คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5598/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเบิกความเป็นพยานต่อศาลนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 113 ซึ่งนำมาใช้บังคับในคดีอาญาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 บัญญัติว่า พยานทุกคนต้องเบิกความด้วยวาจาและห้ามมิให้พยานอ่านข้อความที่เขียนมา ซึ่งเห็นได้ว่ากฎหมายประสงค์ให้ศาลและคู่ความฝ่ายอื่นได้มีโอกาสรับฟังคำเบิกความของพยานโดยตรง ให้พยานเล่าเหตุการณ์ที่ตนประสบมาด้วยตนเองและจากความทรงจำของพยานเอง มิให้มีโอกาสเสริมแต่งเรื่องราวให้ผิดเพี้ยนไปจากความจริง เว้นแต่จะมีข้อยกเว้นตามบทบัญญัติของกฎหมายให้เสนอคำพยานด้วยวิธีอื่น ในคดีอาญาซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 230/2 บัญญัติข้อยกเว้นดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่า ศาลอาจอนุญาตให้เสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศแทนการนำพยานบุคคลมาเบิกความต่อหน้าศาลได้ ในกรณีที่ไม่อาจสืบพยานตามวิธีการที่บัญญัติในมาตรา 230/1 จึงไม่อาจนำบทบัญญัติ ป.วิ.พ.มาบังคับใช้โดยอนุโลมด้วยการให้พยานที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นตาม ป.วิ.อ.ดังกล่าวเบิกความด้วยวิธีส่งบันทึกถ้อยคำแทนการมาเบิกความด้วยวาจาได้ ดังนั้น การที่ทนายโจทก์ทั้งสองเสนอบันทึกถ้อยคำของพยานโจทก์ทั้งสองซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยแล้วแถลงขอให้ศาลใช้เป็นคำเบิกความของพยานโจทก์ แม้ทนายจำเลยจะแถลงรับว่าให้ถือเป็นคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสอง ก็ไม่อาจถือว่าบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ บันทึกดังกล่าวคงมีลักษณะเป็นคำแถลงของพยานที่ศาลรับไว้เท่านั้น ส่วนจะนำมารับฟังได้หรือไม่ เพียงใด ย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะพยานหลักฐาน แต่อย่างไรก็ดี ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ทั้งสองไม่ได้อ้างส่งบันทึกถ้อยคำของพยานโจทก์ทั้งสองเป็นพยานเพียงลำพัง เพราะพยานดังกล่าวได้มาเบิกความต่อหน้าศาลโดยเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้าน และเบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามติงด้วย แม้ถือไม่ได้ว่าบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสอง แต่ก็คงมีผลเพียงว่าทนายโจทก์ทั้งสองไม่ติดใจซักถามพยานของตนก่อนเท่านั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นไต่สวนมูลฟ้องของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177, 83 และ 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี ทางนำสืบจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 8 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ทั้งสองและพิจารณามีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า การกลับไปไต่สวนมูลฟ้องใหม่ย่อมเป็นผลเสียแก่จำเลยทั้งสองและฝ่ายจำเลยจะเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ศาลฎีกาควรรับฟังข้อเท็จจริงที่ปรากฏในชั้นพิจารณาและสืบพยานของจำเลยทั้งสองประกอบคำฟ้องอุทธรณ์แล้วนำมาวินิจฉัยคดีนี้มากกว่าให้กลับไปไต่สวนมูลฟ้องนั้น เห็นว่า การเบิกความเป็นพยานต่อศาลนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 113 ซึ่งนำมาใช้บังคับในคดีอาญาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 บัญญัติว่า พยานทุกคนต้องเบิกความด้วยวาจาและห้ามมิให้พยานอ่านข้อความที่เขียนมา ซึ่งเห็นได้ว่ากฎหมายประสงค์ให้ศาลและคู่ความฝ่ายอื่นได้มีโอกาสรับฟังคำเบิกความของพยานโดยตรง ให้พยานเล่าเหตุการณ์ที่ตนประสบมาด้วยตนเองและจากความทรงจำของพยานเอง มิให้มีโอกาสเสริมแต่งเรื่องราวให้ผิดเพี้ยนไปจากความจริง เว้นแต่จะมีข้อยกเว้นตามบทบัญญัติของกฎหมายให้เสนอคำพยานด้วยวิธีอื่น ในคดีอาญาซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 230/2 บัญญัติข้อยกเว้นดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่า ศาลอาจอนุญาตให้เสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศแทนการนำพยานบุคคลมาเบิกความต่อหน้าศาลได้ ในกรณีที่ไม่อาจสืบพยานตามวิธีการที่บัญญัติในมาตรา 230/1 จึงไม่อาจนำบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาบังคับใช้โดยอนุโลมด้วยการให้พยานที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังกล่าวเบิกความด้วยวิธีส่งบันทึกถ้อยคำแทนการมาเบิกความด้วยวาจาได้ ดังนั้น การที่ทนายโจทก์ทั้งสองเสนอบันทึกถ้อยคำของพยานโจทก์ทั้งสองซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยแล้วแถลงขอให้ศาลใช้เป็นคำเบิกความของพยานโจทก์ แม้ทนายจำเลยจะแถลงรับว่าให้ถือเป็นคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสอง ก็ไม่อาจถือว่าบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ บันทึกดังกล่าวคงมีลักษณะเป็นคำแถลงของพยานที่ศาลรับไว้เท่านั้น ส่วนจะนำมารับฟังได้หรือไม่ เพียงใด ย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะพยานหลักฐาน แต่อย่างไรก็ดี ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ทั้งสองไม่ได้อ้างส่งบันทึกถ้อยคำของพยานโจทก์ทั้งสองเป็นพยานเพียงลำพัง เพราะพยานดังกล่าวได้มาเบิกความต่อหน้าศาลโดยเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้าน และเบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามติงด้วย แม้ถือไม่ได้ว่าบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสอง แต่ก็คงมีผลเพียงว่าทนายโจทก์ทั้งสองไม่ติดใจซักถามพยานของตนก่อนเท่านั้น ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า พยานโจทก์ทั้งสองไม่ได้ปฏิญาณหรือสาบานตนก่อนเบิกความต่อศาล ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้รับฟังได้เช่นนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นไต่สวนมูลฟ้องของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามา ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share