แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การผลิตปลากระป๋อง การสั่งปลาและการรับมอบปลาจากโจทก์ จำเลยรับว่าเกิดในที่ทำการของจำเลย แต่อ้างว่าเป็นการกระทำโดยส่วนตัวของ พ. และ ร. การที่จำเลยยินยอมให้ พ. และ ร. ใช้สถานที่ของจำเลยประกอบการผลิตปลากระป๋อง โดยเครื่องมือการผลิตเครื่องมือสื่อสารติดต่อกับโจทก์ทั้งเครื่องโทรศัพท์และเครื่องโทรสาร รวมทั้งแบบฟอร์มใบสำคัญจ่ายซึ่งเป็นหลักฐานแสดงการยอมรับว่าเป็นหนี้ของจำเลย ประกอบกับวัตถุประสงค์ของจำเลยตามที่จดทะเบียนระบุว่า จำเลยประกอบกิจการค้าอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้าใจโดยสุจริตว่า พ. และ ร. กระทำการในนามของจำเลยหรืออีกนัยหนึ่งจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการดังกล่าวเอง เป็นการที่จำเลยเชิด พ. และ ร. ออกเป็นตัวแทนหรือยินยอมให้ พ. และ ร. เชิดตัวเองเป็นตัวแทน จำเลยจึงต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำของ พ. และ ร. ในฐานะตัวการ ต้องชำระค่าปลาให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821
แม้ฟ้องจะมิได้กล่าวเกี่ยวกับการเป็นตัวการตัวแทน โจทก์ก็นำสืบเรื่องนี้ได้เพราะเป็นการนำสืบข้อเท็จจริงในรายละเอียด เนื่องจากในการติดต่อทำสัญญาซื้อขายกันอาจทำได้โดยตนเองหรือมีตัวแทนไปติดต่อทำสัญญาซื้อขายแทนกันก็ได้ และศาลวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ได้ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
โจทก์ประกอบธุรกิจขายปลา ทำสัญญาขายปลาให้จำเลยนำไปใช้ผลิตปลากระป๋องออกจำหน่ายอันเป็นการประกอบธุรกิจของจำเลย จึงเข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) การฟ้องเรียกค่าปลาจากจำเลยจึงต้องใช้อายุความห้าปีตามมาตรา 193/33 (5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยสั่งซื้อปลาชนิดต่างๆ จากโจทก์เพื่อนำไปผลิตปลากระป๋อง ตกลงชำระค่าปลาภายใน 15 วันนับแต่ได้รับปลา โจทก์ส่งปลาให้จำเลย ปรากฏว่าจำเลยค้างชำระค่าปลาโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 476,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 465,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยสั่งซื้อปลาจากโจทก์ และชำระค่าปลาแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 465,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 ตุลาคม 2543) ไม่เกิน 11,625 บาท ตามที่โจทก์ขอ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ประกอบกิจการขายปลามีแพปลาอยู่ที่จังหวัดปัตตานี จำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีกรรมการ 4 คน คือนางสาววรรณา นางสาวเพ็ญนภา นายสหเทพ และนางรักจิตร เป็นกรรมการโดยนางสาววรรณาหรือนางสาวเพ็ญนภา คนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัท กระทำการแทนบริษัท เมื่อปี 2541 นางรักจิตรและนายไพศาลซึ่งเป็นสามีภริยาได้ร่วมกันติดต่อซื้อขายปลากับโจทก์และมีหนี้ค่าปลาค้างชำระโจทก์
