แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ได้ส่งมอบเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงที่โจทก์อ้างว่าเสียหายให้แก่บริษัท ท. โดยมีการชำระราคาและออกใบกำกับภาษีแล้ว ความรับผิดทางภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเกิดขึ้นแล้ว หากต่อมาเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงดังกล่าวเกิดความเสียหายและโจทก์ได้เปลี่ยนของใหม่ทดแทนของเดิมและได้รับเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงที่เสียหายกลับคืนมา โจทก์มีหน้าที่ต้องออกใบลดหนี้สำหรับเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงตามจำนวนที่เสียหายและนำภาษีขายนั้นมาหักออกจากภาษีขายของตนในเดือนภาษีที่ได้ออกใบลดหนี้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 86/10 ประกอบคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.80/2542 และเมื่อโจทก์ได้ส่งมอบเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงจำนวนใหม่ทดแทนของเดิม กรณีจึงเกิดความรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงใหม่ที่นำมาทดแทน โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีตั้งแต่เมื่อมีการส่งมอบเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงจำนวนใหม่โดยไม่ต้องคำนึงว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์แล้วหรือไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เลขที่ ภ.พ. 73.1-02014490-25521222-005-00077, ภ.พ. 73.1-02014490-25521222-005-00078, ภพ. 73.1-02014490-25521222-005-00079, ภ.พ. 73.1-02014490-25521222-005-00080 (ที่ถูก ภ.พ. 73.1-02014390-25521222-005-00077, ภ.พ. 73.1-02014390-25521222-005-00078, ภ.พ. 73.1-02014390-25521222-005-00079, ภ.พ. 73.1-02014390-25521222-005-00080) และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ ภญ (อธ.2)/009/2557 และเพิกถอนการแจ้งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีขอรับเงินคืน (ภ.พ. 72.1) เลขที่ 0201-1390/05/2586 (ที่ถูก 0201-4390/05/2586 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ ภญ. (อธ.2)/002/2557 กับให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ สำหรับภาษีในส่วนที่ไม่คืนตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มรอบเดือนภาษีตุลาคม 2548 เป็นจำนวนเงิน 68,709,017.40 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร และตามกฎกระทรวงฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร นับตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการตามที่กฎหมายกำหนดกล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 จนถึงวันฟ้อง คิดเป็นจำนวนเงินเท่ากับ 68,709,017.40 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จสิ้น แต่หากศาลวินิจฉัยว่าโจทก์มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มตามการประเมินของเจ้าพนักงาน ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์เป็นกรณีพิเศษ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เลขที่ ภ.พ. 73.1-02014490-25521222-005-00077 ภ.พ. 73.1-02014490-25521222-005-00080 (ที่ถูก ภ.พ. 73.1-02014390-25521222-005-00077 ถึง ภ.พ. 73.1-02014390-25521222-005-00080) และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย เลขที่ ภญ. (อธ.2)/009/2557 โดยให้ลดเบี้ยปรับแก่โจทก์ลงกึ่งหนึ่ง คงปรับเพียงหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระตามมาตรา 89 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทตามกฎหมายของสาธารณรัฐฝรั่งเศส และมีสำนักงานสาขาในประเทศไทย โจทก์ร่วมกับบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และอัลคาเทล คอนแทรคดิ้ง (ALCO) ในนามกิจการร่วมค้าเข้าทำสัญญาติดตั้งส่วนขยายของโครงข่ายสื่อรับสัญญาณ (Contract No. TOT 3/2000 TNEP-OP) กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งต่อมาแปรรูปเป็นบริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สัญญา TNEP-OP แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนการจัดหาเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง ซึ่งสำนักงานใหญ่ของโจทก์เป็นผู้รับผิดชอบโดยแยกส่วนของราคาและการชำระราคาค่าสินค้าเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงไว้ ส่วนการดำเนินการทางศุลกากร การจัดหาวัสดุในประเทศไทย และการติดตั้งเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงเป็นงานที่กิจการร่วมค้า JV ITAC ซึ่งเป็นกิจการดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไร