คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5600/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่าจำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุและเป็นนายจ้างหรือตัวการที่ใช้ให้ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุเพื่อผลประโยชน์ของจำเลยและลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยได้ขับรถด้วยความประมาทชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย จำเลยในฐานะนายจ้างหรือตัวการต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้น คำฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ส่วนคนขับรถยนต์คันเกิดเหตุจะเป็นใครชื่ออะไรหรือมีรูปพรรณสัณฐานอย่างไรเป็นรายละเอียดไม่ใช่ข้อสาระสำคัญเมื่อรถยนต์คันเกิดเหตุเป็นของจำเลย จำเลยในฐานะนายจ้างหรือตัวการย่อมต้องรับผิดอยู่แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจะอ้างกรมธรรม์ประกันภัยต่อศาลในชั้นพิจารณา โจทก์มิได้ส่งสำเนากรมธรรม์ประกันภัยมาท้ายคำฟ้องด้วย ดังนั้นคำให้การของจำเลยที่ว่าขอปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงของเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์ทุกฉบับว่าไม่อาจรับฟังได้ตามกฎหมายเนื่องจากเป็นเพียงสำเนาเอกสารจึงเป็นการคัดค้านเฉพาะสำเนาเอกสารท้ายฟ้องเท่านั้น ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้คัดค้านสำเนากรมธรรม์ประกันภัยด้วย และเมื่อโจทก์ส่งสำเนากรมธรรม์ประกันภัยต่อศาลจำเลยก็ได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารนั้นแต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยยอมรับว่าสำเนากรมธรรม์ประกันภัยนั้นถูกต้องแล้ว ศาลมีอำนาจรับฟังได้ ตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยระบุเลขหมายทะเบียนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยเป็นภาษาอังกฤษว่า 9CH-1935แต่เนื่องจากภาษาอังกฤษอ่านออกเสียงพยัญชนะตัว”ช”และ”ฉ”คล้ายกันและพยัญชนะทั้งสองตัวนี้เมื่อเทียบกับพยัญชนะภาษาอังกฤษแล้วก็อาจใช้ตัว “CH” แทนได้ทั้งสองตัว ทั้งตามคำฟ้องโจทก์ก็ใช้พยัญชนะตัว”ฉ” ดังนั้น ที่โจทก์แปลว่า 9CH-1935 คือ9 ช-1935 จึงเป็นเรื่องแปลผิดไป โจทก์มีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบได้ว่าเป็น 9 ฉ-1935 เพราะเป็นการสืบอธิบายว่าโจทก์แปลพยัญชนะจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยผิดไปจากความเป็นจริง จึงมิใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์ของบริษัทไฟเซอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด คันหมายเลขทะเบียน9 ฉ-1935 กรุงเทพมหานคร จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าและเป็นเจ้าของรถลากจูงคันหมายเลขทะเบียน 71-0721 กรุงเทพมหานคร และเป็นนายจ้างหรือตัวการที่ใช้ให้ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยทำการขับรถคันดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของจำเลย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2532เวลา 17.30 นาฬิกา ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยได้ขับรถลากจูงคันหมายเลขทะเบียน 71-0721 กรุงเทพมหานคร ด้วยความประมาทชนท้ายรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยกระเด็นไปเฉี่ยวชนรถยนต์คันหน้าอีกทอดหนึ่งหลังเกิดเหตุลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยได้หลบหนีไป รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ใช้ค่าซ่อมและค่าอะไหล่ เป็นเงินทั้งสิ้น 70,935 บาท จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน 70,935 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยขอปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงของเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์ทุกฉบับว่าไม่อาจรับฟังได้ตามกฎหมายเนื่องจากเป็นเพียงสำเนาเอกสาร โจทก์ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ฉ-1935 กรุงเทพมหานคร จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของรถลากจูงคันหมายเลขทะเบียน 71-0721 กรุงเทพมหานครและไม่ได้เป็นนายจ้างหรือตัวการของผู้ขับรถคันดังกล่าว และรถคันดังกล่าวมิได้เฉี่ยวชนกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9ฉ-1935กรุงเทพมหานคร โจทก์มิได้จ่ายค่าซ่อมรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน9 ฉ-1935 กรุงเทพมหานคร ค่าซ่อมอย่างสูงไม่เกิน 2,000 บาทและฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่บรรยายว่าผู้ขับรถลากจูงคันหมายเลขทะเบียน 71-0721 กรุงเทพมหานคร เป็นใคร ชื่ออะไรและมีรูปพรรณสัณฐานอย่างไร ทำให้จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 70,935 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 19 