แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟ้องเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดก และเงินรายได้จากทรัพย์มรดกนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องบอกกล่าวจำเลยก่อนฟ้อง โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องขอแบ่งที่ดินมรดกและรายได้จากที่ดินมรดกได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวขอแบ่งมรดกก่อน โจทก์ทั้งสี่ฟ้องบังคับให้ขายทอดตลาดที่ดินมรดกราคาประมาณ8,000,000 บาท แล้วนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ทั้งสี่ 1 ใน 8 ส่วนเป็นเงินประมาณ 1,000,000 บาท การที่ศาลพิพากษาให้แบ่งที่ดินมรดกให้โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับ 1 ใน 8 ส่วน หากไม่สามารถทำได้ให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งนั้นเป็นการพิพากษาให้มีการแบ่งที่ดินมรดกซึ่งโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามส่วน ตามวิธีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 คำพิพากษาของศาลจึงหาได้ขัดต่อ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142แต่อย่างใดไม่ โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง5 ใน 64 ส่วน โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งคนละ 1 ใน 64 ส่วน การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แบ่งที่ดินให้โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับ 1 ใน 8 ส่วน โดยมิได้ระบุส่วนแบ่งของโจทก์แต่ละคนนั้นเป็นการไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาแก้ให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายประเมิน สุวรรณเกษร มีบุตรร่วมกัน 3 คน คือโจทก์ที่ 2ที่ 3 และที่ 4 นายประเมินถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสี่เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายประเมิน นายประเมินเป็นบุตรนายฉื่อฮุ้นและนางแดง เยาว์ภิรมย์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีกคนหนึ่งคนคือจำเลยที่ 7 นายฉื่อฮุ้นถึงแก่ความตายเมื่อปี 2474ต่อมานางแดงแต่งงานอยู่กินกับนายชม เยาว์ภิรมย์ เมื่อปี 2478โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและมีบุตรร่วมกัน 6 คน คือจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 นางแดงถึงแก่ความตายเมื่อปี 2513 โดยไม่มีพินัยกรรมและมิได้ตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก นางแดงมีมรดกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 582 เลขที่ดิน 3 ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง เนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน 91 ตารางวา (ที่ถูกคือ91 6/10 ตารางวา) ซึ่งต้องนำมาแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรม 8 คนคือนายประเมินและจำเลยทั้งเจ็ดคนละ 1 ใน 8 ส่วน ขอบังคับให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 582 ระหว่างโจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งเจ็ดโดยขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวแล้วนำเงินรายได้มาแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสี่ 1 ใน 8 ส่วน เป็นเงินประมาณ 1,000,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แบ่งเงินรายได้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 582 ให้แก่โจทก์ทั้งสี่เป็นเงิน 888,000 บาท พร้อมค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แบ่งเงินรายได้ผลประโยชน์ค่าเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 582 ที่จัดเก็บได้นับตั้งแต่วันฟ้องให้โจทก์ทั้งสี่รวม 1 ใน 8 ส่วน จนกว่าจะมีการแบ่งที่ดินดังกล่าวเสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายประเมิน สุวรรณเกษรและโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายประเมินโจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ได้เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางแดง เยาว์ภิรมย์ โจทก์ทั้งสี่ได้ร่วมกันยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกที่ดินพิพาททั้งหมดเป็นผลให้โจทก์ทั้งสี่ถูกกำจัดไม่ให้ได้รับมรดกเลย โจทก์ทั้งสี่ไม่เคยเรียกร้องขอให้แบ่งที่ดินพิพาทก่อนฟ้อง ที่ดินพิพาทมีราคาไม่ถึง 8,000,000 บาท โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิรับมรดกที่ดินแทนที่นายประเมิน 1 ใน 8 ส่วนเป็นเงินไม่เกิน 125,000 บาท โจทก์ทั้งสี่นำคดีมาฟ้องขอแบ่งมรดกที่ดินเกิน 1 ปีนับแต่โจทก์ทั้งสี่รู้ถึงการตายของเจ้ามรดกคดีของโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว โจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิได้รับเงินรายได้หรือผลประโยชน์จากค่าเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 582 ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้เป็นฟ้องเคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 582ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ให้โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับ 1 ใน 8 ส่วน หากไม่สามารถทำได้ให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นของโจทก์ให้ยก
โจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตาย นางฉลวย สุวรรณเกษร และนางขนิษฐา บุญยะพุกกะนะผู้จัดการมรดกของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ทั้งสี่ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 25,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งเจ็ดฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 5 ถึงแก่ความตายนางสุวรรณา เยาว์ภิรมย์ ทายาทของจำเลยที่ 5 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งเจ็ดฎีกาว่า โจทก์ทั้งสี่มิได้บอกกล่าวขอแบ่งมรดกก่อนฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้แบ่งที่ดินมรดกและรายได้จากที่ดินมรดกดังกล่าวระหว่างโจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งเจ็ด การฟ้องเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดก และเงินรายได้จากทรัพย์มรดกนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องบอกกล่าวจำเลยก่อนฟ้อง ดังนั้นไม่ว่าโจทก์ทั้งสี่ได้บอกกล่าวขอแบ่งมรดกก่อนฟ้องแล้วหรือไม่ โจทก์ทั้งสี่ก็มีอำนาจฟ้องขอแบ่งที่ดินมรดกและรายได้จากที่ดินมรดกได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่จำเลยทั้งเจ็ดฎีกาว่าโจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้ขายทอดตลาดโฉนดเลขที่ 582 ตำบลเชิงเนินอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ราคาประมาณ 8,000,000 บาท แล้วนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ทั้งสี่ 1 ใน 8 ส่วน เป็นเงินประมาณ 1,000,000บาท ศาลล่างทั้งสองพิพากษาบังคับให้แบ่งที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับ 1 ใน 8 ส่วน หากไม่สามารถทำได้ให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่ง เป็นการตัดสินไม่ตรงตามข้อหาในคำฟ้องที่โจทก์ขอบังคับ ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 นั้นเห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 582ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ให้โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับ 1 ใน 8 ส่วน หากไม่สามารถทำได้ให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งนั้น เป็นการพิพากษาให้มีการแบ่งที่ดินมรดกซึ่งโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามส่วน ตามวิธีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงหาได้ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142แต่อย่างใดไม่
อย่างไรก็ตามที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 582ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ 1 ใน 8 ส่วนนั้น โจทก์ทั้งสี่ได้บรรยายฟ้องมาด้วยว่า โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง 5 ใน 64 ส่วนและโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งคนละ 1 ใน 64ส่วน การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้แบ่งที่ดินให้โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับ 1 ใน 8 โดยมิได้ระบุส่วนแบ่งของโจทก์แต่ละคนนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาแก้ให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 582 ตำบลเชิงเนินอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ให้โจทก์ทั้งสี่รวม 1 ใน 8 ส่วนโดยแบ่งให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 5 ใน 64 ส่วน และโจทก์ที่ 2 ที่ 3และที่ 4 คนละ 1 ใน 64 ส่วน และไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสี่ที่จะฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความในส่วนที่เกี่ยวกับการขอแบ่งเงินรายได้ผลประโยชน์ค่าเช่าที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