ระหว่างบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กับอัลคาเทล คอนแทรคติ้ง (ALCO) ตามสัญญา TOT 3/2000 (TNEP-OP) ต่อมาบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหา กิจการร่วมค้า JV ITAC ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาในส่วนของการรับจ้างทำของหรืองานในส่วนในประเทศ (Local portion) ตามที่ตกลงกันไว้ได้ โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญากับบริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ต้องรับผิดชอบดำเนินการในส่วนของงานรับจ้างทำของหรืองานส่วนในประเทศดังกล่าวแทนกิจการร่วมค้าทั้งหมด โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในประเทศไทยตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ตามบัญชี 3 (21) สำหรับธุรกิจจัดหา ติดตั้ง และงานวิศวกรรมด้านอุปกรณ์เคเบิ้ลใยแก้วนำแสงภายใต้โครงการขยายโครงข่ายขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2538 ถึง 2541 โดยสัญญา TNEP-OP ได้แยกการชำระราคาค่าจ้างทำของไว้ สำนักงานใหญ่ของโจทก์ได้ส่งเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงให้แก่บริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยตรง โดยสำนักงานสาขาในประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการนำเข้ากับกรมศุลกากรแล้วนำเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงเก็บรักษาในคลังสินค้าของผู้รับเหมาช่วงของสำนักงานสาขาของโจทก์ซึ่งมีอยู่ 14 แห่งทั่วประเทศเพื่อรอการติดตั้งให้แก่บริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สำนักงานสาขาในประเทศไทยออกเอกสารเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากบริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเรียกเก็บร้อยละ 70 ของราคาสินค้า ส่วนที่เหลือรอให้มีการนำสายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงไปติดตั้งให้เสร็จเรียบร้อยก่อน และมีการตรวจรับงานออกเอกสารตรวจรับครั้งสุดท้ายของทั้งโครงการแล้วจึงจะเรียกเก็บอีกร้อยละ 20 ของสัญญา สำหรับค่าตอบแทนอีกร้อยละ 10 นั้น บริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ชำระล่วงหน้าให้แก่บริษัทโจทก์แล้ว มีข้อตกลงตามสัญญาว่าหากการตรวจรับงานครั้งสุดท้ายพบว่าเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงที่ติดตั้งแล้วเกิดความชำรุดบกพร่องเสียหาย โจทก์มีหน้าที่นำเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงใหม่มาเปลี่ยนทดแทนเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงที่ชำรุดบกพร่องเสียหายนั้น อันเป็นที่มาของกรณีพิพาทภาษีอากรคดีนี้โดยเจ้าพนักงานประเมินของจำเลย เห็นว่า กรณีโจทก์นำเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงทดแทนส่วนที่ชำรุดบกพร่องเสียหายที่ติดตั้งแก่บริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตามสัญญานั้น เป็นการขายตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ต้องออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมูลค่าของฐานภาษีคือราคาตลาดของสินค้าในวันที่เกิดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79/3 แห่งประมวลรัษฎากรและโจทก์จะต้องออกใบลดหนี้ให้แก่บริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กรณีโจทก์ได้รับเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงกลับคืนมาเนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่องเสียหายตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติดังกล่าวเป็นการแสดงยอดขายต่ำไป โจทก์ต้องรับผิดเบี้ยปรับ 2 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ตามมาตรา 89 (5) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีพิพาทแก่โจทก์ และผลจากการประเมินภาษีดังกล่าวเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยนำไปหักกลบลบหนี้กับภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ขอคืนทำให้โจทก์ได้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มลดลงกว่าที่ขอคืน โจทก์อุทธรณ์การประเมินและอุทธรณ์คำสั่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ต่อศาลภาษีอากรกลาง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การประเมินและการแจ้งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานของจำเลยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ในทำนองว่า สินค้าเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงส่วนที่เสียหายยังไม่ได้มีการส่งมอบและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดังนั้น เมื่อโจทก์ส่งเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงใหม่เพื่อนำมาทดแทนเคเบิ้ลใยแก้วที่เสียหาย โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีสำหรับเคเบิ้ลใยแก้วใหม่ดังกล่าวตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มทั้ง 4 ฉบับ นั้น เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 78/3 ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการขายสินค้า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) การขายสินค้านอกจากที่อยู่ในบังคับตาม (2) (3) (4) หรือ (5) ให้ความรับผิดทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนส่งมอบสินค้า ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย (ก) โอนกรรมสิทธิ์สินค้า (ข) ได้รับชำระราคาสินค้า หรือ (ค) ได้ออกใบกำกับภาษี…” และมาตรา 78/1 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 78/3 ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการให้บริการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) การให้บริการนอกจากที่อยู่ในบังคับตาม (2) (3) หรือ (4) ให้ความรับผิดทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อได้ชำระราคาค่าบริการ เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการ ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย (ก) ได้ออกใบกำกับภาษี หรือ (ข) ได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น…” จากบทบัญญัติดังกล่าว การขายสินค้าถ้ามีการส่งมอบสินค้าพร้อมออกใบกำกับภาษี ความรับผิดทางภาษีมูลค่าเพิ่มย่อมเกิดขึ้นโดยไม่คำนึงว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าหรือไม่ ส่วนการให้บริการถ้ามีการออกใบกำกับภาษีพร้อมชำระค่าบริการ ความรับผิดทางภาษีมูลค่าเพิ่มย่อมเกิดขึ้นแล้วเช่นกัน ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการย่อมนำใบกำกับภาษีไปใช้สำหรับการขอคืนภาษีซื้อหรือเครดิตภาษีในเดือนภาษีนั้นได้ ในทางกลับกันผู้ขายหรือผู้ให้บริการที่ออกใบกำกับภาษีต้องมีหน้าที่นำภาษีขายไปเสียภาษีในเดือนภาษีนั้น และในทางบัญชีสินค้าคงเหลือของผู้ขายหรือผู้ให้บริการต้องมีการตัดยอดสินค้าหรือสิ่งของที่นำไปขายหรือให้บริการจำนวนนั้น ๆ ออกจากบัญชีสินค้าคงเหลือให้ตรงกับยอดสินค้าหรือสิ่งของคงเหลือที่มีอยู่จริงทำให้เกิดระบบการสอบยันทางภาษีได้อย่างเป็นระบบ ทั้งในทางเอกสารสามารถตรวจสอบได้ว่ามีการเสียภาษีไว้ถูกต้องหรือไม่ โจทก์แสดงโดยชัดแจ้งในคำฟ้องของโจทก์ว่า สาขาโจทก์ในประเทศไทยได้ออกใบกำกับภาษีสำหรับเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงที่อ้างว่าเสียหายให้แก่บริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมได้รับชำระราคาแล้ว ประกอบกับคำเบิกความของนายเบนจามิน คาร์ลาเคี่ยน พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการสำนักสาขาของโจทก์ในประเทศไทยขณะเกิดกรณีพิพาทเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านไว้ด้วยว่า ในใบจัดส่งสินค้าของโจทก์จะมีทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายบริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตรวจลงนามรับสินค้า โดยมีการระบุประเภทของเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงที่จัดส่ง รหัสสินค้าและความยาวของสินค้า ซึ่งทางฝ่ายบริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จะตรวจสอบสินค้าว่าตรงตามเอกสารที่ระบุไว้หรือไม่ สอดคล้องกับคำเบิกความของพยานจำเลยปากนางสาวสุธีรา และนายประณีต เจ้าพนักงานของจำเลยซึ่งเบิกความไว้ว่า จากการตรวจสอบบัญชีและเอกสารพบว่า เมื่อโจทก์ส่งมอบสินค้าแต่ละครั้งจะมีการเรียกเก็บเงินตามใบแจ้งหนี้และตรวจรับสินค้าเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง และโจทก์มีการออกใบกำกับภาษีมาโดยตลอด ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่ามีการชำระราคาและออกใบกำกับภาษีสำหรับเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงที่อ้างว่าเสียหายแล้ว ส่วนประเด็นการส่งมอบเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงที่อ้างว่าเสียหายนั้น เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องที่โจทก์อ้างว่า เคเบิ้ลใยแก้วนำแสงที่นำเข้าจะถูกเก็บรักษาในคลังสินค้าของผู้รับเหมาช่วงของโจทก์รอการติดตั้งยังไม่มีการส่งมอบจนกว่าจะออกหนังสือรับรองการตรวจรับขั้นสุดท้าย ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์ส่งมอบเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงถึงสถานที่ที่บริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กำหนด เมื่อบริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตรวจรับสินค้าและโจทก์ได้ออกใบกำกับภาษีของสินค้านั้น ถือว่าส่งมอบการครอบครองแล้ว ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่าโจทก์ส่งมอบสินค้า