คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1659/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนต่อประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเรื่องที่โจทก์มิได้นำหลักทรัพย์ของจำเลยออกขายในวันที่ 30 ตุลาคม 2539 แม้โจทก์จะกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศดังกล่าวจริงก็เป็นเรื่องระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกับโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกจะดำเนินการไปตามกฎหมายข้อบังคับและประกาศดังกล่าวต่อไประหว่างกันเองหามีผลกระทบต่อความรับผิดของจำเลยที่ทำหนังสือรับชำระหนี้ซึ่งโจทก์ใช้เป็นมูลฟ้องคดีนี้ให้จำเลยชำระหนี้ตามหนังสือดังกล่าวไม่ อีกทั้งขณะตกลงทำหนังสือรับชำระหนี้ จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามจำนวนที่ปรากฏในหนังสือรับชำระหนี้จริง แสดงให้เห็นว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์มิได้กระทำการใดอันเป็นการเอาเปรียบจำเลยซึ่งเป็นลูกค้าเพราะหากจำเลยเห็นว่าโจทก์เอาเปรียบจำเลยแล้ว จำเลยคงไม่ทำหนังสือรับชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ จำเลยจึงไม่อาจยกเอาเหตุแห่งความเสียเปรียบดังกล่าวขึ้นโต้แย้งเพื่อให้พ้นความรับผิดตามหนังสือรับชำระหนี้ดังกล่าวหนังสือรับชำระหนี้จึงใช้บังคับแก่จำเลยได้ หาตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามหนังสือรับชำระหนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 969,087.40 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี ของต้นเงิน 948,922.80 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 948,922.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 มีนาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์(ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องวันที่ 12 พฤษภาคม 2540 ให้ไม่เกิน 20,164.40 บาท)

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 948,922.80 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 907,968.69 บาท นับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้เถียงกันชั้นฎีกาฟังได้ว่าโจทก์เป็นบริษัทหลักทรัพย์และเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับและประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันที่ 29 ธันวาคม2538 โจทก์กับจำเลยทำสัญญานายหน้าและ/หรือตัวแทนและให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ภายหลังนั้นจำเลยสั่งให้โจทก์ซื้อและขายหลักทรัพย์หลายรายการจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2539 จำเลยทำหนังสือรับชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.7 ให้ไว้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2540 และวันที่ 10 มีนาคม2540 โจทก์นำหลักทรัพย์ของจำเลยที่วางไว้เป็นประกันออกขาย นำเงินมาชำระหนี้ตามหนังสือรับชำระหนี้

พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า หนังสือรับชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.7 ตกเป็นโมฆะหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า หนังสือรับชำระหนี้ที่จำเลยทำให้แก่โจทก์ไว้ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและโจทก์มีเจตนาเอาเปรียบจำเลยซึ่งเป็นลูกค้า เป็นการต้องห้ามมิให้โจทก์กระทำตามมาตรา 98(3) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 นั้น ซึ่งจำเลยนำสืบว่า จำเลยสั่งซื้อขายหุ้นผ่านโจทก์ระหว่างเดือนมกราคม 2539 ถึงเดือนเมษายน 2539 โดยมีการวางตั๋วสัญญาใช้เงินไว้เป็นประกัน ต่อมาหุ้นมีราคาลดลงโดยตลอด วันที่ 17 ตุลาคม 2539 โจทก์เรียกให้จำเลยส่งหลักประกันเพิ่ม จำเลยได้ส่งหลักประกันเพิ่มและแจ้งให้โจทก์นำหุ้นออกขายทันที ต่อมาเมื่อโจทก์ให้จำเลยทำหนังสือรับชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.7 แล้ว จำเลยทราบว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับและประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 โดยวันที่ 29 ตุลาคม 2539 หลักทรัพย์ที่จำเลยวางเป็นหลักประกันมีราคาลดต่ำกว่าอัตราส่วนที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและอัตราส่วนในการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์โดยมีหลักทรัพย์มาวางเป็นประกัน ฉบับลงวันที่ 16 ตุลาคม 2535 ข้อ 4(4) และฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2538 ข้อ 3 เอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 คือหลักทรัพย์มีราคาลดต่ำกว่าร้อยละ 15 ซึ่งโจทก์จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายคือบังคับขายหลักทรัพย์ในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 30 ตุลาคม 2539 จะได้เงินจำนวน 