คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5602-5604/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยแต่เพียงว่าข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่าโจทก์ร่วมไม่ได้เรียกเงินจากครูที่สอบบรรจุและไม่ได้ไล่ลูกจ้างเก่าออกแล้วเรียกเงินจากผู้สมัครสอบเป็นลูกจ้างใหม่ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 กับพวกใส่ความโจทก์ร่วมในเรื่องดังกล่าวโดยไม่เป็นความจริง จึงมิใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตอันจะทำให้ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท และการที่จำเลยที่ 1 กับพวกใส่ความโจทก์ร่วมเฉพาะในเรื่องดังกล่าวโดยไม่เป็นความจริงก็สามารถทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังได้ในตัวอยู่แล้ว โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 กับพวกมีความเชื่ออย่างไรนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากหากจำเลยที่ 1 กับพวก เชื่อโดยสุจริตว่าพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมส่อไปในทางทุจริต แม้จะเป็นการเข้าใจผิด จำเลยที่ 1 กับพวก ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงชอบที่จะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวด้วย ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 กับพวก จึงเป็นการไม่ชอบ เพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยที่ 1 กับพวก เป็นไปตามลำดับศาล ทั้งนี้เพราะคดีอาจถูกจำกัดสิทธิในการฎีกาได้ จึงเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสามสำนวนเข้าด้วยกัน
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องจำเลยทั้งสิบห้าทั้งสามสำนวน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 326, 328 ริบของกลาง และนับโทษจำเลยทั้งสิบห้าทั้งสามสำนวนติดต่อกัน
จำเลยทั้งสิบห้าให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายศักดิ์ชัย ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 12 และที่ 13 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 12 และที่ 13 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ที่ 14 และที่ 15 ทั้งสามสำนวนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุกสำนวนละคนละ 3 เดือน และปรับสำนวนละคนละ 10,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ที่ 14 และที่ 15 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ทั้งสามสำนวน ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ที่ 14 และที่ 15 ทั้งสามสำนวนต่อจากกันนั้น เนื่องจากศาลพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ที่ 14 และที่ 15 ทั้งสามสำนวน จึงไม่อาจนับโทษจำเลยดังกล่าวทั้งสามสำนวนต่อจากกันได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ที่ 14 และที่ 15 อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จำเลยที่ 5 ที่ 11 และที่ 15 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5 ที่ 11 และที่ 15 ออกจากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 10 และที่ 14 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกา
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 10 และที่ 14 อุทธรณ์คำสั่ง ศาลฎีกาสั่งรับฎีกาบางข้อ
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยที่ 2 แถลงว่าจำเลยที่ 10 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ปรากฏตามสำเนามรณบัตรที่อ้างส่งต่อศาลชั้นต้น โจทก์และโจทก์ร่วมรับว่าเป็นความจริง เมื่อจำเลยที่ 10 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 10 เสียจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 9 และที่ 14 ฎีกาในทำนองว่า แม้เรื่องที่ใส่ความโจทก์ร่วมจะไม่เป็นความจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยก็ตาม แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 9 และที่ 14 เชื่อโดยสุจริตว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความจริง อันเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 หรือไม่ เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 9 และที่ 14 อุทธรณ์ด้วยว่า “ข้อความที่ว่า โจทก์ร่วมส่อพฤติการณ์แสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นการเรียกเงินจากครูที่สอบบรรจุการไล่ลูกจ้างเก่าออกแล้วเรียกเงินจากผู้สมัครเป็นลูกจ้างใหม่นั้น เมื่อข้อเท็จจริงควรรับฟังได้ว่าการกระทำของโจทก์ร่วมมีพฤติการณ์ที่ทำให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 9และที่ 14 เชื่อมั่นและเข้าใจไปได้อย่างมากว่าโจทก์ร่วมทุจริตในการบริหารเทศบาลจึงเป็นกรณีที่จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์ร่วมมีพฤติการณ์ดังกล่าวจริง ถือได้ว่าเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมตามวิสัยของประชาชนพึงกระทำ” แสดงว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 9 และที่ 14 ประสงค์ที่จะให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยด้วยว่าพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมมีเหตุทำให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 9 และที่ 14 เชื่อว่าโจทก์ร่วมแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง เช่น เรียกเงินจากครูที่สอบบรรจุการไล่ลูกจ้างเก่าออกแล้วเรียกเงินจากผู้สมัครเป็นลูกจ้างใหม่หรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยแต่เพียงว่าข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่าโจทก์ร่วมไม่ได้เรียกเงินจากครูที่สอบบรรจุและไม่ได้ไล่ลูกจ้างเก่าออกแล้วเรียกเงินจากผู้สมัครเป็นลูกจ้างใหม่ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 9 และที่ 14 กับพวกใส่ความโจทก์ร่วมในเรื่องดังกล่าว โดยไม่เป็นความจริงจึงมิใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตอันจะทำให้ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทและการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 9 และที่ 14 ใส่ความโจทก์ร่วมเฉพาะในเรื่องดังกล่าวโดยไม่เป็นความจริงก็สามารถทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังได้ในตัวอยู่แล้ว โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 9 และที่ 14 มีความเชื่ออย่างไรนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากหากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 9 และที่ 14 เชื่อโดยสุจริตว่าพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมส่อไปในทางทุจริต แม้จะเป็นการเข้าใจผิด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 9 และที่ 14 ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 329 (3) ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงชอบที่จะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวด้วย ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 9 และที่ 14 จึงเป็นการไม่ชอบ เพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 9และที่ 14 เป็นไปตามลำดับศาล ทั้งนี้เพราะคดีอาจถูกจำกัดสิทธิในการฎีกาได้ จึงเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบ มาตรา 225
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share