ซึ่งเป็นเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงแก่บริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แล้วหรือไม่ เมื่อเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงโจทก์เป็นผู้นำเข้าและได้รับชำระเงินแล้ว เหตุที่อ้างว่ายังไม่ส่งมอบจึงเป็นเรื่องที่ผิดปกติธรรมดา โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นว่า เคเบิ้ลใยแก้วนำแสงที่โจทก์อ้างว่าเสียหายยังไม่มีการส่งมอบให้แก่บริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในเดือนภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มพิพาททั้งสี่ฉบับ ประเด็นนี้โจทก์มีเพียงนายเบนจามิน มาเบิกความลอย ๆ เพียงปากเดียวว่า การส่งเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงไปเก็บรักษาไว้ ณ คลังสินค้าของผู้รับเหมาช่วงไม่ถือว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์ เนื่องจากการโอนกรรมสิทธิ์ต้องเป็นไปตามสัญญาต่อเมื่อมีการติดตั้งเสร็จเรียบร้อย ตรวจรับงาน และออกเอกสารตรวจรับขั้นสุดท้ายเท่านั้น ไม่เคยมีการแสดงเจตนาจะโอนและรับโอนกรรมสิทธิ์ ยังไม่มีการคัดแยกหรือบ่งตัวทรัพย์ และกรณีดังกล่าวยังไม่ถือว่ามีการส่งมอบเพราะโจทก์ยังไม่ได้สละสิทธิการยึดถือเคเบิ้ลใยแก้ว จึงยังอยู่ในความครอบครองของโจทก์ โจทก์มีหน้าที่ต้องดูแลรักษาเคเบิ้ลใยแก้วให้อยู่ในสภาพดีไม่ชำรุดบกพร่อง ทั้งโจทก์อ้างว่าผู้รับเหมาช่วงเป็นของโจทก์และคลังสินค้าที่เก็บเคเบิ้ลใยแก้วเป็นของโจทก์ แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ส่งมอบมายืนยันสนับสนุนว่าเป็นสถานที่ที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ และไม่มีผู้รับเหมาช่วงหรือฝ่ายบริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มายืนยันข้ออ้างตามที่เบิกความว่าไม่มีการส่งมอบเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงที่โจทก์อ้างว่าเสียหายเข้าไปในพื้นที่ติดตั้งของบริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แต่อย่างใด ประกอบกับคำให้การของนายเดนิส อาโซกี้ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ซึ่งให้การต่อเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยเกี่ยวกับการส่งมอบสินค้าว่า สาขาโจทก์จะส่งเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงไปยังสถานที่ติดตั้งของบริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และรอบริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตรวจรับสินค้า แสดงให้เห็นว่า ทุกครั้งที่มีการนำเข้าเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงจะต้องมีการคัดแยกและนำไปยังสถานที่ติดตั้งของบริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งทางบริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จะต้องมาตรวจรับสินค้า แล้วโจทก์จึงจะมีการออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งหากยังไม่มีการส่งมอบเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงที่โจทก์อ้างว่าเสียหายก็คงไม่ต้องมีผู้แทนจากบริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มาตรวจรับสินค้า ลงนามและรับรองในใบ Delivery Order และบริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็คงไม่ยอมชำระเงินสำหรับเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงที่โจทก์อ้างว่าเสียหายจำนวนนั้น ส่วนที่โจทก์อ้างว่ายังมีหน้าที่ดูแลรักษาเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงนั้น ก็เป็นเรื่องของสิทธิหน้าที่ตามที่ระบุในสัญญาของคู่สัญญาไม่ทำให้หน้าที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์เปลี่ยนแปลง เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ กรณีจึงรับฟังได้ว่า เคเบิ้ลใยแก้วนำแสงที่โจทก์อ้างว่าเสียหายได้ส่งมอบให้แก่บริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมีการชำระราคาและออกใบกำกับภาษีแล้ว ซึ่งโจทก์มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยยื่นแบบและชำระภาษีแล้ว ดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น เมื่อใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มถือเป็นเอกสารสำคัญในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการ โจทก์จึงไม่อาจอ้างว่าการออกใบกำกับภาษีเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการเรียกเก็บเงินตามสัญญาประการเดียว โดยไม่รับรู้การใช้ใบกำกับภาษีในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวินิจฉัยมาเช่นนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าสัญญา TOT 3/2000 TNEP – OP เป็นสัญญาซื้อขายและหรือเป็นสัญญาจ้างทำของอีก