คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 559/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

น. เป็นผู้ซื้อที่ดินมาคนเดียว ต่อมา น. ตกลงให้ ช. ม. และ ว. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยได้รับค่าตอบแทน ต้องถือว่าเป็นการขายตามความในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร น. จึงเป็นผู้มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 40(8) ซึ่งขณะนั้นโจทก์ยังเป็นสามี น. และอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี เงินได้ดังกล่าวของ น. ต้องถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ตามมาตรา 57 ตรี ไม่ว่าเงินนั้นจะเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรส

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับนางนพวรรณ เศรษฐสมภพ เมื่อวันที่ 3เมษายน 2529 และได้จดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2536 ต่อมาเมื่อปี 2543เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ทำการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อโจทก์สำหรับเงินได้ของปี 2533 โดยอ้างว่าโจทก์มิได้นำเงินได้ที่นางนพวรรณได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ในทางการค้าหรือหากำไรไปยื่นแบบรายการภาษี ซึ่งเงินได้ดังกล่าวนางนพวรรณได้มาจากการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1502 และ 125917 ตำบลบางเขน (ดอนเมือง) อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2533 จึงเป็นการยื่นแบบรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้อง ปรากฏตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา(ภ.ง.ด.12) เลขที่ 100437/1/100813 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2543 สำหรับเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2533 กำหนดให้โจทก์ต้องเสียภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้น251,800 บาท และหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12)เลขที่ 1004371/1/100814 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2543 กำหนดให้โจทก์ต้องเสียภาษีเบี้ยปรับเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้น 65,625 บาท โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินภาษีดังกล่าว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดเบี้ยปรับตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเลขที่ 1004371/1/100813 ลงจำนวน 62,950 บาท คงเหลือภาษีที่ต้องชำระทั้งสิ้น188,950 บาท ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.1(00.3)/137/2543 ลงวันที่ 28 สิงหาคม2543 และให้ลดเบี้ยปรับตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเลขที่ 1004371/1/100814 ลงจำนวน 10,937.50 บาท คงเหลือภาษีที่ต้องชำระทั้งสิ้น 54,687.50 บาท ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.1(อธ.3)/138/2543 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2543 การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเมื่อประมาณปี 2528 นางนพวรรณได้จองซื้อที่ดินจำนวน1 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1500, 1501, 1502, 1503, 1686 และ 125917 ตำบลตลาดบางเขน (ดอนเมือง) อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร จากกลุ่มนายหน้าผู้ค้าที่ดินกลุ่มหนึ่งก่อนที่จะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ ต่อมาในวันที่ 12ธันวาคม 2532 นางนพวรรณจึงได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากกลุ่มผู้ค้าที่ดินดังกล่าวจำนวน 2 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 1502 และ 125917 เฉพาะส่วนที่นายชาตรีนายมณเฑียร และนายวิชาได้จองซื้อจากกลุ่มผู้ค้าที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่บุคคลทั้งสามโดยไม่มีรายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่อย่างใด และเนื่องจากมิใช่เป็นการขายที่ดินนางนพวรรณจึงไม่มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องนำมายื่นแบบรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎหมาย เจ้าพนักงานประเมินจำเลยได้มีหมายเรียกลงวันที่ 26 มกราคม 2538 ไปถึงโจทก์ซึ่งเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี หลังจากที่โจทก์จดทะเบียนหย่ากับนางนพวรรณและได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีทั้ง 2 ฉบับ ไปถึงโจทก์หลังจากที่ได้จดทะเบียนหย่าแล้วเป็นเวลาถึง 6 ปีเศษ จำเลยจึงไม่มีอำนาจประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปี 2533 จากโจทก์อีกต่อไป และเป็นการประเมินภาษีย้อนหลังไปเกินกว่า 2 ปี โดยไม่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือเป็นการประเมินภาษีย้อนหลังเกินกว่า 5 ปี ตามประมวลรัษฎากรทั้งโจทก์ได้ยื่นแบบรายการภาษีโดยแยกยื่นและแยกคำนวณภาษีกับนางนพวรรณ จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนางนพวรรณ และการประเมินภาษีของจำเลยเป็นการซ้ำซ้อนกับการประเมินภาษีสำหรับปี 2533 ของนางนพวรรณ เป็นการประเมินภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเลขที่ 1004371/1/100813 และ 1004371/1/10814 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ สภ.(อธ.3)/137/2543และ สภ.1(อธ.3)/138/2543