ตุลาคม2533) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้จำเลยทราบได้ว่าผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุเป็นใครชื่ออะไร หรือมีรูปพรรณสัณฐานอย่างไรทำให้จำเลยไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นลูกจ้างของจำเลยจริงหรือไม่จึงเป็นการไม่บรรยายข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาทำให้จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้องนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่าจำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุและเป็นนายจ้างหรือตัวการที่ใช้ให้ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุเพื่อผลประโยชน์ของจำเลย และลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยได้ขับรถด้วยความประมาทชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย หลังเกิดเหตุลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยได้หลบหนีไป จำเลยในฐานะนายจ้างหรือตัวการต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้น คำฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ส่วนคนขับรถยนต์คันเกิดเหตุจะเป็นใคร ชื่ออะไร หรือมีรูปพรรณสัณฐานอย่างไรเป็นรายละเอียดไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ เมื่อรถยนต์คันเกิดเหตุเป็นของจำเลย จำเลยในฐานะนายจ้างหรือตัวการย่อมต้องรับผิดอยู่แล้วฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้คัดค้านว่าต้นฉบับสำเนากรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.3 ไม่มีหรือเอกสารนั้นปลอมหรือไม่ถูกต้องภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย ศาลมีอำนาจรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวแทนต้นฉบับได้ เป็นการไม่ถูกต้องเพราะจำเลยได้คัดค้านเอกสารของโจทก์ไว้ในคำให้การ แล้วว่าเป็นสำเนาเอกสารไม่อาจรับฟังได้ตามกฎหมาย จึงเป็นการที่จำเลยได้คัดค้านพยานเอกสารหมาย จ.3ของโจทก์ภายในกำหนดเวลาของกฎหมายแล้วนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจะอ้างกรมธรรม์ประกันภัย ต่อศาลในชั้นพิจารณาโจทก์มิได้ส่งสำเนากรมธรรม์ประกันภัยมาท้ายฟ้องด้วย ดังนั้นคำให้การของจำเลยที่ว่าขอปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงของเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์ทุกฉบับว่าไม่อาจรับฟังได้ตามกฎหมายเนื่องจากเป็นเพียงสำเนาเอกสารจึงเป็นการคัดค้านเฉพาะสำเนาเอกสารท้ายฟ้องเท่านั้น ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้คัดค้านสำเนากรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.3 ด้วย และเมื่อโจทก์ส่งสำเนากรมธรรม์ประกันภัยต่อศาลจำเลยก็มิได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารนั้นแต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยยอมรับว่าสำเนากรมธรรม์ประกันภัยนั้นถูกต้องแล้วศาลมีอำนาจรับฟังได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าตามเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 3 ซึ่งเป็นคำแปลเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยหมาย จ.4 แผ่นที่ 2 ระบุว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ช-1935 กรุงเทพมหานคร การที่นายดนัยและนายมโนชย์พยานโจทก์เบิกความว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ฉ-1935 กรุงเทพมหานคร ถือว่าเป็นการนำสืบหักล้างหรือเปลี่ยนแปลงพยานเอกสารซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายจึงต้องรับฟังตามเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 3 ว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9ช-1935 กรุงเทพมหานครไว้นั้น เห็นว่า ตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยหมาย จ.4แผ่นที่ 2 ลำดับที่ 21 ระบุเลขหมายทะเบียนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยเป็นภาษาอังกฤษว่า 9 CH-1935 แต่เนื่องจากภาษาอังกฤษอ่านออกเสียงพยัญชนะตัว “ช” และ “ฉ” คล้ายกันและพยัญชนะทั้งสองตัวนี้ เมื่อเทียบกับพยัญชนะภาษาอังกฤษแล้วก็อาจใช้ตัว “CH”แทนได้ทั้งสองตัว ทั้งตามคำฟ้องโจทก์ก็ใช้พยัญชนะตัว “ฉ”ดังนั้น ที่โจทก์แปลว่า 9 CH-1935 คือ 9 ช-1935 จึงเป็นเรื่องแปลผิดไป โจทก์มีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบได้ว่าเป็น 9 ฉ-1935เพราะเป็นการสืบอธิบายว่าโจทก์แปลพยัญชนะจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยผิดไปจากความเป็นจริง จึงมิใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 จึงฟังได้ว่าโจทก์รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ฉ-1935 กรุงเทพมหานคร ไว้จริงตามฟ้อง เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์จึงรับช่วงสิทธิฟ้องให้จำเลยรับผิดได้
พิพากษายืน

Share