แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเป็นการนำเอาสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่มาใช้บังคับแก่ลูกหนี้ จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในเรื่องอายุความตาม ป.พ.พ.บรรพ 1 ลักษณะ 6
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2529 ให้ลูกหนี้กับพวกร่วมกันชำระเงินแก่เจ้าหนี้ สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อลูกหนี้จึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามป.พ.พ.มาตรา 193/32 เจ้าหนี้นำเอาหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2539 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี เจ้าหนี้จึงมีสิทธิฟ้องได้ และมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามป.พ.พ.มาตรา 193/14 (2) และทำให้ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้น ไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดไปแล้วตามมาตรา 193/15 วรรคสอง เมื่อเจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในขณะที่อายุความยังสะดุดหยุดลงจึงไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 (1)กรณีนี้มิใช่เป็นการที่เจ้าหนี้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา จึงนำเอาระยะเวลาการบังคับคดี 10 ปี ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 271 มาปรับใช้แก่กรณีนี้ไม่ได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้สำหรับมูลหนี้ตามคำพิพากษาเพียงใด แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะมิได้วินิจฉัย แต่ศาลฎีกาเห็นว่าเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน
เจ้าหนี้ฎีกาเฉพาะมูลหนี้ตามคำพิพากษา จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลฎีกาเพียง 25 บาท ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 179 (2) วรรคท้าย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้(จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๙
ต่อมาวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๐ เจ้าหนี้นำหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ ๖๒๗๘/๒๕๒๙ ของศาลแพ่งธนบุรี จำนวน ๖๔๐,๐๒๙.๒๘ บาทและหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๓๓๘/๒๕๓๐ ของศาลแพ่งธนบุรีจำนวน ๒,๐๒๗,๙๐๗.๙๔ บาท รวมเป็นเงิน ๒,๖๖๗,๙๓๗.๒๒ บาท มาขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๐๔ แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านคำขอรับชำระหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเสนอความเห็นต่อศาลชั้นต้นว่า สมควรให้เจ้าหนี้รายที่ ๑ ได้รับชำระหนี้จากมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๓๓๘/๒๕๓๐ ของศาลแพ่งธนบุรี เป็นเงิน ๑,๙๙๖,๕๖๗.๙๘ บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๓๐ (๘)โดยมีเงื่อนไขว่า หากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากนายประกอบ ประศาสน์กิจเจริญลูกหนี้ร่วมในคดีแพ่งแล้วเพียงใด ให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงเพียงนั้น ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย และให้ยกคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๖๒๗๘/๒๕๒๙ เสียทั้งสิ้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ให้เจ้าหนี้รายที่ ๑ ได้รับชำระหนี้จากมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๓๓๘/๒๕๓๐ ส่วนมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๖๒๗๘/๒๕๒๙ ให้ยกเสียทั้งสิ้นตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๓๓๘/๒๕๓๐ เป็นเงิน๒,๐๒๗,๙๐๗.๙๔ บาท เต็มตามขอ จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๑๓๐ (๘) โดยมีเงื่อนไขว่า หากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากนายประกอบ ประศาสน์กิจเจริญ ลูกหนี้ร่วมในคดีแพ่งแล้วเพียงใด ให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงเพียงนั้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๗ โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่า มูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๖๒๗๘/๒๕๒๙ ของศาลแพ่งธนบุรี ศาลได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้กับพวกร่วมกันชำระเงินให้เจ้าหนี้ เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๙คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ลูกหนี้กับพวกไม่ชำระ เจ้าหนี้จึงนำเอาหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๖๒๗๘/๒๕๒๙ และ ๒๓๓๘/๒๕๓๐ ของศาลแพ่งธนบุรี มาฟ้องลูกหนี้ขอให้ล้มละลายเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๙ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ เจ้าหนี้จึงนำเอาหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองฉบับดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ว่า หนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๖๒๗๘/๒๕๒๙ ของศาลแพ่งธนบุรี เป็นหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ ซึ่งต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓มาตรา ๙๔(๑) หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเป็นการนำเอาสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่มาใช้บังคับแก่ลูกหนี้ จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ ลักษณะ ๖คดีนี้ศาลแพ่งธนบุรีมีคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๖๒๗๘/๒๕๒๙ เมื่อวันที่ ๒๙ธันวาคม ๒๕๒๙ ให้ลูกหนี้กับพวกร่วมกันชำระเงินแก่เจ้าหนี้ สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อลูกหนี้จึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดมีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๒ เจ้าหนี้นำเอาหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม๒๕๓๙ ยังไม่พ้นกำหนด ๑๐ ปี เจ้าหนี้จึงมีสิทธิฟ้องได้ และมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๙๓/๑๔ (๒) และทำให้ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้น ไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา ๑๙๓/๑๕ วรรคหนึ่ง ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดไปแล้วตามมาตรา ๑๙๓/๑๕ วรรคสอง เมื่อเจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในขณะที่อายุความยังสะดุดหยุดลง จึงไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๔ (๑)กรณีนี้มิใช่เป็นการที่เจ้าหนี้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่๖๒๗๘/๒๕๒๙ ของศาลแพ่งธนบุรี จึงนำเอาระยะเวลาการบังคับคดี ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗๑ มาปรับใช้แก่กรณีนี้หาได้ไม่ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้สำหรับมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๖๒๗๘/๒๕๒๙ ของศาลแพ่งธนบุรีนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้สำหรับมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๖๒๗๘/๒๕๒๙ ของศาลแพ่งธนบุรี เพียงใดปัญหาข้อนี้แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๗ จะมิได้วินิจฉัย แต่ศาลฎีกาเห็นว่าเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็วสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๗ วินิจฉัยก่อน ในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เจ้าหนี้มีสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.๔๐ มาแสดงว่าลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว และมีสำเนาหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๓๐ มาแสดงว่า มูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเกิดจากการที่ลูกหนี้ค้ำประกันนายประกอบ ประศาสน์กิจเจริญ ซึ่งนายประกอบเป็นหนี้เจ้าหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม และคำขอเลื่อนกำหนดชำระหนี้เอกสารหมาย จ.๓๕ ถึง จ.๓๘ โดยมีนายธีรพงษ์ กาศกาญจน์ ให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยืนยันว่า ลูกหนี้และนายประกอบเป็นหนี้เจ้าหนี้จริง และเจ้าหนี้ได้ฟ้องขอให้ลูกหนี้กับนายประกอบร่วมกันชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ซึ่งศาลแพ่งธนบุรีได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้กับนายประกอบร่วมกันชำระเงิน ๒๔๕,๗๒๐.๓๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙ จนกว่าชำระเสร็จแก่เจ้าหนี้ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๙) ต้องไม่เกิน๑๕,๔๕๐.๘๐ บาท และให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๘๐๐ บาท ซึ่งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในคดีดังกล่าวรวมเป็นเงิน ๗,๙๗๕ บาท ตามบัญชีค่าฤชาธรรมเนียมเอกสารหมาย จ.๔๑ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๖๒๗๘/๒๕๒๙จำนวนดังกล่าวจริง และมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ทั้งหนี้ดังกล่าวยังไม่ขาดอายุความ และไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๙๔
อนึ่ง เจ้าหนี้ฎีกาเฉพาะมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ๖๒๗๘/๒๕๒๙ จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลฎีกาเพียง ๒๕ บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๑๗๙ (๒) วรรคท้าย เจ้าหนี้เสียมา ๒๐๐ บาท จึงเกินมา๑๗๕ บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๖๒๗๘/๒๕๒๙ของศาลแพ่งธนบุรีเป็นเงิน ๒๕๓,๖๙๕.๓๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ต่อปี ของต้นเงิน ๒๔๕,๗๒๐.๓๐ บาทนับแต่วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ถึงวันที่ ๒๙พฤศจิกายน ๒๕๓๙ แต่ดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม๒๕๒๙ ต้องไม่เกิน ๑๕,๔๕๐.๘๐ บาท อีกจำนวนหนึ่งด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๗ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่เสียเกินมา๑๗๕ บาท แก่เจ้าหนี้.