คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5574/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ตั้งเงื่อนไขในการจัดตั้งบริษัทไว้ว่า บริษัทจำเลยที่ 1 และผู้เริ่มก่อการตกลงให้โจทก์ถือหุ้น 30 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นการให้เปล่าก็ต่อเมื่อกรมการค้าภายในได้จัดสรรสินค้าที่ได้จัดสรรให้บริษัทจังหวัดต่าง ๆอยู่แล้วให้บริษัทจำเลยที่ 1 เท่านั้น เมื่อโจทก์อนุมัติให้ตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ได้โดยให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เสนอไว้ในคำเสนอขอรับความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1โจทก์ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในคำเสนอดังกล่าวในส่วนที่เป็นหน้าที่ของโจทก์ด้วย เพราะถือว่าโจทก์สนองรับคำเสนอของผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 เกิดเป็นสัญญาที่คู่กรณีต้องปฏิบัติชำระหนี้ซึ่งกันและกัน เมื่อโจทก์ไม่เคยจัดสรรสินค้าต่าง ๆตามสัญญาให้แก่บริษัทจำเลยที่ 1 เพื่อจำหน่ายเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าโจทก์ผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้บริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ซึ่งเป็นผู้เริ่มก่อการโอนหุ้นให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 กับพวกทำคำเสนอเป็นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เพื่อขออนุญาตจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ต่อกรมการค้าภายในซึ่งเป็นกรมในสังกัดโจทก์โดยให้คำเสนอว่าหากได้รับอนุญาตจากกรมการค้าภายในให้จัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ยอมให้โจทก์ถือหุ้นร้อยละ 30 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด คือจำนวน 3,000 หุ้น เป็นเงิน300,000 บาท โดยผู้เริ่มก่อการจะจัดซื้อหุ้นให้โจทก์เป็นการให้เปล่าและเมื่อมีการจดทะเบียนเป็นบริษัทตามกฎหมายแล้วจะโอนหุ้นจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ ต่อมากรมการค้าภายในได้อนุมัติให้จัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ภายใต้เงื่อนไขและโจทก์ได้แจ้งคำสนองให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ทราบ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ได้ร่วมกันทำหนังสือบริคณห์สนธินำไปจดทะเบียนบริษัทจำเลยที่ 1 ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดพิษณุโลกหลังจากจดทะเบียนเป็นบริษัทตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว จำเลยทั้งสิบไม่ยอมโอนหุ้นให้แก่โจทก์ตามสัญญา ขอบังคับให้จำเลยทั้งสิบโอนหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1จำนวน 3,000 หุ้น ให้แก่โจทก์หรือมิฉะนั้นขอให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาในการโอนหุ้นดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ผู้แทนโจทก์ กรมการค้าภายในและผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกได้จัดประชุมชักชวนให้พ่อค้าประชาชนก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ขึ้น และสัญญาว่าเมื่อตั้งบริษัทขึ้นแล้วโจทก์และกรมการค้าภายในจะจัดส่งสินค้าต่าง ๆ ให้บริษัทจำเลยที่ 1จำหน่ายเพื่อตรึงราคาสนองนโยบายของรัฐบาลและโจทก์ ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งและจดทะเบียนบริษัทจำเลยที่ 1 โจทก์และกรมการค้าภายในผิดสัญญาไม่ส่งสินค้าให้ บริษัทจำเลยที่ 1เสียหายไม่มีสินค้าที่จะขายจนต้องเลิกค้าเพราะไม่มีกำไร โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับบริษัทจำเลยที่ 1 โอนหุ้นหรือชำระค่าหุ้นจำนวน 300,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 8 ให้การในทำนองเดียวกันว่าจำเลยทั้งหมดจึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับบริษัทจำเลยที่ 1 การจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ขึ้นเป็นการจัดตั้งขึ้นตามนโยบายของทางราชการและโจทก์เพื่อจำหน่ายสินค้าที่โจทก์จัดส่งมาให้จำหน่ายแก่ประชาชนในราคายุติธรรม เพื่อรักษาระดับราคาสินค้าหรือตรึงราคาสินค้าภายในจังหวัดเมื่อจดทะเบียนบริษัทจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์และกรมการค้าภายในผิดสัญญาไม่จัดส่งสินค้ามา ทำให้บริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีสินค้าที่จะค้าขายและไม่มีกำไร โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเป็นผู้ถือหุ้นหรือรับโอนหุ้นจากบริษัทจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและคดีขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1ได้ตั้งเงื่อนไขในการจัดตั้งบริษัทไว้ว่า บริษัทจำเลยที่ 1และผู้เริ่มก่อการตกลงให้โจทก์ถือหุ้น 30 เปอร์เซ็นต์โดยเป็นการให้เปล่าก็ต่อเมื่อกรมการค้าภายในได้จัดสรรสินค้า เช่น ข้าวสารและเครื่องอุปโภคบริโภครวมทั้งสินค้าอื่น ๆ ที่ได้จัดสรรให้บริษัทจังหวัดต่าง ๆ อยู่แล้วให้บริษัทจำเลยที่ 1 เท่านั้นเมื่อโจทก์อนุมัติให้จัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ โดยให้บริษัทจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เสนอไว้ในคำเสนอขอรับความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 โจทก์ก็จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในคำเสนอดังกล่าวในส่วนที่เป็นหน้าที่ของโจทก์ด้วยเพราะถือว่าโจทก์ได้ตอบสนองรับคำเสนอดังกล่าวของผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 แล้วเกิดเป็นสัญญาที่ผูกพันคู่กรณีทั้งสองฝ่าย จึงมีหนี้ที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ซึ่งกันและกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ไม่เคยจัดสรรสินค้าต่าง ๆ ตามสัญญาให้แก่บริษัทจำเลยที่ 1 เพื่อจำหน่ายเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าโจทก์ประพฤติผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้บริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10ซึ่งเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 โอนหุ้นจำนวน 30เปอร์เซ็นต์ หรือ 3,000 หุ้น ให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสิบโอนหุ้นให้แก่โจทก์ ฎีกาข้ออื่นของโจทก์จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share