คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6210/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คดีอาญาจำเลยจะให้การหรือไม่เป็นสิทธิของจำเลยก็ตามแต่คดีนี้จำเลยได้ให้การไว้แล้วโดยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ซึ่งแสดงว่าจำเลยยอมรับว่าตนกระทำความผิดตามที่โจทก์กล่าวหามาในคำฟ้อง และการขอแก้คำให้การของจำเลย จำเลยสามารถ ยื่นคำร้องขอแก้คำให้การได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสองเท่านั้น มิใช่เป็นไปตามอำเภอใจของจำเลยอีกทั้งเป็นดุลพินิจของศาลเห็นสมควรจึงอนุญาตให้แก้ได้การที่จำเลยยื่นคำร้องขอแก้คำให้การในคดีนี้เป็นที่เห็นได้ชัดว่า จำเลยกระทำเพื่อประวิงคดีจึงเป็นกรณีที่ไม่มีเหตุอันควร ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้จำเลยแก้คำให้การจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การรับสารภาพ คดีอยู่ในระหว่างศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษา จำเลยยื่นคำร้องขอถอนคำให้การรับสารภาพนั้นเป็นให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นไม่อนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่า คดีอาญานั้นแม้จำเลยจะให้การหรือไม่ให้การเป็นสิทธิของจำเลยก็ตาม แต่คดีนี้จำเลยก็ได้ให้การไว้แล้วโดยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ซึ่งแสดงว่าจำเลยยอมรับว่าตนกระทำความผิดตามที่โจทก์กล่าวหามาในคำฟ้องนั้นส่วนการขอแก้คำให้การของจำเลยนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อมีเหตุอันควร จำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การของเขาก่อนศาลพิพากษา ถ้าศาลเห็นสมควรอนุญาต ก็ให้ส่งสำเนาแก่โจทก์” ดังนี้แสดงว่า จำเลยสามารถยื่นคำร้องขอแก้คำให้การได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควร มิใช่เป็นไปตามอำเภอใจของจำเลย อีกทั้งเป็นดุลพินิจของศาลเห็นสมควร จึงอนุญาตให้แก้ได้ การที่จำเลยยื่นคำร้องขอแก้คำให้การในคดีนี้เป็นที่เห็นได้ชัดว่าจำเลยกระทำเพื่อประวิงคดีเท่านั้น จึงเป็นกรณีที่ไม่มีเหตุอันควร
พิพากษายืน

Share