แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยหลอกหลวงว่าน้ำที่พุขึ้นนั้นเจ้าแม่สำโรงบันดาลให้มีขึ้นและว่าน้ำพุนั้นศักดิ์สิทธิใช้เป็นยารักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ ประชาชนคนดูหลงเชื่อ ได้เอาน้ำนั้นไปใช้กินและทารักษาโรค แต่ไม่หายเพราะเป็นน้ำธรรมดาในลำคลองนั้นเอง และได้ให้เงินแก่จำเลยรวมประมาณหมื่นบาทโดยหลงเชื่อว่าน้ำนั้นเป็นของเจ้าแม่สำโรงรักษาโรคได้ แต่ความจริงนั้น จำเลยที่ 1 เอาเท้าพุ้ยน้ำในคลองทำให้น้ำผุดพุขึ้นมาเอง ไม่เกี่ยวแก่เจ้าแม่อะไรเลย จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำผิดด้วย โดยอ้างว่าน้ำพุนั้นเจ้าแม่สำโรงบันดาลให้เกิดขึ้นเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์รักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ ซึ่งเป็นการปกปิดความจริง และแสดงข้อความเท็จจริง ถือว่า จำเลยทั้งสองสมคบกันและมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกง โดยอ้างประมวลกฎหมายอาญา ม. 343 แม้โจทก์ไม่ได้อ้างถึง ม. 341, 342 แต่ ม.343 ได้อ้างถึง ม.341,342 อยู่แล้ว และโจทก์ก็ได้บรรยายไว้ในฟ้องชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยหลอกลวงประชาชน จึงเท่ากับอ้าง ม. 341, 342 โดยปริยายแล้ว
จำเลยได้เงินมาเพราะหลอกลวงเขาว่า น้ำพุนั้นเป็นน้ำพุที่เจ้าแม่สำโรงบันดาลให้เกิดขึ้นเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ใช้เป็นยารักษาโรคได้ ประชาชนหลงเชื่อจึงให้เงินแก่จำเลย ย่อมถือได้ว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการทุจริตตามกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
ได้ความว่าจำเลยหลอกลวงว่าน้ำพุขึ้นนั้น เจ้าแม่สำโรงบันดาลให้มีขึ้น และว่าน้ำพุนั้นศักดิ์สิทธิ์ใช้เป็นยารักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ ประชาชนคนดูหลงเชื่อ ได้เอาน้ำนั้นไปใช้กินและทารักษาโรคแต่ไม่หายเพราะเป็นน้ำธรรมดาในลำคลองนั้นเอง และได้ให้เงินแก่จำเลยรวมประมาณหมื่นบาท โดยหลงเชื่อว่าน้ำนั้นเป็นของเจ้าแม่สำโรงรักษาโรคได้ แต่ความจริงนั้น จำเลยที่ ๑ เอาเท้าพุ้ยน้ำในคลองทำให้น้ำผุดพุขึ้นมาไม่เกี่ยวแก่เจ้าแม่อะไรเลย จำเลย ๒ ได้สมคบร่วมกระทำผิด้วยโดยอ้างว่าน้ำพุนั้นเจ้าแม่สำโรงบันดาล ให้เกิดขึ้นเป็นน้ำศักดิ์สิทธิรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ ซึ่งเป็นการปกปิดความจริงและแสดงข้อความเท็จจริง
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.๓๔๓ ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๑ ปี จำเลยที่ ๑ อายุเพียง ๑๗ ลดโทษกึ่งหนึ่งตาม ม. ๗๕ แล้ว จำคุก ๓ เดือนและปรับ ๔,๖๐๐๐ บาท แต่โทษจำคุกจำเลยทั้งสองให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๓ ปี ตามมาตรา ๕๖ บังคับค่าปรับตาม มาตรา ๒๙
ข้อวินิจฉัยของศาลฎีกามีว่า เมื่อทางพิจารณาได้ความดังกล่าวข้างต้น การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.๓๔๓ ข้อที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้อ้าง มาตรา ๓๔๑, ๓๔๒ อันเป็นแม่บทสำคัญในความผิดฐานฉ้อโกงนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา ๓๔๓ ได้อ้างถึงมาตรา ๓๔๑, ๓๔๒ อยู่แล้ว และก็ได้บรรยายไว้ในฟ้องชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยหลอกลวงประชาชน จึงเท่ากับอ้างโดยปริยายแล้ว
ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่มีเจตนาทุจริตนั้น ได้ความชัดแจ้งว่าจำเลยได้เงิน เพราะหลอกลวงว่าน้ำพุนั้นเป็นน้ำที่เจ้าแม่สำโรงบันดาลให้เกิดขึ้น เป็นน้ำศักดิ์สิทธิใช้เป็นยารักษาโรคได้ ประชาชนหลวงเชื่อจึงให้เงินแก่จำเลย จำเลยทั้งสองได้เงินไป ย่อมถือได้ว่าเป็นการแสดงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเป็นทุจริต ตามกฎหมาย