แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ศาลชั้นต้นจะชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ซึ่งหมายรวมถึงเรื่องหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่ด้วย แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยมิได้หยิบยกปัญหาเรื่องหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่ขึ้นวินิจฉัย และจำเลยก็มิได้อุทธรณ์โต้แย้งในปัญหาดังกล่าวการที่จำเลยฎีกาปัญหานี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นไม่สมควรที่จะยกขึ้นวินิจฉัยให้ย่อมไม่ยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ได้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งในที่ดินพิพาทฟ้องขับไล่จำเลยเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์เพื่อต่อสู้กับจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359ส่วนกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 302 นั้นหมายความว่าเมื่อโจทก์ได้ทรัพย์สินคืนมาแล้วต้องเป็นของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมร่วมกัน โจทก์จะอ้างเอาเป็นของตนแต่ผู้เดียวไม่ได้เท่านั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย จำเลยอุทธรณ์แต่เพียงว่า โจทก์ไม่เสียหาย อุทธรณ์ของจำเลยมิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายไม่ชอบอย่างไร และที่ถูกต้องเป็นอย่างไร เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งจึงชอบที่ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าไม่เป็นประเด็นที่จะวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายชัยพฤกษ์และหรือนายวิชาญฟ้องคดีแทน ตามหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้อง ตึกแถวพิพาทเป็นตึกแถว2 ชั้นครึ่ง เลขที่ 13/13 เดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของนายคง บิดาโจทก์ตึกแถวดังกล่าวปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดที่ 27004 ต่อมาปี 2524นายคงถึงแก่กรรม ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก โจทก์ได้จัดการโอนตึกแถวและที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์แล้ว จำเลยได้เช่าตึกแถวพิพาทจากนายคงมีกำหนดเวลา 20 ปี ปรากฏว่าในระหว่างระยะเวลาตามสัญญาเช่าจำเลยได้ผิดเงื่อนไขสัญญาเช่าโดยได้ทำการต่อเติมตึกแถวพิพาท และยอมให้บุคคลอื่นมาทำการค้า โดยมิได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากนายคงและโจทก์ก่อน ซึ่งเป็นการผิดสัญญา โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย จำเลยได้รับหนังสือแล้ว ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากตึกแถวพิพาท เลขที่ 13/13หมู่ที่ 2 ถนนงามวงศ์วาน ตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรีจังหวัดนนทบุรี ห้ามมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องในตึกแถวพิพาทต่อไปกับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 34,500 บาท แก่โจทก์กับค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากตึกแถวพิพาท
จำเลยให้การว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไม่สมบูรณ์ เพราะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ 27004 พร้อมตึกแถวพิพาทเลขที่ 13/13 จำเลยไม่เคยผิดสัญญาเช่า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากตึกแถวเลขที่ 13/13 หมู่ที่ 2 ถนนงามวงศ์วาน ตำบลบางเขนอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 1,500 บาท นับแต่เดือนมีนาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากตึกแถวพิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตึกแถวพิพาทเป็นตึกแถว 2 ชั้นครึ่ง เลขที่ 13/13หมู่ที่ 2 ตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ปลูกสร้างเมื่อปี 2520 ในที่ดินโฉนดที่ 27004 ตำบลบางเขน (ลาดโตนด)อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี เดิมตึกแถวพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนายคง ฉ่ำใจ บิดาโจทก์ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม2520 จำเลยได้เช่าตึกแถวพิพาทจากนายคงมีกำหนดเวลา 20 ปี ค่าเช่าเดือนละ 150 บาท ตามหนังสือสัญญาเช่าและสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาปี 2524 นายคงถึงแก่กรรม โจทก์ซึ่งเป็นบุตรคนเดียวของนายคงเป็นผู้จัดการมรดกของนายคงตามคำสั่งศาลแพ่ง หลังจากนั้นโจทก์ได้โอนทรัพย์สินอันเป็นมรดกของนายคงเป็นของโจทก์และต่อมาโจทก์ได้ขายที่ดินโฉนดที่ 27004 บางส่วนให้แก่บุคคลอื่นไปโดยโจทก์ยินยอมให้ผู้ซื้อเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.13
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะหนังสือมอบอำนาจไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนนั้น เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นจะชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ซึ่งหมายรวมถึงเรื่องหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่ด้วยก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยมิได้หยิบยกปัญหาเรื่องหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยและจำเลยก็มิได้อุทธรณ์โต้แย้งในปัญหาดังกล่าว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่สำหรับคดีนี้ ศาลฎีกาเห็นไม่สมควรที่จะยกขึ้นวินิจฉัยให้ จึงไม่ยกขึ้นวินิจฉัยตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม โจทก์จะฟ้องเพื่อประโยชน์ของโจทก์แต่ลำพังไม่ได้นั้น เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 27004 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.13 และเป็นเจ้าของตึกแถวพิพาทที่จำเลยเช่า แม้โจทก์จะขายที่ดินนั้นไปบางส่วนแต่โจทก์ก็ยังเป็นเจ้าของรวมในที่ดินดังกล่าวอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 บัญญัติว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆอาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก” การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยคดีนี้จึงเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ เพื่อต่อสู้กับจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ส่วนที่จำเลยอ้างว่าการเรียกทรัพย์สินคืนของเจ้าของรวมต้องอยู่ใต้บังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 302นั้นก็หมายความว่า เมื่อโจทก์ได้ทรัพย์สินคืนมาแล้ว ต้องเป็นของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมร่วมกัน โจทก์จะอ้างเอาเป็นของตนแต่ผู้เดียวไม่ได้เท่านั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเรื่องค่าเสียหายเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า จำเลยอุทธรณ์แต่เพียงว่าโจทก์ไม่เสียหาย อุทธรณ์ของจำเลยมิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายไม่ชอบอย่างไร และที่ถูกต้องเป็นอย่างไรจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าไม่เป็นประเด็นที่จะวินิจฉัยนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน