คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5568/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นที่เกิดเหตุโดยมีหมายค้น แต่คนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีใครยอมเปิดประตูให้ การที่เจ้าพนักงานตำรวจงัดกุญแจประตูรั้วบ้าน และเข้าไปดำเนินการตรวจค้นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและเป็นการกระทำตามสมควรเพื่อให้สามารถเข้าไปในที่เกิดเหตุได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 90, 157, 358, 362, 364 และ 365 (2) (3)
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 358, 364, 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 3 ปี ปรับคนละ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนจำเลยที่ 1 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาคดีในส่วนของจำเลยที่ 1
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจสั่งการให้พันตำรวจเอกวิทยาและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กับพวกตรวจค้นที่เกิดเหตุในวันเกิดเหตุหรือไม่ เห็นว่า คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 13/2549 เอกสารหมาย จ. 47 เพียงแต่เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติมาเป็นคณะกรรมการอำนวยการปราบปรามผู้มีอิทธิพลโดยมีนายวันมูหะมัด เป็นผู้อำนวยการหาได้ยกเลิกศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ หรือยกเลิกคำสั่งต่าง ๆ ของศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ ที่ออกโดยพลตำรวจเอกชิดชัย ผู้อำนวยการคนก่อน ประกอบกับเมื่อพิจารณาคำสั่งคณะกรรมการอำนวยการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ที่ 7/2549 ข้อ 3 ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ภารกิจและหน้าที่ความรับผิดชอบ ตลอดจนการดำเนินการอื่นใดเพื่อปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่กระทำความผิดเกี่ยวกับสถานบริการและแหล่งอบายมุข ที่มีอยู่เดิมตามคำสั่งศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ เป็นภารกิจและหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมการฯ ตามคำสั่งนี้ แสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจออกคำสั่งต่าง ๆ มีเจตนารมณ์ให้การดำเนินการของคณะอนุกรรมการฯ ที่มีจำเลยที่ 1 เป็นประธานมีความต่อเนื่อง แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงหน่วยบังคับบัญชาก็ตาม พันตำรวจเอกวิทยา จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ประจำชุดปฏิบัติการสืบสวนปราบปรามและตรวจสอบการปฏิบัติงานปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่กระทำความผิดเกี่ยวกับสถานบริการและแหล่งอบายมุข และจำเลยที่ 1 มีอำนาจมอบหมายให้ตรวจค้นที่เกิดเหตุได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า นายบอยเบิกความด้วยว่า ภายหลังได้ยินเสียงเขย่าประตูและเห็นสิบตำรวจตรีพิรุฬห์ปีนรั้วเข้ามา นายบอยตะโกนถามว่าเข้ามาได้อย่างไร สิบตำรวจตรีพิรุฬห์ตอบว่ากูเป็นตำรวจ เมื่อพวกของสิบตำรวจตรีพิรุฬห์อีก 2 คน ปีนรั้วตามมา นายบอยตะโกนห้าม และเมื่อชาย 4 คน เดินเข้ามาหานายบอย ก็มีเสียงพูดขึ้นว่า