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยซื้อปลาชนิดต่างๆ จากโจทก์ไปหลายครั้งตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2541 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2543 โดยจำเลยผ่อนชำระค่าปลาเรื่อยมาและเมื่อคิดบัญชีกันแล้ว จำเลยยังค้างชำระค่าปล่า ขอให้จำเลยชำระแก่โจทก์เป็นการบรรยายถึงสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับแล้ว ส่วนมีการซื้อปลาชนิดใดจำนวนราคาเท่าใดจำนวนราคาเท่าใดและเมื่อใด เป็นเพียงรายละเอียดที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อมาว่า จำเลยซื้อปลาและค้างชำระคำปลาแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2541 นายไพศาล และนางรักจิตรมาติดต่อขอซื้อปลาจากโจทก์อ้างว่าเป็นพนักงานจัดซื้อวัตถุดิบของจำเลยเพื่อนำไปผลิตเป็นปลากระป๋อง โจทก์จึงไปตรวจสอบยังที่ทำการของจำเลยซึ่งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร พบว่าจำเลยประกอบกิจการค้าผลิตปลากระป๋องจริง จึงตกลงขายปลาให้และจากนั้นโจทก์กับจำเลยได้ซื้อขายปลากันอีกหลายครั้งโดยในการซื้อขายเมื่อจำเลยต้องการปลาชนิดใดเท่าใด จำเลยจะโทรศัพท์สั่งให้โจทก์นำปลามาส่งยังที่ทำการของจำเลย และเมื่อจำเลยได้รับปลาแล้วจำเลยจะออกใบสำคัญจ่ายและส่งสำเนาใบสำคัญจ่ายไปให้โจทก์ทางโทรสาร ส่วนการชำระค่าปลา จำเลยจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารให้โจทก์ ดังปรากฏตามสำเนาใบฝากเงิน บัญชีกระแสรายวันและใบสำคัญจ่าย เห็นว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิตปลากระป๋อง การสั่งปลาและการรับมอบปลาจากโจทก์ จำเลยนำสืบรับว่าเกิดในที่ทำการของจำเลย แต่อ้างว่าเป็นการกระทำโดยส่วนตัวเองของนายไพศาลและนางรักจิตร การที่จำเลยยินยอมให้นายไพศาลและนางรักจิตรใช้สถานที่ของจำเลยประกอบการผลิตปลากระป๋องโดยเครื่องมือการผลิต เครื่องมือสื่อสารติดต่อกับโจทก์ทั้งเครื่องโทรศัพท์และเครื่องโทรสาร รวมทั้งแบบฟอร์มใบสำคัญจ่ายซึ่งเป็นหลักฐานแสดงการยอมรับว่าเป็นหนี้ของจำเลย ประกอบกับวัตถุประสงค์ของจำเลยตามที่จดทะเบียนไว้ข้อ 9 ระบุว่า จำเลยประกอบกิจการค้าอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้าใจโดยสุจริตว่านายไพศาลและนางรักจิตรกระทำการในนามของจำเลยหรืออีกนัยหนึ่งจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการดังกล่าวเอง เป็นการที่จำเลยเชิดนายไพศาลและนางรักจิตรออกเป็นตัวแทนหรือยินยอมให้นายไพศาลหรือนางรักจิตรเชิดตัวเองเป็นตัวแทน จำเลยจึงต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำของนายไพศาลและนางรักจิตรในฐานะเป็นตัวการ ต้องชำระค่าปลาให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 ซึ่งค่าปลาที่จะต้องชำระ นายไพศาลได้เบิกความรับว่า ค้างชำระแก่โจทก์เท่าจำนวนตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยจึงต้องชำระค่าปลาตามฟ้องให้แก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การที่ศาลฟังว่า นายไพศาลและนางรักจิตรเป็นตัวแทนเชิดของจำเลย เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง นอกประเด็น เห็นว่า แม้ฟ้องจะมิได้กล่าวเกี่ยวกับการเป็นตัวการตัวแทน โจทก์ก็นำสืบเรื่องนี้ได้เพราะเป็นการนำสืบข้อเท็จจริงในรายละเอียด เนื่องจากในการติดต่อทำสัญญาซื้อขายกันอาจทำได้โดยตนเองหรือมีตัวแทนไปติดต่อทำสัญญาซื้อขายแทนกันก็ได้ และศาลวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ได้ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องประเด็น ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ประกอบธุรกิจขายปลา ทำสัญญาขายปลาให้จำเลยนำไปใช้ผลิตปลากระป๋องออกจำหน่ายอันเป็นการประกอบธุรกิจของจำเลยจึงเข้ายกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) การฟ้องเรียกค่าปลาจากจำเลยจึงต้องใช้อายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ยังไม่ขาดอายุความชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท