คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5576/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยฟ้องเรียกเอาค่าจ้างจากจำเลยในระหว่างที่จำเลยปิดงานและโจทก์ไม่ได้ทำงานตามปกติค่าจ้างที่โจทก์ฟ้องเรียกนี้ไม่ใช่เงินเดือนค้างจ่ายที่มีกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 แต่เป็นสินจ้างคนงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(9) มีอายุความ2 ปี ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 วรรคสองนั้น ต้องมีสิทธิได้รับค่าจ้างที่ค้างชำระด้วยจึงจะมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มเมื่อค่าจ้างที่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยขาดอายุความ สิทธิในการรับเงินเพิ่มย่อมหมดไปด้วย

ย่อยาว

คดีทั้งหกสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 6
โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหก เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2528จำเลยปิดงานเนื่องจากมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ต่อมาข้อพิพาทแรงงานยุติลง ได้มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแต่จำเลยไม่รับโจทก์เข้าทำงานตามปกติทันที โดยรับโจทก์เข้าทำงานเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2529 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 มีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างวันที่ 12-26 กุมภาพันธ์ 2529 และโดยที่จำเลยเจตนาไม่ชำระค่าจ้างให้โจทก์ทั้งหกโดยไม่มีเหตุอันสมควรจำเลยต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มอัตราร้อยละสิบห้าทุกระยะเจ็ดวันพร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี ฯลฯ จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวนตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ทั้งหกแต่ละสำนวน
จำเลยทั้งหกสำนวนให้การว่า จำเลยปิดงานและไม่จ่ายค่าจ้างและผลประโยชน์ให้โจทก์ ต่อมาจำเลยได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจำเลยจึงรับโจทก์กลับเข้าทำงานเนื่องจากต้องส่งจดหมายตามตัวโจทก์และไม่มีกฎหมายบังคับให้จำเลยต้องเปิดงานทันที ดังนั้นในช่วงที่ยังไม่ได้รับโจทก์กลับเข้าทำงานจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งฟ้องของโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องเกินกว่า 2 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6เป็นลูกจ้างของจำเลยได้ฟ้องเรียกเอาค่าจ้างจากจำเลยในระหว่างที่จำเลยได้ปิดงานและโจทก์ทั้งสามไม่ได้ทำงานตามปกติ แต่โจทก์ทั้งสามอ้างว่ามีสิทธิ์ได้รับเงินดังกล่าวค่าจ้างที่โจทก์ฟ้องเรียกนี้จึงไม่ใช่เงินเดือนค้างจ่ายที่มีกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 แต่เป็นเงินสินจ้างคนงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(9) มีอายุความ2 ปี คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว ส่วนเงินเพิ่มของโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 6 ตามลำดับนั้น ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 วรรคสอง กำหนดให้นายจ้างที่จงใจผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันถึงกำหนดจ่าย นายจ้างจะต้องจ่ายเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างชำระทุกระยะเวลาเจ็ดวันดังนั้นการจ่ายเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าทุกเจ็ดวันนั้นได้ถือเอาเงินค่าจ้างที่ค้างชำระเป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินเพิ่ม ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มจึงต้องมีสิทธิได้รับค่าจ้างที่ค้างชำระด้วยถ้าลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างก็จะไม่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มเมื่อปรากฏว่าค่าจ้างที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ฟ้องเรียกจากจำเลยขาดอายุความไปแล้วจนโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างตามที่เรียกร้องแล้ว สิทธิในการรับเงินเพิ่มก็หมดไปด้วย
พิพากษายืน

Share