มันเรื่องมากจับมันเลย แล้วมีคนเดินเข้ามาผลักอกนายบอยและจะจับสวมกุญแจมือ นายบอยสะบัดข้อมือหลุดแล้ววิ่งหนีออกไปจากที่เกิดเหตุ แต่ตามคำเบิกความของนางวิเชียร ไม่ปรากฏว่านางวิเชียรได้ยินเสียงหรือเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งที่นางวิเชียรยืนยันว่าเดินออกจากบ้านมาดูเหตุการณ์ภายหลังมีเสียงเขย่าประตู และตามภาพถ่ายบริเวณที่เกิดเหตุ ปรากฏว่าบ้านเลขที่ 487/94 ที่นางวิเชียรอยู่เห็นเหตุการณ์อยู่ห่างจากชานบ้านเลขที่ 487/53 ที่เกิดเหตุนายบอยอยู่เห็นเหตุการณ์เพียงเล็กน้อย และระหว่างบ้านทั้งสองหลังเป็นที่โล่ง แม้จะมีต้นไม้ขึ้นอยู่แต่ก็เป็นต้นไม้ใหญ่ลำต้นสูงอยู่ด้านใน ไม่น่าจะปิดบังนางวิเชียรที่อยู่พื้นดินที่จะเห็นเหตุการณ์ อีกทั้งบริเวณดังกล่าวมีแสงสว่างจากไฟสปอตไลท์ที่ประตูรั้ว ไฟนีออนที่บ้านเกิดเหตุ และไฟนีออนที่ศาลเจ้าภายในบริเวณที่เกิดเหตุ นางวิเชียรเบิกความด้วยว่า วันเกิดเหตุหลังเวลา 16 นาฬิกา นางวิเชียร ไม่เห็นนายบอยบริเวณที่เกิดเหตุ แต่นายบอยอ้างว่าภายหลังเวลา 16 นาฬิกา นายบอยเดินตรวจบริเวณที่เกิดเหตุชั่วโมงละครั้ง นายบอยเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ที่เกิดเหตุแต่เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า ไม่ทราบเรื่องที่มีรถยนต์จอดค้างคืนในที่เกิดเหตุนานหลายวัน และรถยนต์ที่จอดลักษณะเสียและยางแบนในที่เกิดเหตุมีกี่คัน เป็นการผิดปกติวิสัยของพนักงานรักษาความปลอดภัย เมื่อพิจารณาหมายค้นบ้านเลขที่ 487/53 และหมายค้นโรงเรียนวัฒนศิลป์ แผ่นที่ 1 จะเห็นได้ว่า หมายค้นทั้งสองฉบับลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 และระบุเวลาตรวจค้นตั้งแต่ 12 นาฬิกา จนกว่าจะเสร็จสิ้นการตรวจค้นเช่นเดียวกันและยังมีหมายเลขที่หมายค้นเรียงลำดับกันอีกด้วย แสดงว่าเจ้าพนักงานตำรวจมีแผนที่จะเข้าไปตรวจค้นโรงเรียนวัฒนศิลป์และบ้านเลขที่ 487/53 ต่อเนื่องกันไปอยู่ก่อนแล้ว ได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจเอกวิทยาว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้ เจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นบ่อนการพนัน ปอ ประตูน้ำ ของโจทก์ จับกุมผู้เล่นการพนันจำนวน 262 คน แล้วไปตรวจค้นบ้านของนางสาวประภาพรรณ บุตรสาวโจทก์ พบเอกสารการรับจำนำทรัพย์สินจากผู้เล่นการพนันและพบกุญแจรถยนต์จำนวน 64 ดอก มีกระดาษเขียนหมายเลขทะเบียนรถ จำนวนเงินและวันรับจำนำติดไว้ที่พวงกุญแจและมีการสืบสวนข้อมูลได้ความว่ารถยนต์ที่รับจำนำดังกล่าวจอดอยู่ที่โรงเรียนวัฒนศิลป์บ้านเลขที่ 487/53 ที่เกิดเหตุ สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในบันทึกการตรวจค้นบ้านของนางสาวประภาพรรณ แสดงว่าการตรวจค้นโรงเรียนวัฒนศิลป์และบ้านเลขที่ 487/53 มีวัตถุประสงค์เพื่อยึดรถยนต์จำนวน 64 คัน ซึ่งตามทางสืบสวนพบว่าจอดอยู่ที่สถานที่เกิดเหตุทั้งสองแห่ง และเมื่อพิจารณาบันทึกการตรวจค้นโรงเรียนวัฒนศิลป์ ที่ปรากฏว่ามีการเริ่มตรวจค้นเวลาประมาณ 14 นาฬิกา ภายหลังพบว่ามีรถยนต์หลายคันซึ่งมีหมายเลขทะเบียนตรงกับกุญแจรถยนต์ที่ยึดได้ตรงตามทางสืบสวน ส่วนบ้านเลขที่ 487/53 ที่เกิดเหตุ ตามบันทึกการตรวจค้นเริ่มตรวจค้นเมี่อเวลา 15.45 นาฬิกา