1,848,850 บาท เมื่อหักค่าธรรมเนียมออกจำนวน 9,244.25 บาท แล้ว จำเลยมีเงินจากการขายหลักทรัพย์มากกว่าหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์ตามหนังสือรับชำระหนี้เอกสารหมาย จ.7เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนต่อประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เอกสารหมาย ล.3 ในเรื่องที่โจทก์มิได้นำหลักทรัพย์ของจำเลยออกขายในวันที่ 30 ตุลาคม 2539 แม้โจทก์จะกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศดังกล่าวตามที่จำเลยอ้างจริง ก็เป็นเรื่องระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกับโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกจะดำเนินการไปตามกฎหมายข้อบังคับและประกาศดังกล่าวต่อไประหว่างกันเองหามีผลกระทบต่อความรับผิดของจำเลยที่ทำหนังสือรับชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.7ซึ่งโจทก์ใช้เป็นมูลฟ้องคดีนี้ให้จำเลยชำระหนี้ตามหนังสือดังกล่าวไม่ หนังสือรับชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.7 จึงหาตกเป็นโมฆะเพราะเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดตามหนังสือรับชำระหนี้ดังกล่าวได้ ส่วนฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์กระทำการอันเป็นการเอาเปรียบจำเลยซึ่งเป็นลูกค้าโดยให้จำเลยทำหนังสือรับชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.7 ขึ้น เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 98(3) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 จึงตกเป็นโมฆะ เห็นว่า ที่จำเลยฎีกาว่า หากโจทก์ขายหลักทรัพย์ของจำเลยวันที่ 30 ตุลาคม 2539 จำเลยจะได้เงินมากกว่าภาระหนี้ที่ต้องใช้ให้แก่โจทก์เสียอีกนั้น ขณะทำหนังสือรับชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.7 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2539 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่จำเลยอ้างว่าตนเองเสียเปรียบประมาณ 2 เดือนแต่จำเลยก็มิได้โต้แย้งใด ๆ ขณะตกลงทำหนังสือรับชำระหนี้และยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามจำนวนที่ปรากฏในหนังสือรับชำระหนี้ดังกล่าวจริง ทั้งตามข้อ 1 ในหนังสือรับชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยยอมรับว่า “บรรดาภาระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์และ/หรือความรับผิดต่าง ๆ ที่ได้มีขึ้นจากการซื้อขายหลักทรัพย์และหลักฐานหรือเอกสารแห่งหนี้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญา MARGIN ดังกล่าวที่มีขึ้นก่อนและ/หรือในขณะทำหนังสือฉบับนี้ เป็นรายการที่ถูกต้องและมีผลผูกพันและสมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการลูกค้าจะไม่ยกเอาเหตุของความไม่สมบูรณ์ของภาระหนี้ความรับผิดและหลักฐานเอกสาร หรือเหตุอื่นใดขึ้นโต้แย้งกับบริษัทโดยเด็ดขาด” เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์มิได้กระทำการใดอันเป็นการเอาเปรียบจำเลยซึ่งเป็นลูกค้า เพราะหากจำเลยเห็นว่าโจทก์เอาเปรียบจำเลยแล้ว จำเลยคงไม่ทำหนังสือรับชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจยกเอาเหตุแห่งความเสียเปรียบดังกล่าวขึ้นโต้แย้งเพื่อให้พ้นความรับผิดตามหนังสือรับชำระหนี้ดังกล่าว หนังสือรับชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.7 จึงใช้บังคับแก่จำเลยได้หาตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 ดังฎีกาของจำเลยไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามหนังสือรับชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.7 ได้สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่า ประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 และข้อ 2 ก็เช่นเดียวกัน จำเลยได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบในคดีได้สมตามข้อต่อสู้ของจำเลยเมื่อศาลฎีกาฟังว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเหตุหนังสือรับชำระหนี้ โจทก์ทำขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมายและเอาเปรียบจำเลยก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 และข้อ 2 ต่อไปนั้น เห็นว่า สองประเด็นดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคือหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือไม่ และโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยบังคับขายหลักทรัพย์ไปก่อนวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันกำหนดชำระหนี้งวดแรกหรือไม่ แต่จำเลยก็มิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในสองประเด็นดังกล่าว จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยสองประเด็นดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share