คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9802/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2073/2542 ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1738/2543 และฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2065/2543 ต่อมาวันที่ 4 มิถุนายน 2544 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้ากับคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ได้สืบประจักษ์พยานโจทก์ 2 ปาก คือ จ. และ บ. ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ไปก่อนแล้ว หลังจากการสั่งรวมพิจารณาคดีแล้ว โจทก์นำ จ. มาสืบใหม่ได้เพียงคนเดียว บ. ไม่อาจนำมาสืบได้ ดังนั้น คำเบิกความของ บ. ที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก่อนมีการรวมพิจารณาคดีต้องถือว่าเป็นการสืบพยานลับหลัง ไม่อาจนำมาฟังลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ คงใช้ได้แต่เฉพาะคำเบิกความของ จ. เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้มีโอกาสถามค้าน จ.

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2544 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่าโจทก์ และเรียกจำเลยในแต่ละสำนวนว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามสำนวนและแก้ไขคำฟ้องเฉพาะสำนวนที่สองเป็นใจความเดียวกันขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 290
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 8 ปี
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาคดีเข้ากับคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2544 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ได้สืบประจักษ์พยานโจทก์ 2 ปาก คือ นายเจริญและนายบุญเลิศ ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ไปก่อนแล้ว หลังจากการสั่งรวมคดีแล้ว โจทก์คงสามารถนำนายเจริญมาสืบใหม่ได้เพียงคนเดียว นายบุญเลิศไม่สามารถนำมาสืบได้ ดังนั้นคำเบิกความของนายบุญเลิศที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก่อนมีการรวมพิจารณาคดีต้องถือว่าเป็นการสืบพยานลับหลัง ไม่อาจนำมาฟังลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ คงใช้ได้แต่เฉพาะคำเบิกความของนายเจริญเพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้มีโอกาสถามค้าน นายเจริญมาเบิกความครั้งที่สองในสาระสำคัญเช่นเดียวกับการเบิกความครั้งแรก คือไม่เห็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าไปเกี่ยวข้องกับการรุมทำร้ายผู้ตาย พยานแวดล้อมอื่นของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าได้ร่วมทำร้ายผู้ตายหรือไม่ก็ไม่มี คงมีแต่คำให้การชั้นสอบสวนของนายบุญเลิศเท่านั้น ซึ่งต้องถือว่าเป็นพยานบอกเล่าไม่อาจฟังลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าคำเบิกความของนายบุญเลิศในครั้งแรกก่อนมีการรวมพิจารณาคดีไม่อาจนำมาฟังลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เพราะถือว่าเป็นการสืบพยานลับหลังจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำให้ต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะไม่มีพยานหลักฐานพอฟังลงโทษได้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน .

Share