จำเลยให้การว่า การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับนางนพวรรณ เศรษฐสมภพ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2529 ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2532 นางนพวรรณได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน2 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1502 เนื้อที่ 2 ไร่ 98 ตารางวา โฉนดเลขที่ 125917 เนื้อที่2 ไร่ 99 ตารางวา โดยจดทะเบียนประเภทการขายทั้งสองโฉนด ตามสำเนาโฉนดเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 2 ถึงที่ 6 (ล.2 แผ่นที่ 69 ถึง 74) ในวันที่ 17 เมษายน 2543 นางนพวรรณจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมทั้งสองโฉนดให้นายชาตรี นายมณเฑียร และนายวิชา เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมคนละ 449.25 ส่วนใน 1797 ส่วน และต่อมาวันที่ 24 ตุลาคม 2533 ทั้งนายชาตรี นายมณเฑียร นายวิชา และนางนพวรรณได้จดทะเบียนประเภทการขายที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าวให้แก่บริษัทการบินไทย จำกัด ตามสำเนาโฉนดเอกสารหมาย ล.2 (แผ่นที่ 69 ถึง 74) ต่อมาวันที่ 2 กรกฎาคม 2536 โจทก์ได้จดทะเบียนหย่ากับนางนพวรรณ แล้วนางนพวรรณเปลี่ยนชื่อและนามสกุลเป็นนางสริญาอุลปาธรณ์ ครั้นเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2538 เจ้าพนักงานประเมินได้ขออนุมัติออกหมายเรียกโจทก์จากอธิบดีกรมสรรพากรและได้รับอนุมัติแล้ว จึงออกหมายเรียกโจทก์เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2538 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 114, 118, 120 และ 122 ในวันที่ 15 มกราคม 2543 เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีโจทก์ตามเอกสารหมายล.2 แผ่นที่ 10 และ 11 โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2543 ให้เก็บภาษีโจทก์รวม 243,537.50บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2 และ 3

