แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 45 บัญญัติว่า “ถ้าค่าภาษีค้างอยู่และยังมิได้ชำระขณะเมื่อทรัพย์สินได้โอนกรรมสิทธิ์ไปเป็นเจ้าของคนใหม่โดยเหตุใดๆ ก็ตาม ท่านว่าเจ้าของคนเก่าและคนใหม่เป็นลูกหนี้ค่าภาษีนั้นร่วมกัน” การที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้งการประเมิน จึงเป็นเงินภาษีค้างชำระ ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 และในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 โอนให้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 โอนให้แก่จำเลยที่ 4 เป็นทอดๆ ไป ดังนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงตกอยู่ในฐานะเป็นเจ้าของคนเก่าและคนใหม่ อันต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีค้างร่วมกันกับจำเลยที่ 1 โดยมิพักต้องคำนึงว่าการโอนกรรมสิทธิ์ในโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้มีขึ้นก่อนหรือภายหลังจากครบกำหนด 4 เดือน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 38
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 514/10 หมู่ที่ 10 ถนนทัพพระยา ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี สภาพโรงเรือนเป็นโรงแรมให้เช่าพักอาศัย เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2536 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ประจำปีภาษี 2535 และ 2536 สำหรับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว เจ้าพนักงานของโจทก์ได้ทำการตรวจสอบอาคารโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างแล้วได้คำนวณกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน สำหรับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 สำหรับปีภาษี 2535 เป็นค่ารายปี 1,335,600 บาท และค่าภาษี 166,950 บาท รวมเป็นเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินปีภาษี 2535 และ 2536 ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระเป็นเงิน 333,900 บาท เจ้าพนักงานของโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ต่อมาปลัดเมืองพัทยาได้ชี้ขาดให้ประเมินค่ารายปีปีภาษี 2535 จำนวน 1,116,600 บาท ค่าภาษี 139,575 บาท ปีภาษี 2536 ค่ารายปี 1,116,600 บาท ค่าภาษี 139,575 บาท รวมเป็นค่าภาษีของปี 2535 และ 2536 เป็นเงินทั้งสิ้น 279,150 บาท โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 รับทราบคำชี้ขาดและให้จำเลยที่ 1 นำเงินค่าภาษีจำนวน 279,150 บาท ไปชำระให้แก่โจทก์หลายครั้งแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่นำเงินค่าภาษีไปชำระให้แก่โจทก์เกินกว่า 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาด จึงเป็นภาษีค้างชำระ และจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าภาษีเกินกว่า 3 เดือน จำเลยที่ 1 จึงต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 ของค่าภาษีค้างชำระ คิดเป็นเงินเพิ่ม 27,915 บาท รวมกับค่าภาษีที่ค้างชำระ จำนวน 279,150 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 307,065 บาท ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 2544 จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพร้อมโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 2 ได้โอนที่ดินพร้อมโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 และวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2545 จำเลยที่ 3 ได้โอนที่ดินพร้อมโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 4 โดยที่จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินดังกล่าวข้างต้นอยู่ในขณะโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินพร้อมเงินเพิ่ม รวม 307,065 บาท แก่โจทก์ โจทก์ทวงถาม แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉยขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินพร้อมเงินเพิ่มจำนวน 307,065 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่มีค่าภาษีค้างเมื่อพ้นกำหนด 4 เดือน นับแต่วันพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งความการประเมิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของบทบัญญัติ มาตรา 45 ในอันที่จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ชำระค่าภาษีที่ค้างดังกล่าว ขอให้ยกคำฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า หนี้ภาษีดังกล่าวเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นไว้กับโจทก์และมูลหนี้มีอยู่ก่อนวันที่จำเลยที่ 4 จะมารับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินพร้อมเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 307,065 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง เลขที่ 514/10 หมู่ที่ 10 ถนนทัพพระยา ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี จำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) ประจำปีภาษี 2535 และ 2536 โดยระบุว่าเป็นโรงแรม เจ้าพนักงานของโจทก์ประเมินค่ารายปีของโรงแรม สระว่ายน้ำ และห้องอาหารรวม 1,335,600 บาท คิดเป็นค่าภาษี 166,950 บาท เท่ากับทั้งสองปีภาษีตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 2 ถึง 7 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ต่อมาปลัดเมืองพัทยามีคำชี้ขาดให้ประเมินค่ารายปีปีละ 1,116,600 บาท และค่าภาษีปีละ 139,575 บาท ตามคำร้องและคำสั่งเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 11 รวมเป็นค่าภาษีของปีภาษี 2535 และ 2536 เป็นเงิน 279,150 บาท โจทก์แจ้งคำชี้ขาดให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่นำเงินค่าภาษีไปชำระแก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้แจง จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าภาษีเกินกว่า 3 เดือน จึงต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 ของค่าภาษีค้างชำระ ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 43 คิดเป็นเงินเพิ่ม 27,915 บาท รวมกับค่าภาษีที่ค้างชำระจำนวน 279,150 บาท เป็นค่าภาษีรวม 307,065 บาท ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 2544 จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 โอนที่ดินพร้อมโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 3 และวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2545 จำเลยที่ 3 โอนที่ดินพร้อมโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 4
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในหนี้ค่าภาษีค้างจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์หรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ข้อกฎหมายว่า คำว่า เจ้าของคนเก่าและคนใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 หมายถึง บุคคลที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในขณะที่ยังมีภาษีค้างอยู่และยังไม่พ้นกำหนด 4 เดือน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 38 เท่านั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้ค่าภาษีค้างนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 45 บัญญัติว่า “ถ้าค่าภาษีค้างอยู่และยังมิได้ชำระขณะเมื่อทรัพย์สินได้โอนกรรมสิทธิ์ไปเป็นเจ้าของคนใหม่โดยเหตุใดๆ ก็ตาม ท่านว่าเจ้าของคนเก่าและคนใหม่เป็นลูกหนี้ค่าภาษีนั้นร่วมกัน” เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้งการประเมินจึงเป็นเงินภาษีค้างชำระ ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 โอนให้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 โอนให้แก่จำเลยที่ 4 เป็นทอดๆ ไป ดังนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงตกอยู่ฐานะเป็นเจ้าของคนเก่าและคนใหม่ อันต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีค้างร่วมกันกับจำเลยที่ 1 โดยมิพักต้องคำนึงว่า การโอนกรรมสิทธิ์ในโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้มีขึ้นก่อนหรือภายหลังจากครบกำหนด 4 เดือน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 38 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 แทนโจทก์