คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1177/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาล โดยจำเลยที่ 1 ยอมใช้เงินแก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ยอมรับประกัน ศาลพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด ต่อมาจำเลยผิดนัด โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน โดยก่อนจะยึดก็ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ขณะทำการยึดเจ้าพนักงานปิดประกาศหมายยึด จำเลยที่ 2 ก็ฉีกทำลายเสีย ทั้งได้ความว่าจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์ให้ยึดจริง เช่นนี้ คดีจึงยังไม่พอฟังว่าโจทก์แกล้งยึดโดยไม่สุจริต หรือเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอย่างใดไม่ ฉะนั้น แม้จะมีการชำระหนี้ภายหลังครบถ้วนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมการยึดที่ไม่มีการขายนั้น

ย่อยาว

คดีนี้ มูลกรณีเนื่องจากคู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลว่าจำเลยที่ 1 ยอมใช้ต้นเงิน 30,000 บาท และดอกเบี้ยรวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์โดยผ่อนชำระเป็นงวด ๆ จำเลยที่ 2 ยอมรับประกัน ศาลพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด ต่อมาจำเลยผิดนัดศาลออกหมายบังคับคดีและยึดที่ดินพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้าน

ต่อมาได้มีการชำระหนี้ตามยอมครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องขอให้ถอนการยึด และให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมการยึดแล้วไม่มีการขาย โจทก์คัดค้าน คดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ซึ่งเห็นว่าปัญหาเรื่องโจทก์ยึดทรัพย์ของจำเลยราคากว่าเจ็ดแสนบาทเพื่อใช้หนี้เพียงสามหรือสี่หมื่นบาท ส่วนที่ยึดเกินไปนั้นโจทก์มิได้แสดงเหตุผล ถ้าข้อเท็จจริงได้ความชัดว่าจำเลยที่ 2 มีทรัพย์อื่นอย่างพอเพียงจริง โจทก์ย่อมมีส่วนผิดหรือบกพร่องอยู่ด้วยและอาจจะต้องรับผิดหรือร่วมรับผิดด้วยกันกับจำเลยตามที่ศาลจะพึงใช้ดุลพินิจเท่าที่พิจารณาเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนแล้วทำคำสั่งใหม่ตามรูปความ

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเชื่อว่าที่ดินพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างมีราคามากกว่านี้หลายเท่า ที่โจทก์นำยึดนับว่าเกินที่จำเป็นแก่การบังคับคดีมากมาย โจทก์ดำเนินคดีด้วยขาดความระมัดระวังนับว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตจึงมีคำสั่งให้โจทก์กับจำเลยที่ 2 ใช้ค่าธรรมเนียมการยึดก่อนมีการขายคนละครึ่งเท่า ๆ กัน

โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีไปโดยจำเป็น ไม่ได้ดำเนินไปเพราะผิดพลาดหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์ไม่ต้องรับผิดชอบ พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ต้องเสียค่าธรรมเนียมการยึดแล้วไม่มีการขายนั้นแต่ฝ่ายเดียว

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับเงินฝากในธนาคารโจทก์ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นบัญชีของจำเลยที่ 2 และมีอยู่เกินกว่าจำนวนหนี้นั้นความจริงเป็นบัญชีของบัญชีของบริษัทยูไนเต็ดเซาท์เอเชีย ไม่ใช่บัญชีของจำเลยที่ 2 และในวันที่ยึดก็มีเงินไม่พอกับจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าบริษัทยูไนเต็ดเซาท์เอเชียก็คือจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์รู้ดี เพราะคำฟ้องหน้าต้นระบุว่า “นายประสาท กิตติเวชเจ้าของบริษัทยูไนเต็ดเซาท์เอเชีย” ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 2 โดยส่วนตัวกับบริษัทย่อมมีฐานะในทางบุคคลต่างกันเป็นคนละคนไม่ใช่บุคคลคนเดียวกัน จะให้โจทก์หักเงินในบัญชีของบริษัทมาชำระหนี้ของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ เพราะบริษัทไม่ได้เป็นลูกหนี้โจทก์หรือยินยอมให้โจทก์หักเงินในบัญชีของบริษัทชำระหนี้แทนจำเลยที่ 2 ได้ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนเรื่องรถยนต์ยี่ห้อแพกการ์ด ราคา 90,000 บาท รถยนต์ยี่ห้อโกด้า เรือยนต์และสิ่งปลูกสร้างอีก 3 หลังนั้น ทางไต่สวนได้ความว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ 2 ครั้ง ครั้งแรกยึดที่ดิน ครั้งหลังยึดสิ่งปลูกสร้าง จำเลยที่ 2 และลูกจ้างให้การว่า ในวันแรกที่ไปยึดที่ดินได้บอกให้ยึดรถยนต์แพกการ์ดแล้วแต่โจทก์ไม่ยอม อ้างว่าไม่สนใจจะยึดทรัพย์อื่น เพราะไม่แน่ใจว่าจะเป็นของจำเลยที่ 2 จริงหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเรื่องนี้ก่อนที่โจทก์จะยึดทรัพย์ โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบล่วงหน้าแล้ว ครั้นเมื่อเจ้าพนักงานกองหมายปิดประกาศหมายยึด จำเลยที่ 2 ก็ฉีกทำลายเสีย แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะบิดพลิ้วต่อการชำระหนี้อยู่แล้ว แม้แต่เมื่อยึดแล้วจำเลยที่ 2 ก็ยังโต้เถียงให้ไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ก่อนจนเกิดเป็นกรณีพิพาทกันถึงศาลฎีกาและได้ความว่าจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีทรัพย์ให้ยึดจริง ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่เป็นมา ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ผู้แทนโจทก์ไม่สนใจยึดทรัพย์อื่น เพราะไม่แน่ใจว่าจะเป็นของจำเลยที่ 2 จริงหรือไม่นั้นมีเหตุผลรับฟังได้ คดียังไม่พอฟังว่าโจทก์แกล้งยึดโดยไม่สุจริตหรือเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับผิดฝ่ายเดียวชอบแล้วฎีกาจำเลยที่ 2ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share