คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 560/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บิดาตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (1) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 4 บัญญัติว่า “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด (1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาญาจักรไทย…” และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรา 7 (1) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับ ผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย” ฉะนั้น การได้สัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ ต้องบังคับตามบทกฎหมายดังกล่าว
ผู้ร้องเกิดนอกราชอาญาจักรไทยจะได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ผู้ร้องต้องเกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งหมายถึงบิดาตามกฎหมาย
ผู้ร้องเกิดนอกราชอาณาจักรไทยโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติลาวแม้เกิดจากบิดาผู้มีสัญชาติไทยแต่ไม่ใช่บิดาตามกฎหมาย ผู้ร้องย่อมไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (1) ประกอบด้วย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 10 ส่วนหนังสือที่กระทรวงมหาดไทยมีถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและปลัดกรุงเทพมหานคร ให้ถือปฏิบัติตามข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติของบุคคลตาม พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ที่ว่าผู้เกิดนอกราชอาณาจักรไทยโดยบิดาผู้มีสัญชาติไทยกับมารดาผู้มีสัญชาติอื่นและบิดามิได้สมรสกับมารดาย่อมได้สัญชาติไทย เป็นเพียงการกำหนดแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง แต่หามีผลลบล้างกฎหมายไม่

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งห้ายื่นคำร้องขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งว่าผู้ร้องทั้งห้าเป็นบุคคลสัญชาติไทย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๑,๕๐๐ บาท
ผู้ร้องทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า ผู้ร้องทั้งห้าไม่ต้องใช้ค่าทนายความแทนผู้คัดค้าน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านแก้อุทธรณ์เอง จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
ผู้ร้องทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า ผู้ร้องทั้งห้าเกิดในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวโดยเป็นบุตรของนางพันธ์ แสนคำ ผู้มีสัญชาติลาวกับนายยุทธเวท พรมไชยา ผู้มีสัญชาติไทย แต่นางพันธ์กับนายยุทธเวทอยู่กินกันตามประเพณีโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งห้ามีว่า ผู้ร้องทั้งห้าได้สัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๗ (๑) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔ บัญญัติว่า “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด (๑) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย…” และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญํตินี้ใช้บังคับด้วย” ฉะนั้น ผู้ร้องทั้งห้าจะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ ต้องบังคับตามบทกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องทั้งห้าเกิดนอกราชอาณาจักรไทยจะได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ผู้ร้องต้องเกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย บิดาตามบทกฎหมายดังกล่าว หมายถึงบิดาตามกฎหมาย ไม่ได้หมายรวมถึงบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดา หากจะหมายรวมถึงบิดาที่มิได้มีการสมรสกับมารดาด้วย กฎหมายจะบัญญัติไว้โดยแจ้งชัด เช่น ตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง เป็นต้น เมื่อผู้ร้องทั้งห้าเกิดโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติลาว แม้เกิดจากบิดา ผู้มีสัญชาติไทยแต่ไม่ใช่บิดาตามกฎหมาย ผู้ร้องทั้งห้าย่อมไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๗ (๑) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๐ ส่วนหนังสือที่กระทรวงมหาดไทยมีถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและปลัดกรุงเทพมหานคร ให้ถือปฏิบัติตามข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติของบุคคลตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ว่า ผู้เกิดนอกราชอาณาจักรไทย โดยบิดาผู้มีสัญชาติไทย กับมารดาผู้มีสัญชาติอื่น และบิดามิได้สมรสกับมารดาย่อมได้สัญชาติไทยนั้น เห็นว่า หนังสือดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องหามีผลลบล้างกฎหมายไม่
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share