แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยบุกรุกเข้าไปในเคหะสถานและพยายามลักทรัพย์ด้วย ดังนี้ จะลงโทษฐานบุกรุกและพยายามลักทรัพย์ได้หรือไม่ ต้องพิจารณาฟ้องของโจทก์เป็นสำคัญว่า โจทก์มีความประสงค์จะขอให้ลงโทษฐานพยายามลักทรัพย์ฐานเดียวหรือฐานบุกรุกด้วย.
อัตราโทษจำคุกอย่างสูงฐานบุกรุกตามมาตรา 365 ย่อมมีโทษหนักกว่าอัตราโทษอย่างสูงฐานพยายามลักทรัพย์ตามมาตรา 335 วรรค 2 ประกอบด้วยมาตรา 80.
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยให้การรับสารภาพได้ความว่า จำเลยได้บังอาจบุกรุกเข้าไปในเคหะสถานของนางชิวหวั่น โดยใช้บันไดพาดหน้าต่างเข้าไปและทำการลักทรัพย์ของนางชิวหวั่นไป รวมราคา ๑,๖๐๐ บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ม. ๘๐, ๓๓๕, ๓๖๔, ๓๖๕.
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา ๓๖๕ (๓) และมาตรา ๓๓๕ (๑) (๘) ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ ลงโทษตามบทหนักคือ มาตรา ๓๓๕ (๑) (๘) วางโทษ ๒ ปี ลงโทษฐานพยายาม ๒ ใน ๓ คือจำคุก ๑ ปี ๔ เดือน ลดฐานรับสารภาพคง จำคุก ๘ เดือน
โจทก์อุทธรณ์ ขอให้ลงโทษตามมาตรา ๓๖๕ ซึ่งเป็นบทหนัก
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โทษจำคุกอย่างสูงตามมาตรา ๓๖๕ ถึง ๕ ปี แต่โทษตามมาตรา ๓๓๕ วรรค ๒ ถึง ๗ ปี ลงโทษฐานพยายาม ๒ ใน ๓ คือ ๔ ปี ๘ เดือน อัตราโทษจำคุกอย่างสูงฐานบุกรุกจึงหนักกว่าฐานพยายามลักทรัพย์ พิพากษาแก้ให้จำคุก ๑ ปี ตามมาตรา ๓๖๕, ๗๘
ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งแย้งว่า ควรลงโทษฐานพยามยามลักทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๕ (๑) (๘) ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ ฐานเดียว จำคุก ๑ ปี ๔ เดือน ลดฐานรับสารภาพกึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๘ เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้จะต้องพิจารณาฟ้องของโจทก์เป็นสำคัญ การเข้าไปในเคหะสถานเป็นองค์ประกอบการลักทรัพย์ในเคหะสถานให้สมบูรณ์ ถ้าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ในเคหะสถานฐานเดียว ก็ไม่มีประเด็นถึงความผิดฐานบุกรุก คดีนี้โจทก์ฟ้องได้กล่าวถึงความผิดฐานบุกรุกและอ้างมาตรา ๓๖๕ มาด้วย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ความผิดฐานบุกรุกมีโทษหนักกว่าความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ ชอบแล้ว.
พิพากษายืน