คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5126/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้น แม้เมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตามที่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคสาม (2) ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายก็ตาม แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด ถึงแม้โจทก์จะอ้างบทมาตราที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในคำขอท้ายฟ้องมาด้วย ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง คงลงโทษจำเลยได้เพียงฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 67 เท่านั้น
การที่ศาลจะสั่งริบทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดได้ก็ต่อเมื่อมีการกระทำความผิดนั้น และโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดนั้นด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โทรศัพท์เคลื่อนที่และธนบัตรที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนก่อนหน้านี้จึงมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในคดีนี้ ตามมาตรา 102 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ทั้งมิใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยกระทำความผิดซึ่งหมายถึงเฉพาะความผิดที่ได้กระทำในคดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 (2) จึงไม่อาจริบได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 750 เม็ด น้ำหนัก 54.320 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.973 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยทั้งสองเสพเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว จำนวนและน้ำหนักเท่าใดไม่ปรากฏชัดโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 2 เครื่อง ที่จำเลยทั้งสองใช้ติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนและเงินจำนวน 23,000 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนก่อนหน้านี้เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 15 วรรคสาม (2), 57, 66 วรรคสอง, 91, 100/1, 102 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุกคนละ 1 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 4 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท รวมจำคุกคนละ 5 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 200,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับแต่ไม่เกิน 2 ปี ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 67 (ที่ถูกเป็นความผิดตามมาตรา 15 วรรคสาม (2) แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 67) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 4 ปี ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ปรับคนละ 10,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 5,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ไม่ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 2 เครื่องและธนบัตรของกลางแต่ให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบเพื่อจำหน่าย หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1 ก. ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 750 เม็ด น้ำหนัก 54.320 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.973 กรัม ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้น แม้เมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.973 กรัม ซึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายก็ตาม แต่โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด ถึงแม้โจทก์จะอ้างบทมาตราที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในคำขอท้ายฟ้องมาด้วย ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง คงลงโทษจำเลยทั้งสองได้เพียงฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 67 เท่านั้น ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาไม่ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่และธนบัตรของกลางนั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลจะสั่งริบทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดได้ก็ต่อเมื่อมีการกระทำความผิดนั้น และโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดนั้นด้วย เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 2 เครื่อง และธนบัตรที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนก่อนหน้านี้ จึงมิใช่เครื่องมือเครื่องใช้ หรือวัตถุซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในคดีนี้ตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ทั้งมิใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยกระทำความผิดซึ่งหมายถึงเฉพาะความผิดที่ได้กระทำในคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 (2) จึงยังไม่อาจริบได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาไม่ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 2 เครื่อง และธนบัตรของกลางนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share