แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ มาตรา 44/1 ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น แต่คดีในส่วนอาญาได้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปก่อนแล้วจึงมีการพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งในภายหลัง เช่นนี้ปัญหาว่าผู้ร้องมีส่วนประมาทด้วยมีผลทำให้ผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 หรือไม่ จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาในคดีส่วนแพ่ง การที่ผู้ร้องมีส่วนประมาทซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 ศาลต้องพิเคราะห์พฤติการณ์ว่าฝ่ายใดเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรนั้น มิได้ทำให้ความเป็นผู้เสียหายของผู้ร้องในอันที่เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ที่ยื่นไว้ในคดีส่วนอาญาซึ่งถึงที่สุดแล้วสูญสิ้นไปแต่อย่างใด ผู้ร้องยังมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวทุกประการ เพียงแต่จะเรียกได้มากน้อยเท่าใดขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ว่าผู้ร้องกับจำเลยฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเท่านั้น ดังนั้น ที่จำเลยอ้างว่าผู้ร้องประมาทด้วยจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยและไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจึงฟังไม่ขึ้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (3), 57 (15), 61, 148, 151, 157
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นายเดช ผู้เสียหายโดยนางสาวมนัสนันท์ บุตรยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 902,137.09 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาในคดีส่วนอาญาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา43 (3), 57 (15), 61, 148, 151 และ 157 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 6,000 บาทฐานขับรถกีดขวางการจราจร ปรับ 1,000 บาท ฐานจอดรถกีดขวางการจราจร ปรับ 500 บาท ฐานจอดรถไม่เปิดไฟ ปรับ 500 บาท รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 8,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี คุมความประพฤติของจำเลย 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามเวลาที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร ให้จำเลยร่วมทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่วโมงและอบรมกฎจราจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้จำเลยยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่ง
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาในคดีส่วนแพ่งให้จำเลยชำระเงิน 417,830 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าธรรมเนียมศาลตามกฎหมายมิให้เรียกจากผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมจึงเป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะคดีส่วนแพ่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้องทั้งสิ้น 300,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การฟังว่าผู้ร้องมีส่วนประมาทด้วยนั้น มีผลทำให้ผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย จึงไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 หรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นแต่คดีในส่วนอาญาได้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปก่อนแล้วจึงมีการพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งในภายหลัง เช่นนี้ปัญหาว่าผู้ร้องมีส่วนประมาทด้วยมีผลทำให้ผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 หรือไม่ จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาในคดีส่วนแพ่ง การที่ผู้ร้องมีส่วนประมาทซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 ศาลต้องพิเคราะห์พฤติการณ์ว่าฝ่ายใดเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรนั้น มิได้ทำให้ความเป็นผู้เสียหายของผู้ร้องในอันที่เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ที่ยื่นไว้ในคดีส่วนอาญาซึ่งถึงที่สุดแล้วสูญสิ้นไปแต่อย่างใด ผู้ร้องยังมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวทุกประการ เพียงแต่จะเรียกได้มากน้อยเท่าใดขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ว่าผู้ร้องกับจำเลยฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเท่านั้น ดังนั้นที่จำเลยอ้างว่าผู้ร้องประมาทด้วยจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยและไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมามีว่า ระหว่างผู้ร้องกับจำเลยฝ่ายใดมีส่วนประมาทมากน้อยกว่ากัน เห็นว่า การจอดรถยนต์บรรทุกหกล้ออยู่ริมถนนคร่อมเส้นแบ่งไหล่ทางของจำเลยเช่นนั้น แม้ฟังว่าเป็นการกระทำโดยประมาทแต่หากผู้ร้องมีสติและขับรถด้วยความระมัดระวังตามวิสัยของผู้ขับรถจักรยานยนต์ทั่ว ๆ ไปจะพึงมี ผู้ร้องก็น่าจะมองเห็นรถยนต์บรรทุกหกล้อที่จอดอยู่และขับหลีกเลี่ยงผ่านไปได้เพราะบริเวณที่เกิดเหตุเป็นถนนในชนบทที่ไม่มีรถพลุกพล่านและเป็นทางเรียบตรง ฉะนั้นความเสียหายในครั้งนี้จึงฟังได้ว่าเกิดจากความประมาทของผู้ร้องมากกว่า ซึ่งเมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสี่ปากซึ่งต่างเบิกความว่าได้กลิ่นสุราจากผู้ร้องตอนที่พยานช่วยกันนำผู้ร้องส่งโรงพยาบาลประกอบกับข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของจำเลยที่ว่า จำเลยเพิ่งขับรถยนต์บรรทุกหกล้อขึ้นมาจอดริมถนนได้เพียง 10 นาที เพื่อเตรียมจะกลับบ้านก็เกิดเหตุขึ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องหนึ่งในสามส่วนโดยให้ผู้ร้องรับผิดสองในสามส่วน ที่จำเลยฎีกาขอรับผิดเพียงหนึ่งในสามส่วนนั้นฟังขึ้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่จำเลยขอคิดหนึ่งในสามส่วนจากเงิน300,000 บาท เป็นเงิน 100,000 บาท นั้น เห็นว่า ไม่ถูกต้องเพราะศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้ 300,000 บาท หลังจากคิดหักส่วนที่ผู้ร้องจะต้องร่วมรับผิดด้วยแล้ว ดังนั้นยอดเต็มก่อนที่จะนำมาคิดหักตามส่วนจึงไม่ใช่ 300,000 บาท แต่ควรจะเป็น 417,830 บาท อันเป็นจำนวนที่ผู้ร้องพิสูจน์ได้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งเมื่อคิดหนึ่งในสามของยอดเงินดังกล่าวแล้วเป็นเงินที่จำเลยต้องชำระ 139,276.67 บาท แต่มีข้อเท็จจริงจากรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยประกอบคำแถลงประกอบคำรับสารภาพของจำเลยลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 ว่าจำเลยได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ผู้ร้องแล้ว 16,000 บาท นำเงินมาวางศาลให้ผู้ร้องรับไปแล้วอีก 20,000 บาท จึงควรหักเงินสองจำนวนดังกล่าวออกจากยอดเงิน 139,276.67 บาท ที่จำเลยต้องชำระ ซึ่งหักแล้วคงเหลือ 103,276.67 บาท และผู้ร้องมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ได้ตามกฎหมายตั้งแต่วันทำละเมิด ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ และมีคำขอของผู้เสียหายขอให้จำเลยชดใช้ ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 253 วรรคหนึ่ง มิให้เรียกค่าธรรมเนียม ดังนี้ ที่จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาด้วย และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ได้สั่งคืนนั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งคืนแก่จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 103,276.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 อันเป็นวันกระทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากนี้ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3