แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์ขอแก้ไขชื่อกรรมการผู้มีอำนาจตามที่บรรยายในคำฟ้องจากชื่อ “นายธีรพงษ์” เป็น “นายชีระพงษ์” เป็นเพียงการขอแก้ไขชื่อกรรมการผู้มีอำนาจให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงเท่านั้น จึงเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยซึ่งสามารถกระทำได้ฝ่ายเดียวโดยไม่ต้องให้จำเลยมีโอกาสคัดค้าน และไม่ต้องส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยทราบล่วงหน้าตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) และมาตรา 181 (1) ส่วนกรณีที่โจทก์ขอแก้ไขชื่อ “นายธีระพงษ์” ตามที่ปรากฏในหนังสือมอบอำนาจเป็น “นายชีระพงษ์” นั้นหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการยื่นคำฟ้อง มิใช่คำฟ้องที่โจทก์จะขอแก้ไขได้
การที่โจทก์นำสืบว่าหนังสือมอบอำนาจพิมพ์ชื่อผิดโดยอักษรตัวแรกของชื่อแทนที่จะเป็น “ช” กลับพิมพ์เป็น “ธ” มิใช่การนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารแต่เป็นการนำสืบอธิบายความเป็นมาของหนังสือมอบอำนาจเพื่อยืนยันคำฟ้องที่แก้ไขแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตามใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2547 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวน 192,234.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 190,900.58 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากนายธีรพงษ์ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันโจทก์ได้ตามหนังสือรับรองบริษัทนายธีรพงษ์จึงไม่มีอำนาจลงชื่อร่วมกับนายปราโมทย์มอบอำนาจให้นายบุรินทร์ฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องและหนังสือมอบอำนาจตามคำร้องฉบับลงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 แล้วมีคำสั่งใหม่เป็นให้ยกคำร้องฉบับดังกล่าวชอบหรือไม่ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ยื่นคำฟ้องโดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์โดยนายปราโมทย์และนายธีรพงษ์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายบุรินทร์เป็นผู้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีประการ หนึ่งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้เนื่องจากนายธีรพงษ์ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ศาลภาษีอากรกลางนัดชี้สองสถานวันที่ 22 พฤศจิกายน 2548 ก่อนถึงวันนัด โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 ความว่า เนื่องจากคำฟ้องและหนังสือมอบอำนาจของโจทก์พิมพ์ชื่อกรรมการผิดไปจึงขอแก้ไขชื่อ “นายธีรพงษ์” ตามที่ปรากฏในคำฟ้องเป็น “นายชีระพงษ์” และขอแก้ไขชื่อ “นายธีระพงษ์” ตามที่ปรากฏในหนังสือมอบอำนาจของโจทก์เป็น “นายชีระพงษ์” ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า “อนุญาตสำเนาให้อีกฝ่ายหนึ่ง” ต่อมาในวันนัดชี้สองสถานศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องฉบับลงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 มิใช่คำขอที่จะทำได้แต่ฝ่ายเดียว การที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องโดยมิได้ส่งสำเนาให้จำเลยและให้โอกาสจำเลยโต้แย้งเสียก่อนเป็นการสั่งโดยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 181 ประกอบมาตรา 21 จึงให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตดังกล่าว หลังจากนั้น ศาลภาษีอากรกลางได้สอบทนายจำเลยเกี่ยวกับคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวแล้วศาลภาษีอากรกลางเห็นว่า คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 เป็นกรณีที่โจทก์ขอแก้ไขชื่อกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ที่พิมพ์ผิดพลาดถึง 3 แห่ง โดยบุคคลดังกล่าวถือเป็นบุคคลที่มีอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินธุรกรรมและดำเนินคดีอันนับว่าเป็นบุคคลสำคัญซึ่งไม่ควรให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้น ทั้งหนังสือมอบอำนาจได้ทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2548 และโจทก์นำมายื่นฟ้องเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2548 ซึ่งมีเวลาถึง 15 วัน โจทก์ย่อมมีเวลาตรวจสอบความถูกต้องให้รอบคอบแต่โจทก์กลับปล่อยให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้น ประกอบกับการแก้ไขชื่อกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ดังกล่าวในเอกสารท้ายฟ้องถือเป็นการแก้ไขพยานหลักฐานที่จะต้องใช้ในการพิจารณาคดี มิใช่การแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยในรายละเอียดแห่งคำฟ้อง แต่เป็นการแก้ไขข้อความสำคัญอันก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีซึ่งจำเลยให้การต่อสู้ไว้ และจำเลยได้แถลงคัดค้านคำร้องขอแก้ไขฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์ เมื่อเป็นดังนี้จึงไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องและให้ยกคำร้อง เห็นว่า การที่จะวินิจฉัยว่าการแก้ไขอย่างไรเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยในคำฟ้องต้องดูจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นหลัก ซึ่งตามปกติการขอแก้ไขเพิ่มเติมสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ถือได้ว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในข้อสาระสำคัญแต่กรณีโจทก์ขอแก้ไขชื่อกรรมการผู้มีอำนาจตามที่บรรยายในคำฟ้องจากชื่อ “นายธีรพงษ์” เป็น “นายชีระพงษ์” นั้น เป็นเพียงการขอแก้ไขชื่อกรรมการผู้มีอำนาจให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงเท่านั้น จึงเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ซึ่งสามารถกระทำได้แต่ฝ่ายเดียวโดยไม่ต้องให้จำเลยมีโอกาสคัดค้าน และไม่ต้องส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยทราบล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (2) และมาตรา 181 (1) ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนชื่อของนายธีรพงษ์ เป็นนายชีระพงษ์จึงชอบแล้ว สำหรับกรณีที่โจทก์ขอแก้ไขชื่อ “นายธีระพงษ์” ตามที่ปรากฏในหนังสือมอบอำนาจเป็น “นายชีระพงษ์” นั้น เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นเอกสารที่โจทก์จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นคำฟ้อง มิใช่คำฟ้องที่โจทก์อาจจะขอแก้ไขได้ ดังนั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขหนังสือมอบอำนาจจึงชอบแล้ว แต่ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์มีนายชีระพงษ์ เป็นพยานเบิกความว่าพยานเป็นกรรมการของโจทก์และได้ร่วมกับนายปราโมทย์ กรรมการของโจทก์อีกผู้หนึ่งลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้นายบุรินทร์ ฟ้องคดีนี้แทน แต่พนักงานของโจทก์พิมพ์ชื่อพยานในเอกสารดังกล่าวผิดพลาดไป โดยพิมพ์ชื่อพยานเป็น “ธีระพงษ์” แทนที่จะเป็น “ชีระพงษ์” ส่วนจำเลยมีจ่าสิบเอกสุขสันต์ เป็นพยานเบิกความว่า ตามหนังสือมอบอำนาจระบุว่าโจทก์โดยนายปราโมทย์ และนายธีระพงษ์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทมอบอำนาจให้นายบุรินทร์ เป็นผู้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ เมื่อนายธีระพงษ์ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันโจทก์ได้ตามหนังสือรับรอง นายธีระพงษ์จึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับนายปราโมทย์มอบอำนาจให้นายบุรินทร์ฟ้องคดีแทน การที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบ ถือเป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร นั้น เห็นว่า ตามทางนำสืบของจำเลยมิได้ยืนยันว่านายธีระพงษ์ เป็นบุคคลซึ่งมีตัวตนจริง และเป็นคนละคนกับนายชีระพงษ์ การที่โจทก์นำสืบว่าหนังสือมอบอำนาจพิมพ์ชื่อนายชีระพงษ์ผิดโดยอักษรตัวแรกของชื่อแทนที่จะเป็น “ช” กลับพิมพ์เป็น “ธ” จึงมิใช่การนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร แต่เป็นการนำสืบอธิบายความเป็นมาของหนังสือมอบอำนาจเพื่อยืนยันคำฟ้อง (ที่แก้ไขแล้ว) ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์โดยนายชีระพงษ์ และนายปราโมทย์ ร่วมกันลงชื่อมอบอำนาจให้นายบุรินทร์ ฟ้องคดีแทน ทั้งจำเลยก็มิได้นำสืบหักล้างว่านายชีระพงษ์ มิได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานจำเลยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายชีระพงษ์ และนายปราโมทย์ กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจและประทับตราสำคัญของโจทก์มอบอำนาจให้นายบุรินทร์ ฟ้องคดีแทน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นอื่นปรากฏว่าศาลภาษีอากรกลางยังมิได้วินิจฉัย แม้คู่ความจะได้นำสืบข้อเท็จจริงมาเสร็จสิ้นแล้วและเป็นการเพียงพอที่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจะวินิจฉัยไปเสียเองได้ แต่เพื่อให้คดีมีการตรวจสอบดุลพินิจเป็นไปตามลำดับชั้นศาล จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาพิพากษาใหม่”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ให้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาในประเด็นที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี โดยอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องเฉพาะในส่วนชื่อของผู้มอบอำนาจที่ระบุในคำฟ้องได้ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลภาษีอากรกลางรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่