ภายหลังงัดประตูรั้วเข้าไปได้ เป็นการตรวจค้นต่อเนื่องจากการตรวจค้นที่โรงเรียนวัฒนศิลป์ ส่วนที่โจทก์นำสืบอ้างว่า ประตูรั้วบ้านที่เกิดเหตุเปิดเวลา 3 นาฬิกา และปิดเวลา 16 นาฬิกา ทุกวัน โดยมีป้ายบอกเวลาเปิดปิด เพื่อแสดงให้เห็นว่า หากเจ้าพนักงานตำรวจเริ่มการตรวจค้นก่อนเวลา 16 นาฬิกา ไม่น่าจะต้องงัดกุญแจประตูรั้ว เพราะประตูรั้วยังเปิดอยู่นั้น แต่เมื่อพิจารณาภาพถ่ายในวันเกิดเหตุ ไม่ปรากฏว่ามีป้ายบอกเวลาเปิดปิดที่ประตูรั้วบ้านที่เกิดเหตุ ที่โจทก์เบิกความอ้างว่าป้ายระบุเวลาเปิดปิดประตูรั้วปิดมาเป็นเวลา 10 กว่าปีก่อนเกิดเหตุก็ขัดกับสภาพป้ายที่โจทก์อ้าง ซึ่งมีลักษณะเป็นป้ายไม้อัดใช้ปากกาเขียนเวลาเปิดปิด ทำขึ้นชั่วคราวสภาพยังใหม่ จึงไม่น่าเชื่อว่าประตูรั้วบ้านที่เกิดเหตุเปิดเวลา 3 นาฬิกา และปิดเวลา 16 นาฬิกา โดยมีป้ายบอกเวลาเปิดปิดติดอยู่ที่ประตูรั้วตามที่โจทก์นำสืบ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พันตำรวจเอกวิทยากับพวกเริ่มตรวจค้นที่เกิดเหตุมาตั้งแต่เวลา 15.45 นาฬิกาแล้ว หาใช่เพิ่งเริ่มตรวจค้นประมาณ 19 นาฬิกา ไม่ แม้ในขณะนั้นจะไม่ได้ความว่ามีการแสดงหมายค้นให้แก่ผู้ครอบครองสถานที่ แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่เพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่ในเหตุการณ์ขณะที่พันตำรวจเอกวิทยากับพวกเข้าไปในที่เกิดเหตุครั้งแรกเมื่อเวลา 15.45 นาฬิกา ส่วนที่โจทก์นำสืบอ้างว่า เมื่อเวลาประมาณ 19 นาฬิกา โจทก์และนายสุทธิพงษ์หรือสุ่น ไปที่เกิดเหตุพบจำเลยที่ 2 กับพวกอยู่ในที่เกิดเหตุ โจทก์ขอดูหมายค้นจากจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ไม่สามารถแสดงหมายค้นนั้น จำเลยที่ 2 มีจำเลยที่ 2 พันตำรวจโทณรงค์ สิบตำรวจตรีพิรุฬห์ และสิบตำรวจตรีพงษ์ศักดิ์เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า วันเกิดเหตุก่อนเวลา 19 นาฬิกา เล็กน้อย จำเลยที่ 2 ไปดูปัญหาการเคลื่อนย้ายรถยนต์ออกจากที่เกิดเหตุตามที่พันตำรวจโทณรงค์และสิบตำรวจตรีพิรุฬห์แจ้งให้ทราบเมื่อโจทก์ไปถึงที่เกิดเหตุและขอดูหมายค้น จำเลยที่ 2 ไม่สามารถแสดงหมายค้นให้โจทก์ดูเพราะให้สิบตำรวจตรีพงษ์ศักดิ์นำหมายค้นไปทำบันทึกการตรวจค้นที่โรงเรียนวัฒนศิลป์ซึ่งมีโต๊ะสำหรับเขียนหนังสือและมีแสงสว่างมากกว่าที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ให้สิบตำรวจตรีพิรุฬห์โทรศัพท์แจ้งสิบตำรวจตรีพงษ์ศักดิ์นำหมายค้นมาที่เกิดเหตุ สิบตำรวจตรีพงษ์ศักดิ์ส่งหมายค้นให้พันตำรวจโทณรงค์ทางช่องประตู พันตำรวจโทณรงค์ แสดงหมายค้นให้โจทก์ดู โจทก์ส่งต่อให้ทนายโจทก์อ่านพันตำรวจโทณรงค์แจ้งให้ทนายโจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบในหมายค้นแต่ทนายโจทก์ไม่ยอมลงลายมือชื่อและส่งหมายค้นคืนพันตำรวจโทณรงค์ นายสุทธิพงษ์ พยานโจทก์เองก็เบิกความรับว่า เมื่อโจทก์ถามหาหมายค้น นายสิทธิพงษ์ได้ยินเสียงตะโกนว่า รีบเอาหมายค้นมา แสดงว่าขณะที่โจทก์ไปที่เกิดเหตุและขอดูหมายค้นจากจำเลยที่ 2 หมายค้นไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่อยู่ที่สิบตำรวจตรีพงษ์ศักดิ์ที่นำหมายค้นไปทำบันทึกการตรวจค้นที่โรงเรียนวัฒนศิลป์ที่อยู่ใกล้เคียงกัน