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 1 ว่า นางนพวรรณมีเงินได้จากการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1502 และ 125917หรือไม่ ได้ความจากโจทก์ นางสรินญา(นางนพวรรณ) และนายวิชาพยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อปลายปี 2528 นางนพวรรณได้จองซื้อที่ดินไว้ 2 แปลง แปลงที่ 1 เนื้อที่ 1 ไร่ แปลงที่ 2 เนื้อที่ 2 ไร่ จากกลุ่มนายหน้าโดยนางนพวรรณผ่อนชำระค่าซื้อที่ดินให้แก่กลุ่มนายหน้าจนถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2532กลุ่มนายหน้าให้นางนพวรรณรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงไว้ทั้งหมดซึ่งมีเนื้อที่4 ไร่เศษ เหตุที่นางนพวรรณยอมถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนเนื่องจากกลุ่มนายหน้าบอกว่าลูกค้ามีปัญหา นางนพวรรณเห็นว่าตนไม่เห็นเสียหายแต่อย่างใด ต่อมาวันที่ 5 เมษายน2533 กลุ่มนายหน้าได้ทำหนังสือฉบับหนึ่งเพื่อเป็นการยืนยันว่านางนพวรรณได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทนนายชาตรี นายมณเฑียร และนายวิชา ซึ่งนางนพวรรณก็ได้ลงนามไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 10 ครั้นวันที่ 17 เมษายน 2533 นางนพวรรณจึงโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ถือแทนไว้คืนแก่นายชาตรี นายมณเฑียร และนายวิชาโดยมีการทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 7 เห็นว่านางนพวรรณกับกลุ่มนายหน้า นายชาตรี นายมณเฑียรและนายวิชาต่างไม่เคยรู้จักกันมาก่อนย่อมไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นแต่ประการใดที่เจ้าของที่ดินหรือกลุ่มนายหน้าจะยอมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินใส่ชื่อนางนพวรรณเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ทั้ง ๆ ที่ยังอ้างว่านายชาตรี นายมณเฑียร และนายวิชา ผู้ซื้ออีก 3 คน ยังมีปัญหาเรื่องการเงินคือยังชำระเงินค่าซื้อที่ดินไม่ครบตามที่ตกลงกัน ซึ่งนายวิชาพยานโจทก์เบิกความว่าพยานจะต้องจ่ายเงินงวดสุดท้ายอีกประมาณสี่ล้านถึงห้าล้านบาทแต่ยังไม่มีเงินพอขอผัดผ่อนไปชำระต้นปี 2533 ดังนี้ เมื่อเจ้าของที่ดินหรือนายหน้าเห็นแล้วว่านายชาตรีนายมณเฑียร และนายวิชาชำระราคาไม่ครบถ้วนจึงไม่ยอมจดทะเบียนโอนขายเพราะถ้าหากจดทะเบียนโอนขายแก่นายชาตรี นายมณเฑียร และนายวิชาไปแล้วอาจมีปัญหาไม่ได้รับชำระราคาครบถ้วน เมื่อกลุ่มนายหน้าเกรงว่าจะไม่ได้รับชำระราคาจากนายชาตรี นายมณเฑียร และนายวิชาเช่นนี้แล้ว ก็ควรที่กลุ่มนายหน้าจะรับโอนกรรมสิทธิ์ไว้เสียเอง มิใช่เสี่ยงให้เจ้าของที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อนางนพวรรณเป็นผู้ซื้อแต่เพียงผู้เดียว กรณีเช่นนี้ย่อมเป็นการผิดปกติวิสัยของกลุ่มนายหน้าที่จะกระทำการให้ตนเองเสียเปรียบและเมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ที่นางนพวรรณทำบันทึกข้อตกลงกรรมสิทธิ์รวมที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขนในวันที่ 17 เมษายน 2533โดยให้นายชาตรี นายมณเฑียร และนายวิชา ถือกรรมสิทธิ์รวมคนละ 449.25 ส่วนใน 1,797 ส่วนตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 7 ก็ปรากฏว่านางนพวรรณเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการในการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมและต่อมาวันที่ 24 ตุลาคม 2533 นางนพวรรณ นายชาตรี นายมณเฑียรและนายวิชาได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัทการบินไทย จำกัด ในราคา 118,602,000 บาท ก็ปรากฏว่านางนพวรรณเป็นคนหนึ่งที่ได้รับมอบอำนาจจากนายชาตรี นายมณเฑียร และนายวิชาให้เป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนโอนขายปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 8จากพฤติการณ์การกระทำของนางนพวรรณดังกล่าวจะเห็นได้ว่านางนพวรรณเป็นผู้ดำเนินการและเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดินทั้งสองแปลงมาตั้งแต่แรกจนกระทั่งขายให้แก่บริษัทการบินไทย จำกัด ดังนั้น การที่ผู้ขายจดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1502และ 125917 ทั้งสองแปลงแก่นางนพวรรณในลักษณะเช่นนี้แสดงให้เห็นชัดว่านางนพวรรณเป็นผู้ซื้อ หาใช่ว่านางนพวรรณเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์บางส่วนแทนนายชาตรี นายมณเฑียรและนายวิชา ดังที่โจทก์อ้างไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางนพวรรณเป็นผู้ซื้อที่ดินไว้ในวันที่ 12 ธันวาคม 2532 ต่อมาวันที่ 17 เมษายน 2533นางนพวรรณได้ตกลงยินยอมให้นายชาตรี นายมณเฑียร และนายวิชาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมจำนวนคนละ 449.25 ส่วน ราคาตารางวาละ 5,000 บาท ในจำนวน1,797 ส่วน นายชาตรี นายมณเฑียร และนายวิชาให้ค่าตอบแทนแก่นางนพวรรณเป็นจำนวนเงิน 6,738,750 บาท ตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม เอกสารหมายจ.1 แผ่นที่ 7 ครั้นวันที่ 24 ตุลาคม 2533 นางนพวรรณ นายชาตรี นายมณเฑียรและนายวิชาได้ขายที่ดินดังกล่าวทั้งหมดแก่บริษัทการบินไทย จำกัด ในราคาสูงถึง118,602,000 บาท ฉะนั้น การที่นางนพวรรณจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมให้นายชาตรีนายมณเฑียร และนายวิชา เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมคนละ 449.25 ส่วน ใน 1,797 ส่วนโดยได้รับค่าตอบแทนจำนวน 6,738,750 บาท ต้องถือว่าเป็นการขายตามความในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว นางนพวรรณจึงเป็นผู้มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นเงินได้ในปี 2533ซึ่งขณะนั้นโจทก์ยังเป็นสามีนางนพวรรณและอยู่กันตลอดปีภาษี เงินได้ดังกล่าวของนางนพวรรณก็ต้องถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ตามมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าเงินนั้นจะเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรส”

พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนจำเลย

Share