คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5212/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมที่ 2 เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่า ได้นำข้อความในเนื้อหาสาระสำคัญของหนังสือเรื่อง “อโรคยา” และเรื่อง “ล้างพิษ” ทั้งได้นำความรู้จากหนังสือเรื่อง “น้ำมันปลา น้ำมันลดไขมัน” ของโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้ง 3 เล่ม มาลงในหนังสือเรื่อง “เบื่อหมอ เบื่อยา หันหาธรรมชาติบำบัด วิถีสุขภาพแนวใหม่” เพื่อถ่ายทอดให้ประชาชนทราบด้วย ในฐานะที่โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นบรรณาธิการหนังสือของโจทก์ร่วมที่ 1 จึงนำมาลงในหนังสือของโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นบรรณาธิการหนังสือของโจทก์ร่วมที่ 1 จึงนำมาลงในหนังสือของโจทก์ร่วมที่ 2 หนังสือทั้ง 4 เล่มของโจทก์ร่วมทั้งสองดังกล่าวมีเนื้อหาที่ได้แปลมาจากวรรณกรรมภาษาต่างประเทศของเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งได้รับควมคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯ มาตรา 42 ประกอบ พ.ร.ฎ.เงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 5 ผู้แปลและโจทก์ร่วมทั้งสองผู้รับโอนงานแปลต่างไม่ได้ขออนุญาตในการแปลจากเจ้าของลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเลย จึงเป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแต่อย่างใด การที่โจทก์อ้างว่าขณะแปลยังไม่มี พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯ เพราะหนังสือทั้ง 4 เล่มดังกล่าวได้ตีพิมพ์เผยแพร่ก่อนปี 2537 ทุกเล่มแล้ว ต่อมาหลัง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ประกาศใช้บังคับ โจทก์ร่วมทั้งสองได้ติดต่อสำนักพิมพ์เจ้าของลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเพื่อจ่ายค่าลิขสิทธิ์ แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ จึงยังไม่ได้รับอนุญาตหรือจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แก่สำนักพิมพ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมภาษาต่างประเทศ เท่ากับแสดงว่าโจทก์ร่วมทั้งสองทราบดีอยู่แล้วว่า ผู้แปลหนังสือต่างประเทศที่มีเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นภาษาไทยยังไม่ได้รับอนุญาตหรือจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เจ้าของลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมภาษาต่างประเทศ โจทก์ร่วมทั้งสองผู้รับโอนจึงไม่มีสิทธิในงานแปลดังกล่าวดีกว่าผู้โอนและไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือทั้ง 4 เล่ม ดังนี้ โจทก์ร่วมทั้งสองย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 17, 27, 31, 69, 70, 75 และ 76 และสั่งให้ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ กับสั่งจ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทรวมทรรศน์ จำกัด ผู้เสียหายที่ 1 และนายแพทย์บรรจบ ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต โดยเรียกผู้เสียหายที่ 1 ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 และเรียกผู้เสียหายที่ 2 ว่าโจทก์ร่วมที่ 2
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง และมาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเกิดจากเจตนาเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษปรับ 600,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบหนังสือของกลางเรื่อง “อาหารรักษาโรค”, เรื่อง “อาหารต้านโรคเสื่อม”, เรื่อง “วิถีดูแลตนเองแบบธรรมชาติ”, เรื่อง “การล้างพิษโดยวิธีธรรมชาติ” เรื่อง “พลังแห่งการรักษาของธรรมชาติ”, และเรื่อง “ธรรมชาติบำบัด 1” รวม 6 เล่ม กับให้จ่ายค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า บริษัทรวมทรรศน์ จำกัด โจทก์ร่วมที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายแพทย์บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมที่ 1 ตามหนังสือรับรอง เอกสารหมาย จ. 1 โจทก์ร่วมที่ 2 จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี 2516 เคยไปศึกษาวิชาเวชกรรมฝังเข็ม ที่สถาบันแพทยศาสตร์ ตงจื่อหมิน ตั้งอยู่นครปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เคยไปศึกษาดูงานด้านธรรมชาติบำบัดที่สถาบัน Ana Aslan ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองดอร์ทมุน ประเทศสหพันธรัฐเยอรมนี และที่สถาบัน Aeskulap ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งได้ศึกษาการแพทย์แผนธรรมชาติ และการแพทย์แผนไทยจากแพทย์หญิงเพ็ญนภา เมื่อปี 2526 โจทก์ร่วมที่ 2 เปิดสถานพยาบาล 3 แห่ง คือ คลีนิคคลองประปา ลลิตารวมแพทย์ และชานเมืองโพลีคลินิกซึ่งใช้ความรู้จากการแพทย์แผนปัจจุบันกับความรู้ด้านธรรมชาติบำบัดรักษาผู้ป่วยคลีนิคคลองประปาได้รับใบอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาล และใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล ประมาณต้นปี 2534 นายเรืองชัย บรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์เห็นว่าโจทก์ร่วมที่ 2 นำความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติบำบัด และการล้างพิษ มาเผยแพร่ในประเทศไทยเป็นคนแรก จึงให้โจทก์ร่วมที่ 2 เขียนบทความเป็นตอน ๆ ลงในนิตยสารดังกล่าว ตามสำเนาบทความ เอกสารหมาย จ.2 และ จ.ร.1 ต่อมาในปี 2535 โจทก์ร่วมที่ 2 ได้รวบรวมบทความในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์มาพิมพ์เป็นเล่มโดยใช้ชื่อหนังสือว่า “ธรรมชาติบำบัด วิถีสุขภาพแนวใหม่” ตามสำเนาหนังสือเรื่อง “ธรรมชาติบำบัด วิถีสุขภาพแนวใหม่ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “เบื่อหมอเบื่อยา หันหาธรรมชาติบำบัด วิถีสุขภาพแนวใหม่” โจทก์ร่วมที่ 1 มอบต้นฉบับหนังสือเรื่อง “Fish Oils Update” ให้นายแพทย์สมพงศ์ สหพงศ์ ไปทำการแปลเป็นหนังสือเรื่อง “น้ำมันปลา น้ำมันลดไขมัน” ซึ่งนายแพทย์สมพงศ์โอนลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ตามสำเนาสัญญาโอนลิขสิทธิ์ โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นบรรณาธิการหนังสือดังกล่าว และได้เขียนบทนำไว้ด้วย นอกจากนี้ โจทก์ร่วมที่ 1 มอบต้นฉบับหนังสือเรื่อง “Nature Cure for Common Diseases” และหนังสือเรื่อง “10 Day Clean-up Plan” ให้แพทย์หญิงณัฏฐา ภริยาของโจทก์ร่วมที่ 2 ไปทำการแปลเป็นหนังสือเรื่อง “อโรคยา” และเรื่อง “ล้างพิษ” โดยแพทย์หญิงณัฏฐาใช้นามปากกาว่า ปาริชาติ ซึ่งแพทย์หญิงณัฏฐาโอนลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมทั้งสองเรื่องให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ตามสำเนาสัญญาโอนลิขสิทธิ์ หนังสือเรื่อง “น้ำมันปลา น้ำมันลดไขมัน” เรื่อง “อโรคยา” เรื่อง “ล้างพิษ” เรื่อง “เบื่อหมอ เบื่อยา หันหาธรรมชาติบำบัด วิถีสุขภาพแนวใหม่” เผยแพร่ครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2534, 2532, 2534 และ 2533 ตามลำดับ ตามหนังสือเรื่อง “น้ำมันปลา น้ำมันลดไขมัน” เรื่อง “อโรคยา” เรื่อง “ล้างพิษและบัญชีแสดงวันเดือนปีที่เผยแพร่ และสถานที่ที่เผยแพร่โจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับเชิญให้ไปเผยแพร่ความรู้ในเรื่องธรรมชาติบำบัดและการล้างพิษทางสถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุต่างๆ ตามเทปรายการโทรทัศน์ และโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับเชิญให้ไปบรรยายตามหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษา ตามหนังสือเชิญ จำเลยเคยเป็นอาจารย์สอนวิชาศัลยกรรมพลาสติกในคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี แต่จำเลยไม่เคยมีชื่อเสียงในด้านธรรมชาติบำบัดและการล้างพิษ เมื่อประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2543 ถึงต้นเดือนธันวาคม 2543 โจทก์ร่วมที่ 2 พบว่ามีหนังสือของจำเลยชื่อ “อาหารรักษาโรค”, “อาหารต้านโรคเสื่อม”, “วิถีดูแลตนเองแบบธรรมชาติ”, “การล้างพิษโดยวิธีธรรมชาติ” และ “พลังแห่งการรักษาของธรรมชาติ” วางจำหน่ายที่ร้านขายหนังสือ โจทก์ร่วมที่ 2 ได้ซื้อหนังสือดังกล่าว ตามหนังสือเรื่อง “อาหารรักษาโรค”, “อาหารต้านโรคเสื่อม”, “วิถีดูแลตนเองแบบธรรมชาติ”, “การล้างพิษโดยวิธีธรรมชาติ” และ “พลังแห่งการรักษาของธรรมชาติตามลำดับ และใบเสร็จรับเงิน กับสำเนาใบส่งของ โจทก์ร่วมที่ 2 นำข้อความในหนังสือทั้ง 5 เล่ม ดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับหนังสือเรื่อง “น้ำมันปลาน้ำมันลดไขมัน” เรื่อง “อโรคยา” เรื่อง “ล้างพิษ” เรื่อง “เบื่อหมอ เบื่อยา หันหาธรรมชาติบำบัดวิถีสุขภาพแนวใหม่” ของโจทก์ร่วมทั้งสองแล้ว แบบประโยคต่อประโยค บรรทัดต่อบรรทัด คำต่อคำ และเปรียบเทียบคำว่า “ที่ ซึ่ง อัน” ปรากฏว่า เหมือนกัน ตามตารางการคัดลอกงานวรรณกรรม ทำให้โจทก์ร่วมที่ 1 เชื่อว่าจำเลยลอกเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง โจทก์ร่วมที่ 2 มอบให้นายสมชาย ทนายความของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายอินเตอร์เนท จำกัด มีหนังสือถึงจำเลยให้มาเจรจากับโจทก์ร่วมทั้งสอง ในเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ ตามหนังสือของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายอินเตอร์เนท จำกัด ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2543 และมีหนังสือไปยังผู้จัดการของสำนักพิมพ์รักสุขภาพ และสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ตามหนังสือของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายอินเตอร์เนท จำกัด ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2543 ต่อมาจำเลยไปพบโจทก์ร่วมที่ 2 ที่คลีนิคคลองประปา โดยจำเลยขอโทษโจทก์ร่วมที่ 1 และขอร้องให้โจทก์ร่วมที่ 2 ไม่เอาเรื่องจำเลย และจำเลยยอมรับว่า ไม่เคยรู้เรื่องธรรมชาติบำบัด และการล้างพิษ แต่ให้บุคคลอื่นคัดลอกบทประพันธ์ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง จำเลยขอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง โดยโจทก์ร่วมที่ 2 เรียกค่าเสียหาย จำนวน 5,000,000 บาท โดยคำนึงถึงยอดจำหน่ายหนังสือของจำเลย ในการพิมพ์ครั้งที่ 4 ซึ่งมียอดจำหน่ายถึง 993,384 บาท ตามสำเนายอดชำระเงินของบริษัทอมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด จำเลยเจรจาต่อรองโดยขอชำระเป็นหลักทรัพย์ ต่อมาจำเลยให้ทนายความส่งบันทึกข้อตกลงมาให้โจทก์ร่วมที่ 2 พร้อมแนบโฉนดที่ดินมาด้วย ตามสำเนาบันทึกข้อตกลง โจทก์ร่วมที่ 2 ตรวจดูโฉนดที่ดินแล้ว ปรากฏว่าเป็นที่ดินที่ติดจำนอง โจทก์ร่วมที่ 2 จึงไม่ยอมรับ จากนั้น จำเลยมิได้ติดต่อกับโจทก์ร่วมที่ 2 อีก เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2543 โจทก์ร่วมที่ 2 ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ ตามหนังสือร้องทุกข์ โจทก์ร่วมที่ 2 ส่งมอบหนังสือ เอกสารหมาย จ.17 ถึง จ.21 ให้แก่พนักงานสอบสวน ตามบัญชีของกลางคดีอาญา ระหว่างที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน โจทก์ร่วมที่ 2 พบหนังสือของจำเลย เรื่อง “ธรรมชาติบำบัด 1” และ “ธรรมชาติบำบัด 2” วางจำหน่าย ตามสำเนาหนังสือ เรื่อง “ธรรมชาติบำบัด 1” และ “ธรรมชาติบำบัด 2” เนื้อหาของหนังสือทั้งสองเล่มลอกเลียนมาจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง
โจทก์ร่วมทั้งสองนำสืบว่า นายไมตรี ขณะรับราชการที่คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับนางศิริวรรณ ภริยา แต่งหนังสือ “อาหารและมะเร็ง” ซึ่งพิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2527 หนังสือดังกล่าวมีการแก้ไขเพิ่มเติม และพิมพ์ครั้งที่สองเมื่อเดือนตุลาคม 2532 โดยใช้ชื่อหนังสือว่า “อาหารและมะเร็ง กินอย่างไรจึงจะไม่เป็นมะเร็ง (Diet and Cancer)” ต่อมานายไมตรีทราบว่าจำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือดังกล่าวของนายไมตรีโดยลอกเลียนข้อความทั้งย่อหน้า ด้วยการเปลี่ยนหัวข้อเล็กน้อย เปลี่ยนข้อความตอนท้ายเล็กน้อย ส่วนตรงกลางข้อความเหมือนกับหนังสือของนายไมตรี และจำเลยได้พิมพ์หนังสือเรื่อง “อาหารต้านมะเร็ง (ศิลปการป้องกันและรักษามะเร็งยุคใหม่)” ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2533 โดยมีบริษัทดวงกมลสมัย จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่าย ต่อมาจำเลยได้พิมพ์หนังสือดังกล่าวอีกครั้งโดยใช้ชื่อว่า “อาหารต้านมะเร็ง” ซึ่งระบุว่าพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2535 หนังสือดังกล่าวจัดพิมพ์โดยสัมผัสที่ 6 และจัดจำหน่ายโดยบริษัทสามัคคีสาร (ดอกหญ้า) จำกัด นายไมตรีเคยแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยในปี 2545 แต่เรื่องเงียบหายไปนายแพทย์วิชัย อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกอ่านบทความที่โจทก์ร่วมที่ 2 เขียนเกี่ยวกับการแพทย์ทางเลือกและธรรมชาติบำบัด ซึ่งลงพิมพ์ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ตั้งแต่ฉบับแรก และอ่านต่อเนื่องมาเกือบ 20 ปี แล้ว โจทก์ร่วมที่ 2 จะศึกษาค้นคว้า และเขียนตามความเข้าใจจากการนำความรู้มาทดลองปฏิบัติ เมื่อกระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายแพทย์วิชัยเห็นว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ได้เผยแพร่ความรู้เรื่องการแพทย์ทางเลือกมาเป็นเวลานาน จึงได้เชิญโจทก์ร่วมที่ 2 มาแสดงวิสัยทัศน์เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ของกรม และโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคนด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
จำเลยนำสืบว่า จำเลยจบการศึกษาชั้นปริญญาตรี จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างปี 2507 ถึงปี 2510 จำเลยไปศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาศัลยศาสตร์และศัลยศาสตร์ตกแต่ง ที่มหาวิทยาลัยดุ๊ก มหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา และในปี 2507 จำเลยเริ่มศึกษาการแพทย์ด้านธรรมชาติบำบัดซึ่งเริ่มแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นควบคู่ไปด้วย หลังจากสำเร็จการศึกษา จำเลยรับราชการเป็นอาจารย์ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีระหว่างปี 2512 ถึงปี 2514 และโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นลูกศิษย์ของจำเลย ในระหว่างปี 2524 ถึงปี 2535 จำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลก โดยจำเลยต้องเดินทางไปทำงานที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย และกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างที่ทำงานในประเทศดังกล่าว จำเลยได้ศึกษาด้านธรรมชาติบำบัดด้วย ต่อมาจำเลยได้รับเลือกเป็นประธานสถาบันสุขภาพนานาชาติ และประธานชมรมการแพทย์ทางธรรมชาติบำบัด ตามสำเนาชีวประวัติ จำเลยมีความสัมพันธ์กับสถาบัน Maharishi Ayur-Veda Health Centers ตามสำเนาที่ตั้งของ Maharishi Ayur-Veda Health Centers, Clinics and Colleges และจำเลยเคยสั่งซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์ของมหาตมะคานธี ซึ่งมหาตมะคานธีถือเป็นบิดาแห่งธรรมชาติบำบัด ตามแคตตาล็อก ทำให้จำเลยได้รับข้อมูลด้านธรรมชาติบำบัดมากมาย เนื่องจากการแพทย์ด้านธรรมชาติบำบัดไม่เป็นที่ยอมรับของมหาวิทยาลัย จำเลยจึงเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนนอกมหาวิทยาลัย เช่น ที่สโมสรโรตารี สโมสรไลออนส์ และที่โรงพยาบาลมิชชั่น โดยจำเลยจะจัดทำบทความทางวิชาการเป็นเอกสารแจกแก่ผู้ฟัง จำเลยได้รับเชิญไปบรรยายเรื่องธรรมชาติบำบัดหลายร้อยครั้ง ดังปรากฏตัวอย่างจากสำเนาหนังสือเชิญเป็นวิทยากร คำบรรยายเรื่อง “วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (ศาสตร์องค์รวม) สำเนาหนังสือเชิญประชุมและอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมประชุมวิชาการและประชุมเชิงปฏิบัติการหลายครั้ง ดังปรากฏตัวอย่างจากสำเนาเอกสารการประชุมวิชาการกรมการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 8 สำเนาหนังสือเชิญประชุมและอื่น ๆ รวมทั้งจำเลยได้รับเชิญไปบรรยายในระดับนานาชาติตามเอกสารการประชุม Challenges in Functional Food Ingredients จำเลยเคยดำรงตำแหน่งประธานชมรมธรรมชาติบำบัด ปรากฏตามสำเนาจุลสารชมรมธรรมชาติบำบัด จำเลยเคยได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการจัดทำหลักสูตรของสถาบันการแพทย์ธรรมชาติศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัย Natural Medicine แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาจะจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย ตามสำเนาโครงการจำเลยเคยเข้าประชุมนานาชาติที่เรียกว่า Leadership Forum 2002 และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการวิชาการของประธานคณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในกรอบเอเปค ตามสำเนากำหนดการประชุมและสำเนาหนังสือเชิญประชุม ในประเทศไทยมีผู้สนใจเรื่องธรรมชาติบำบัดหลายราย เช่น ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย ซึ่งนำวิชาอายุรเวชของอินเดียมาผสานกับการแพทย์แผนไทยและการนวดแผนไทย พลเรือตรี หลวงสุวิชาญซึ่งศึกษาวิชาพลังจักรวาล คุณย่าเยาวเรศ ผู้ก่อตั้งสถาบันพลังกายทิพย์ และนายวิทิต ซึ่งสนใจการแพทย์แผนจีน เช่น เรื่องการฝังเข็ม ที่โจทก์ร่วมที่ 2 อ้างว่า เป็นผู้นำความรู้เรื่องธรรมชาติบำบัดมาใช้ที่ประเทศไทยเป็นคนแรกจึงไม่เป็นความจริง หนังสือแนวธรรมชาติบำบัดมีการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แห่งอื่นนอกจากโจทก์ร่วมที่ 1 เช่น หนังสือเรื่อง “อาหารและมะเร็ง” ของนายไมตรี เป็นต้น นอกจากนี้ หนังสือเรื่อง “10 Day Clean-up Plan” ก็เคยมีบุคคลอื่นแปลเป็นหนังสือเรื่อง “ธรรมชาติบำบัดใน 10 วัน” ส่วนจำเลยสามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ดี จึงไม่เคยอ่านหนังสือภาษาไทยที่แปลมาจากภาษาอังกฤษและหนังสือเรื่อง “พลังแห่งการรักษาของธรรมชาติ” ได้รับการอ้างอิงในหนังสือเรื่อง “แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ” ในช่วงที่โจทก์ร่วมที่ 2 จัดตั้งสำนักพิมพ์รวมทรรศน์ โจทก์ร่วมที่ 2 เชิญจำเลยเป็นที่ปรึกษา จำเลยตกลงเนื่องจากต้องการช่วยเหลือลูกศิษย์ ต่อมาเมื่อปี 2530 จำเลยพบว่าโจทก์ร่วมที่ 2 นำชื่อของจำเลยขึ้นปกหนังสือ “รู้ไว้ใช้ฉุกเฉิน” ร่วมกับแพทย์หญิงลลิตา ภริยาของโจทก์ร่วมที่ 2 เพื่อให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าจำเลยเป็นผู้แต่ง และบทความเรื่อง “เพลิงไหม้” และ “ภัยจากน้ำท่วม” ในหนังสือดังกล่าวระบุชื่อจำเลยว่าเป็นผู้เขียน แต่ความจริงจำเลยมิใช่ผู้เขียน ตามสำเนาหนังสือ “รู้ไว้ใช้ฉุกเฉิน” จำเลยโทรศัพท์ไปต่อว่าโจทก์ร่วมที่ 2 และโจทก์ร่วมที่ 2 นำกระเช้าไปขอขมาจำเลย ต่อมาจำเลยว่าจ้างโจทก์ร่วมที่ 2 พิมพ์หนังสือเรื่อง “วิทยาศาสตร์ความปลอดภัย” จำเลยขอให้คิดค่าพิมพ์จากค่าลิขสิทธิ์ที่โจทก์ร่วมที่ 2 ละเมิดในกรณีของหนังสือ “รู้ไว้ใช้ฉุกเฉิน” แต่โจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ยินยอมและฟ้องเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าพิมพ์หนังสือดังกล่าว ศาลได้ไกล่เกลี่ยและจำเลยชดใช้เงินให้แก่โจทก์ร่วมที่ 2 ไปแล้ว นับแต่นั้นมาโจทก์ร่วมที่ 2 โกรธเคืองจำเลยและใส่ร้ายจำเลยมาตลอด เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2543 ทนายความของโจทก์ร่วมที่ 2 มีหนังสือบอกกล่าวจำเลยว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ 2 จำเลยจึงไปพบโจทก์ร่วมที่ 2 ที่คลินิกเพื่อดูเรื่องที่เกิดขึ้น แต่เมื่อพบกัน โจทก์ร่วมที่ 2 พูดจาเกรี้ยวกราด และข่มขู่ให้จำเลยนำเงิน 2,000,000 บาท มาให้โจทก์ร่วมที่ 2 ภายใน 2 วัน มิฉะนั้นจะให้สัมภาษณ์เพื่อประจานจำเลย ซึ่งขณะนั้นจำเลยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อของพรรคชาติพัฒนา ตามนามบัตร ได้ดูหนังสือที่โจทก์ร่วมที่ 2 อ้างว่าละเมิดลิขสิทธิ์คร่าวๆ แต่ไม่มีเวลาตรวจสอบเนื่องจากอยู่ในช่วงเวลาหาเสียง นายธันวาทนายความของจำเลยแนะนำให้ถ่วงเวลาไปก่อนโดยเสนอหลักทรัพย์ให้โจทก์ร่วมที่ 2 พิจารณา จำเลยจึงให้สำเนาโฉนดที่ดินจำนวน 1 แปลง แก่ทนายความไปจัดการ ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจได้นัดให้จำเลยไปพบ จำเลยจึงทราบว่าถูกโจทก์ร่วมที่ 2 แจ้งความดำเนินคดี จำเลยคัดลอกหลักฐานซึ่งมีอยู่ที่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อไปตรวจสอบกับต้นฉบับคำบรรยายที่จำเลยจัดทำขึ้น เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2544 จำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และมอบต้นฉบับแก่เจ้าพนักงานเพื่อโต้แย้งข้ออ้างของโจทก์ จำเลยเขียนบทความทางวิชาการ 4 เรื่อง คือ (1) การรักษาคนไข้ครบวงจรตามแนวธรรมชาติบำบัด (Treat the patient as a whole) เขียนเมื่อเดือนตุลาคม 2533 ตัวตนของเราเป็นผลพวงของสิ่งที่เรากิน (You are what you eat) เขียนเมื่อเดือนธันวาคม 2530 อโรคยา – วิถีดูแลตนเองตามแนวมหาตมะคานธี (Arogya – Gandhi’s Nature Cure) เขียนเมื่อเดือนธันวาคม 2529 การล้างพิษจากร่างกาย (Detoxification) เมื่อเดือนมกราคม 2530 หนังสือเรื่อง “อาหารรักษาโรค” มีที่มาจากบทความเรื่อง “การรักษาคนไข้ครบวงจรตามแนวธรรมชาติบำบัด” มิได้คัดลอกมาจากหนังสือเรื่อง “เบื่อหมอ เบื่อยา หันหาธรรมชาติบำบัด วิถีสุขภาพแนวใหม่” บทความดังกล่าวจำเลยแปลและเรียบเรียงจากหนังสือภาษาอังกฤษหลายเล่ม เช่น จากบทความของดีน ออร์นิช และคณะ (Dean Ornish et al.) จากวารสารการแพทย์ Lancet, Vol. 336 คำว่า “แม็กกะวิตามิน” มาจากคำว่า “Mega-vitamin” หมายถึง การกินวิตามินในขนาดสูงมาก ๆ แต่โจทก์ร่วมที่ 2 ดัดแปลงเป็น แม็กซวิตามิน ซึ่งไม่มีผู้ใดใช้ คำว่า “องค์เอกภาพ” และ “พลังแห่งการสมานคืน” จำเลยแปลจากคำว่า “Law of Unity” และ “The Great Law of Life” ตามลำดับ ซึ่งตามหลักของธรรมชาติบำบัด ร่างกายมีพลังแห่งการสมานคืนรักษาตนเองได้ภายใน 10 วัน แต่โจทก์ร่วมที่ 2 ดัดแปลงเป็น 10 ถึง 15 วัน ซึ่งผิดไปจากหลักสากล ส่วนคำว่า “การแพทย์แห่งศตวรรษที่ 20” โจทก์ร่วมที่ 2 ดัดแปลงเป็น “การแพทย์ยามรุ่งอรุณแห่งศตวรรษที่ 21” ซึ่งผิดไปจากความจริง เพราะในศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องการแพทย์ทางพันธุกรรม (Genetic Medicine) เช่น การตัดต่อยีน เป็นต้น หนังสือเรื่อง “อาหารต้านโรคเสื่อม” มีที่มาจากบทความเรื่อง “ตัวตนของเราเป็นผลพวงของสิ่งที่เรากิน” มิได้คัดลอกมาจากหนังสือเรื่อง “เบื่อหมอ เบื่อยา หันหาธรรมชาติบำบัด วิถีสุขภาพแนวใหม่” บทความดังกล่าวจำเลยแปลและเรียบเรียงจากหนังสือภาษาอังกฤษประมาณ 10 เล่ม รวมทั้งหนังสือของ Richard A. Passwater (ผู้แต่งเรื่อง Fish Oil Update) จำนวน 4 เล่ม หนังสือเรื่อง “วิถีดูแลตนเองแบบธรรมชาติ” มีที่มาจากบทความเรื่อง “อโรคยา – วิถีดูแลตนเองตามแนวมหาตมะคานธี” มิได้คัดลอกมาจากหนังสือเรื่อง “อโรคยา” บทความดังกล่าวจำเลยแปลและเรียบเรียงจากหนังสือหลายเล่ม รวมทั้งหนังสือเรื่อง “Nature Cure” และเรื่อง “Key to Health” ของมหาตมะคานธี และเรื่อง “Nature Cure for Common Diseases” ของ “Vithaldas Modi” หนังสือเรื่อง “การล้างพิษโดยวิธีธรรมชาติ” มีที่มาจากบทความเรื่อง “การล้างพิษจากร่างกาย” มิได้คัดลอกมาจากหนังสือเรื่อง “ล้างพิษ” และหนังสือเรื่อง “น้ำมันปลา – น้ำมันลดไขมัน” บทความดังกล่าวจำเลยเรียบเรียงจากหนังสือของ Leslie Kenton ถึง 3 เล่ม ซึ่งรวมทั้งหนังสือเรื่อง “10 Day Clean-up Plan” ด้วย หน้า 3 มีข้อความว่า “ร่างกายมีส่วนประกอบเป็นน้ำย่อยถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ประมาณห้าลิตร ก็คือ เลือด อีกห้าลิตรเป็นน้ำย่อยอยู่ในระบบย่อยอาหาร ที่เหลือนอกจากนั้นอยู่ในระบบน้ำเหลืองทั้งหมด” แต่ตามหนังสือเรื่อง “ล้างพิษ” หัวข้อ ทะเลในร่างกาย มีข้อความว่า “ร่างกายของคุณมีส่วนประกอบเป็นน้ำถึง 75 เปอร์เซ็นต์… “น้ำทะเล” ประมาณห้าลิตรก็คือเลือด อีกห้าลิตรเป็นน้ำย่อยอยู่ในระบบย่อยอาหารที่เหลือนอกจากนั้นอยู่ในระบบน้ำเหลืองทั้งหมด” และมีข้อความว่า “เริ่มที่หัวไหล่ถูในทิศทางลงในลักษณะลากยาวเรื่อยไปทางแขนถึงปลายนิ้ว” อันเป็นวิธีธรรมชาติบำบัดแบบตะวันออก แต่ตามหนังสือเรื่อง “ล้างพิษ” ใช้ข้อความว่า “ให้เริ่มที่ปลายนิ้ว ถูในทิศทางขึ้นในลักษณะลากยาวเรื่อยไปทางแขนถึงหัวไหล่” มีข้อความว่า “ควรกินผลไม้ชนิดเดียวกันตลอดทั้งวันเพราะจะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้สะดวก แต่ถ้าผลไม้ชนิดนั้นมีน้อยไม่พอกินทั้งวัน คุณสามารถเปลี่ยนไปกินผลไม้ชนิดอื่นได้ แต่ต้องทิ้งระยะห่างอย่างน้อยสัก 1 ชั่วโมง” แต่ในหนังสือ “ล้างพิษ” มีข้อความว่า “ควรกินผลไม้ชนิดเดียวกันตลอดทั้งวัน เพราะจะทำให้ระบบย่อยทำงานได้สะดวก แต่ถ้าผลไม้ชนิดนั้นมีน้อยไม่พอกินทั้งวัน คุณสามารถเปลี่ยนไปกินผลไม้ชนิดอื่นได้ แต่ต้องทิ้งระยะห่างอย่างน้อยสัก 2 ชั่วโมง… เพราะผลไม้ย่อยง่ายไม่อยู่ท้อง มันจะไม่อยู่ภายในกระเพาะนานกว่า 1 ชั่วโมง” ซึ่งข้อความดังกล่าวขัดกันเอง หนังสือเรื่อง “พลังแห่งการรักษาของธรรมชาติ” มีที่มาจากบทความเรื่อง “การรักษาคนไข้ครบวงจรตามแนวธรรมชาติบำบัด” มิได้คัดลอกจากหนังสือเรื่อง “เบื่อหมอ เบื่อยา หันหาธรรมชาติบำบัด วิถีสุขภาพแนวใหม่” ส่วนหนังสือเรื่อง “ธรรมชาติบำบัด 1” และ “ธรรมชาติบำบัด 2” นำมาจากบทความของจำเลยที่กล่าวมาทั้งหมด แต่สำนักพิมพ์เปลี่ยนชื่อหนังสือให้ไพเราะขึ้น จำเลยได้นำพยานบุคคลไปให้การเป็นพยาน ได้แก่ นางวรวรรณ นางประไพรัตน์ และนายสุนทร นางวรวรรณเคยทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและเคยเห็นเอกสารที่จำเลยพิมพ์แจกเผยแพร่ ตามสำเนาบันทึกถ้อยคำนอกจากนี้นางวรวรรณเป็นผู้ขอนำเอกสารที่จำเลยเผยแพร่มาพิมพ์เป็นเล่ม ต่อมาพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำเลยและสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์หนังสือของจำเลย
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ร่วมที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมที่ 1 ในปี 2535 โจทก์ร่วมที่ 2 ได้รวบรวมบทความต่าง ๆ ที่เคยเขียนเกี่ยวกับธรรมชาติบำบัดในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์มาพิมพ์รวมเป็นเล่ม ชื่อหนังสือว่า “ธรรมชาติบำบัด วิถีสุขภาพแนวใหม่” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “เบื่อหมอ เบื่อยา หันหาธรรมชาติบำบัด วิถีสุขภาพแนวใหม่” นายแพทย์สมพงศ์ ได้โอนงานวรรณกรรมหนังสือเรื่อง “น้ำมันปลา น้ำมันลดไขมัน” ซึ่งแปลมาจากหนังสือเรื่อง “Fish Oils Update” ของ Richard A. Passwater” ให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ตามสำเนาสัญญาโอนลิขสิทธิ์ และแพทย์หญิงณัฏฐา ได้โอนงานวรรณกรรมหนังสือเรื่อง “อโรคยา” ซึ่งแปลมาจากหนังสือเรื่อง “Nature Cure for Common Diseases” ของ “Vithaldas Modi” และงานวรรณกรรมหนังสือเรื่อง “ล้างพิษ” ซึ่งแปลมาจากหนังสือเรื่อง “10 Day Clean – up Plan” ของ leslie Kenton’s” ให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ทั้งสองเรื่อง ตามสำเนาสัญญาโอนลิขสิทธิ์ ส่วนจำเลยเป็นผู้แต่งหนังสือรวม 7 เรื่อง คือ “อาหารรักษาโรค” เรื่อง “อาหารต้านโรคเสื่อม” เรื่อง “วิถีดูแลตนเองแบบธรรมชาติ” เรื่อง “การล้างพิษโดยวิธีธรรมชาติ” เรื่อง “พลังแห่งการรักษาของธรรมชาติ” เรื่อง “ธรรมชาติบำบัด 1” และเรื่อง “ธรรมชาติบำบัด 2” ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2543 โจทก์ร่วมที่ 2 พบว่าหนังสือเรื่อง “อาหารรักษาโรค” เรื่อง “อาหารต้านโรคเสื่อม” เรื่อง “วิถีดูแลตนเองแบบธรรมชาติ” เรื่อง “การล้างพิษโดยวิธีธรรมชาติ” และเรื่อง “พลังแห่งการรักษาของธรรมชาติ” รวม 5 เรื่อง ของจำเลยซึ่งวางจำหน่ายตามท้องตลาดได้ละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์ร่วมทั้งสอง โดยทำซ้ำ ลอกเลียน หรือดัดแปลงงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง โจทก์ร่วมทั้งสองจึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนคดีเศรษฐกิจให้ดำเนินคดีกับจำเลยและพวกในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าด้วยการทำซ้ำ ดัดแปลง ขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายซึ่งงานวรรณกรรม ตามหนังสือร้องทุกข์ และสำเนารายงานประจำวัน หนังสือเรื่อง “Fish Oil Update” โฆษณาครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2530 หนังสือเรื่อง “Nature Cure for Common Diseases” โฆษณาครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย เมื่อปี 2523 และหนังสือเรื่อง “10 Day Clean-up Plan” โฆษณาครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2529 ประเทศดังกล่าวข้างต้นเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศกรุงเบอร์นว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม หนังสือเรื่อง “น้ำมันปลา น้ำมันลดไขมัน” แปลและโฆษณาครั้งแรกเมื่อปี 2533 หนังสือเรื่อง “อโรคยา” แปลและโฆษณาครั้งแรกเมื่อปี 2532 ส่วนหนังสือเรื่อง “ล้างพิษ” แปลและโฆษณาครั้งแรกเมื่อปี 2534 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดดังฟ้องโจทก์หรือไม่ ก่อนอื่นเห็นควรวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือทั้ง 4 เล่ม คือ หนังสือเรื่อง “น้ำมันปลา น้ำมันลดไขมัน” เรื่อง “อโรคยา” เรื่อง “ล้างพิษ” และเรื่อง “เบื่อหมอ เบื่อยา หันหาธรรมชาติบำบัด วิถีสุขภาพแนวใหม่” หรือไม่ เห็นว่า นายแพทย์สมพงศ์ผู้แปลหนังสือเรื่อง “น้ำมันปลา น้ำมันลดไขมัน” และแพทย์หญิงณัฏฐาผู้แปลหนังสือเรื่อง “อโรคยา”และเรื่อง “ล้างพิษ” ต่างก็โอนงานแปลทั้ง 3 เล่ม ดังกล่าวให้โจทก์ร่วมที่ 1 ส่วนหนังสือเรื่อง “เบื่อหมอ เบื่อยา หันหาธรรมชาติบำบัด วิถีสุขภาพแนวใหม่” ซึ่งโจทก์ร่วมที่ 2 อ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวโดยเป็นผู้สร้างสรรค์คิดค้นรวบรวมขึ้นมาเอง แต่โจทก์ร่วมที่ 2 กลับเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่า ได้นำข้อความในเนื้อหาสาระสำคัญของหนังสือเรื่อง “อโรคยา” และเรื่อง “ล้างพิษ” ทั้งได้นำความรู้จากหนังสือเรื่อง “น้ำมันปลา น้ำมันลดไขมัน” ของโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้ง 3 เล่ม มาลงในหนังสือเรื่อง “เบื่อหมอ เบื่อยา หันหาธรรมชาติบำบัด วิถีสุขภาพแนวใหม่” เพื่อถ่ายทอดให้ประชาชนทราบด้วย ในฐานะที่โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นบรรณาธิการหนังสือของโจทก์ร่วมที่ 1 จึงนำมาลงในหนังสือของโจทก์ร่วมที่ 2 หนังสือทั้ง 4 เล่ม ของโจทก์ร่วมทั้งสองดังกล่าวมีเนื้อหาที่ได้แปลมาจากวรรณกรรมภาษาต่างประเทศของเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 42 ประกอบพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ.2526 มาตรา 5 ผู้แปลและโจทก์ร่วมทั้งสองผู้รับโอนงานแปลต่างไม่ได้ขออนุญาตในการแปลจากเจ้าของลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเลย จึงเป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแต่อย่างใด การที่โจทก์อ้างว่าขณะแปลยังไม่มีพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เพราะหนังสือทั้ง 4 เล่ม ดังกล่าวได้ตีพิมพ์เผยแพร่ก่อนปี 2537 ทุกเล่ม โดยหนังสือเรื่อง “น้ำมันปลา น้ำมันลดไขมัน” เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2534 หนังสือเรื่อง “อโรคยา” เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2532 หนังสือเรื่อง “ล้างพิษ” เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2534 และหนังสือเรื่อง “เบื่อหมอ เบื่อยา หันหาธรรมชาติบำบัด วิถีสุขภาพแนวใหม่” เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2533 จนเมื่อปี 2537 หลังพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ประกาศใช้บังคับ โจทก์ร่วมทั้งสองได้ติดต่อสำนักพิมพ์เจ้าของลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเพื่อจ่ายค่าสิขสิทธิ์ แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ จึงยังไม่ได้รับอนุญาตหรือจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แก่สำนักพิมพ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมภาษาต่างประเทศ เท่ากับแสดงว่าโจทก์ร่วมทั้งสองทราบดีอยู่แล้วว่า ผู้แปลหนังสือต่างประเทศที่มีเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นภาษาไทยยังไม่ได้รับอนุญาตหรือจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เจ้าของลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมภาษาต่างประเทศ โจทก์ร่วมทั้งสองผู้รับโอนจึงไม่มีสิทธิในงานแปลดังกล่าวดีกว่าผู้โอนและไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือทั้ง 4 เล่ม ดังนี้โจทก์ร่วมทั้งสองย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ซึ่งอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีฝ่ายใดกล่าวอ้าง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นพิจารณาพิพากษาได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสองฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share