ดังนั้น เมื่อความรับผิดทางภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงที่โจทก์อ้างว่าเสียหายตามจำนวนที่ได้ออกใบกำกับภาษีเกิดขึ้นแล้ว หากต่อมาเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงดังกล่าวเกิดความเสียหายซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชอบเปลี่ยนของใหม่ให้และโจทก์ได้เปลี่ยนเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงใหม่ทดแทนของเดิมและได้รับเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงที่เสียหายกลับคืนมา ไม่ว่าเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้ว แต่ต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่เนื่องจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนลดลงเพราะเหตุการณ์ตามที่ระบุตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฏากร โจทก์มีหน้าที่ต้องออกใบลดหนี้สำหรับเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงตามจำนวนที่เสียหายและนำภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงที่โจทก์อ้างว่าเสียหายนั้นมาหักออกจากภาษีขายของตนในเดือนภาษีที่ได้ออกใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 ประกอบคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.80/2542 ทั้งนี้ก็เพื่อยืนยันในทางเอกสารต่อเจ้าพนักงานที่ไปตรวจสอบได้ว่าเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงจำนวนนั้นได้มีความชำรุดบกพร่องจริงหรือไม่ในจำนวนเท่าใด ด้วยเหตุดังกล่าวเมื่อมีการนำเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงใหม่มาทดแทนในส่วนที่โจทก์อ้างว่าเสียหายก็ต้องมีการออกใบกำกับภาษีสำหรับเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงใหม่ที่นำมาทดแทนเพื่อให้ตรงกับการเสียภาษีซื้อจากการนำเข้าสำหรับเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงจำนวนใหม่ดังกล่าว และนำไปตัดยอดจากบัญชีสินค้าคงเหลือสำหรับเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงใหม่ข้างต้น เพื่อให้ระบบบัญชี ใบกำกับภาษี และการเสียภาษีสอดคล้องตรงกันทั้งหมดสำหรับเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงจำนวนใหม่ที่นำมาทดแทน อันทำให้ถูกต้องตามระบบบัญชีและมีเอกสารสามารถตรวจสอบในทางภาษีได้ ทั้งเกิดประโยชน์แก่โจทก์ที่จะไม่เกิดความสับสนปนกันจนไม่อาจจะตรวจสอบความแน่ชัดได้ว่าเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงใดทดแทนเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงใดในจำนวนเท่าใด เมื่อโจทก์รับว่านำเข้าเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงใหม่มาทดแทนเคเบิ้ลใยแก้วที่อ้างว่าเสียหายแล้ว จำเลยก็ไม่ได้ให้การปฏิเสธในส่วนนี้ จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงจำนวนใหม่ทดแทนเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงเดิมที่อ้างว่าเสียหาย ซึ่งมีการออกใบกำกับภาษีไปก่อนแล้วและถือว่ามีการชำระราคาไปก่อนหน้านั้น กรณีจึงเกิดความรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงใหม่ที่นำมาทดแทนข้างต้น โจทก์มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีตั้งแต่เมื่อมีการส่งมอบเคเบิ้ลใยแก้วจำนวนใหม่ข้างต้นโดยไม่ต้องคำนึงว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์แล้วหรือไม่ และข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่เข้ากรณีตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.86/2542 เมื่อโจทก์ไม่ได้โต้แย้งวิธีการคำนวณจำนวนภาษีและวันที่นำเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงใหม่ที่นำมาทดแทน กับความรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มทั้ง 4 ฉบับ ว่าไม่ตรงกันหรือไม่ถูกต้องอย่างไร ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ออกใบกำกับภาษีสำหรับเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงใหม่ที่นำมาทดแทน เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงมีอำนาจทำการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีโจทก์ไม่จัดทำใบกำกับภาษีดังกล่าวได้ การประเมินและการแจ้งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานของจำเลย และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า จำเลยต้องคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่อีกต่อไป ข้อนี้ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเลขที่ ภ.พ.73.1 – 02014390-25521222-005-00077 ถึง 00080 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ ภญ.(อธ.2)/009/2557 เฉพาะเบี้ยปรับโดยให้งดเบี้ยปรับทั้งหมด ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง