน่ายได้หมดอย่างแน่นอน สำหรับการสั่งซื้อเครื่องยนต์ดีเซลมิตซูบิชินั้น โจทก์ในฐานะผู้จัดการสหกรณ์มีหน้าที่เป็นเพียงผู้นำเสนอรายละเอียดของบริษัทมิตซูบิชิต่อคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ขอนแก่น จำกัด เท่านั้น การพิจารณาเงื่อนไขด้านราคา ศูนย์บริการและการลงมติสั่งซื้อเครื่องยนต์ดังกล่าวล้วนเป็นอำนาจของคณะกรรมการดำเนินการทั้งสิ้น แต่ปัญหาเกิดจากร้านค้าท้องถิ่นลดราคาลงต่ำกว่าของสหกรณ์ โดยมีเงื่อนไขการส่งมอบและการชำระราคาที่ดีกว่า จึงจำหน่ายไม่หมด สำหรับกรณีการรับค่าส่งเสริมการขาย (ทองคำ) แล้วไม่แจ้งคณะกรรมการสหกรณ์ทราบนั้น โจทก์ไม่ทราบและจำไม่ได้เกี่ยวกับค่าส่งเสริมการขายดังกล่าวการสันนิษฐานว่าโจทก์ได้รับมอบทองคำในวันดังกล่าว จึงเป็นการไม่เป็นธรรมกับโจทก์และเป็นการสันนิษฐานที่มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ข้อบังคับธนาคารจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 19 ข้อ 14 วรรคสองระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่าการอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุให้รอการลงโทษตามคำสั่งผู้จัดการและวรรคท้ายยังได้ระบุไว้ว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นอันถึงที่สุดแต่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กลับมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมขึ้นอีก ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับธนาคารจำเลยที่ 1 และเป็นการไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ และการนำเอาประวัติทางวินัยที่ถูกจำเลยที่ 1 ตักเตือน 2 ครั้งมาใช้ประกอบการพิจารณาลงโทษโจทก์โดยไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งโจทก์ออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ให้แก่โจทก์ โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงินเดือนที่โจทก์พึงจะได้รับนับแต่วันที่โจทก์ถูกเลิกจ้างจนถึงวันเกษียณอายุเป็นเวลา 88 เดือน คิดจากอัตราเงินเดือนเดือนสุดท้าย 49,910 บาท และเพิ่มอัตราส่วนเปอร์เซ็นต์เงินเดือนร้อยละ 5 ของทุกปี เงินโบนัสทำงานนับตั้งแต่ปีบัญชี 2540 ถึงปีบัญชี 2545 เงินสวัสดิการต่าง ๆ อันเป็นสภาพการจ้าง เป็นเงิน 40,500 บาท การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ต้องทนทุกข์เวทนาทั้งทางร่างกายและสภาพจิตใจอย่างสาหัสคิดเป็นค่าเสียหาย 3,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยให้ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งงานที่ไม่ต่ำกว่าเดิม อัตราค่าจ้างและสวัสดิการไม่ต่ำกว่าเดิมพร้อมทั้งนับอายุงานต่อเนื่องให้โจทก์เสมือนไม่มีการเลิกจ้าง หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถรับโจทก์เข้าทำงานได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าเสียหายรวมเป็นเงินจำนวน 9,618,366 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เป็นอดีตลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จริง จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ออกแก่โจทก์จากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 เนื่องจากขณะโจทก์ปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้จัดการสาขาระดับจังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ทำหน้าที่ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส ร้อยเอ็ด จำกัด (สกต. ร้อยเอ็ด จำกัด) และขณะปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้จัดการสาขาระดับจังหวัดขอนแก่นซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ทำหน้าที่ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. ขอนแก่น จำกัด มิได้ปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือกำกับแนะนำและดูแลรักษาผลประโยชน์ให้แก่สมาชิกซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารอย่างแท้จริง ขาดความรอบคอบไม่เป็นไปตามวิธีปฏิบัติของธนาคารและสหกรณ์ทั้งสอง ทำให้เกิดความเสียหายโดยสั่งการให้ สกต. ร้อยเอ็ด จำกัด สั่งซื้อปุ๋ยมาจำหน่ายมากเกินความจำเป็นและดำเนินการสั่งซื้อเครื่องยนต์ดีเซลในนามของ สกต. ขอนแก่น จำกัด เกินความจำเป็น โดยไม่ปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติของธนาคารและ สกต. ทำให้เครื่องยนต์ดีเซลค้างสต๊อกจำนวนมาก ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษให้ออกของจำเลยที่ 1 ซึ่งคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการร์ของโจทก์แม้จะไม่สามารถชี้ชัดว่าโจทก์กระทำผิดวินัย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการรับค่าส่งเสริมการขายของ สกต. อื่นที่อยู่ใกล้เคียงกัน เห็นว่า การดำเนินการของโจทก์ไม่สามารถเชื่อได้โดยสนิทในความสุจริตของโจทก์ ประกอบกับพฤติกรรมของโจทก์ที่เคยถูกจำเลยที่ 1 ตักเตือนก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ สกต. ทั้งสองครั้ง จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจไว้วางใจให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ จึงให้เพิกถอนคำสั่งให้ออกแก่โจทก์และให้มีคำสั่งเลิกจ้างแก่โจทก์แทน การเลิกจ้างโจทก์เป็นธรรมแล้วโดยปฏิบัติตามขั้นตอน ระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายตามฟ้องจากจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 4 ข้อ 20 (2) ตามเอกสารหมาย ล.12 ซึ่งตามข้อบังคับดังกล่าวระบุไว้ว่า “ผู้จัดการมีอำนาจเลิกจ้างพนักงานได้ ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) …(2) เมื่อมีเหตุอันสมควรซึ่งผู้จัดการเห็นว่าผู้นั้นหย่อนสมรรถภาพในการปฏิบัติงานหรือมีความบกพร่องในการปฏิบัติงานอยู่เนือง ๆ หรือไม่อาจไว้วางใจให้ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้” ตามข้อเท็จจริงโจทก์ถูกสอบสวน ซึ่งต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีความเห็นสรุปได้ว่า โจทก์เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากธนาคารให้ทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ สกต. ร้อยเอ็ด จำกัด และ สกต. ขอนแก่น จำกัด ได้ปฏิบัติบกพร่องต่อหน้าที่ในฐานะผู้จัดการ สกต. ทั้งสองแห่ง จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีข้อมูลในการพิจารณาการปฏิบัติงานของโจทก์พอสมควรอยู่แล้ว แม้ไม่มีการสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ก็สามารถพิจารณาว่ามีเหตุสมควรเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ได้ การสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นเพียงแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีข้อมูลในการพิจารณามากขึ้นเท่านั้น การตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังกล่าวแม้จะปฏิบัติไม่ถูกต้องและเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ก็ไม่เป็นเหตุที่จะมีคำสั่งเลิกจ้างไม่ได้ เพราะการสั่งเลิกจ้างเป็นการใช้อำนาจบริหาร โดยอาศัยข้อบังคับจำเลยที่ 1 ว่าด้วยเรื่องการบรรจุ การแต่งตั้ง การเรียกประกัน การเลื่อนเงินเดือนและการถอดถอนสำหรับพนักงานตามข้อบังคับข้อ 20 (2) ไม่ใช่กรณีมีคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องวินัย เมื่อตามข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์บกพร่องในการปฏิบัติงานในฐานะผู้จัดการของ สกต. ทั้งสองแห่ง ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ก็วินิจฉัยไว้เช่นนั้น ประกอบกับโจทก์เคยมีประวัติถูกตักเตือนเรื่องการดำเนินงานของ สกต. มาแล้ว การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 พิจารณารายงานการสอบสวนโจทก์แล้วเห็นว่าไม่อาจไว้วางใจโจทก์ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และมีคำสั่งให้เลิกจ้างโจทก์ถือได้ว่ามีเหตุสมควรในการสั่งเลิกจ้างโจทก์ คำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยยอมจ่ายค่าชดเชยให้ จึงไม่ใช่คำสั่งเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share