การที่สิบตำรวจตรีพงษ์ศักดิ์สามารถนำหมายค้นไปที่เกิดเหตุและส่งให้พันตำรวจโทณรงค์นำไปแสดงแก่โจทก์ได้หลังจากนั้นไม่นาน ถือได้ว่ามีการนำหมายค้นมาแสดงแก่ผู้ครอบครองสถานที่โดยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 94 แล้ว การที่จำเลยที่ 2 เข้าไปในที่เกิดเหตุ ภายหลังพันตำรวจเอกวิทยากับพวกเข้าไปในที่เกิดเหตุก่อนแล้วตั้งแต่เมื่อเวลา 15.45 นาฬิกา และจำเลยที่ 2 กับพวกทราบดีว่าศาลแขวงดุสิตออกหมายค้นที่เกิดเหตุให้พันตำรวจเอกวิทยาแล้วด้วย จึงมีเหตุให้จำเลยที่ 2 เข้าใจโดยสุจริตว่า เจ้าพนักงานตำรวจที่เข้าไปในที่เกิดเหตุชุดแรกแสดงหมายค้นที่เกิดเหตุแก่ผู้ครอบครองที่เกิดเหตุโดยชอบแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาบุกรุกเข้าไปในที่เกิดเหตุ หรือรบกวนการครอบครองโดยมิชอบ ส่วนที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าคืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 23 นาฬิกา หลังจากจำเลยที่ 1 กลับไปแล้ว จำเลยที่ 2 นำเจ้าพนักงานตำรวจชุดคอมมานโดเข้าไปในที่เกิดเหตุอีกครั้ง แม้ไม่ได้ความว่ามีการแสดงหมายค้นแก่โจทก์ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการค้นต่อเนื่องมาจากการค้นในช่วงเวลาประมาณ 19 นาฬิกา ซึ่งมีการแสดงหมายค้นแก่โจทก์แล้ว ส่วนที่โจทก์มีตัวโจทก์ นายสิทธิพงษ์ พันตำรวจโท ศิริวัฒน์ พันตำรวจเอกทินกร และร้อยตำรวจเอกพิศิษฐ์เบิกความว่า คืนเกิดเหตุเห็นจำเลยที่ 3 อยู่ในที่เกิดเหตุ และตัวโจทก์ นายสิทธิพงษ์และพันตำรวจเอกทินกรเบิกความว่า คืนเกิดเหตุเห็นจำเลยที่ 4 อยู่ในที่เกิดเหตุด้วยนั้น ในส่วนของจำเลยที่ 3 โจทก์และนายสิทธิพงษ์เบิกความยืนยันว่า เห็นจำเลยที่ 3 อยู่ในที่เกิดเหตุ ไม่มีรายละเอียดว่าจำเลยที่ 3 กระทำประการใดบ้าง ที่นายบอยเบิกความว่า เห็นชายที่สวมกางเกงขาสั้นเสื้อยืดคอกลม ภาพที่ 2 และที่ 3 ซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 3 อยู่ในที่เกิดเหตุ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่านายบอย อยู่ในที่เกิดเหตุและเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวดังได้วินิจฉัยมาแล้ว และที่พันตำรวจโทศิริวัฒน์เบิกความว่า ขณะที่เดินออกจากที่เกิดเหตุเห็นจำเลยที่ 3 เดินสวนทางมานั้น เมื่อพิจารณาภาพถ่ายที่เกิดเหตุที่ทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสี่อ้างส่งก็ไม่ปรากฏว่ามีภาพพันตำรวจโทศิริวัฒน์อยู่ในบ้านที่เกิดเหตุก่อนที่จำเลยที่ 1 จะมาในที่เกิดเหตุ สิบตำรวจเอกทินกรและร้อยตำรวจเอกพิศิษฐ์ก็เบิกความเพียงว่า เห็นจำเลยที่ 3 อยู่นอกรั้วที่เกิดเหตุและเดินตามจำเลยที่ 1 เข้าไปในที่เกิดเหตุ สอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ที่ยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าก่อนหน้านั้นมีการแสดงหมายค้นแก่โจทก์แล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ขัดขวางหรือห้ามมิให้จำเลยที่ 1 กับพวกเข้าไปในที่เกิดเหตุ การที่จำเลยที่ 3 เดินตามจำเลยที่ 1 เข้าไปในที่เกิดเหตุในช่วงเวลาดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนและฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ที่โจทก์และนายสิทธิพงษ์เบิกความว่า เมื่อโจทก์ให้เจ้าพนักงานตำรวจออกไปจากที่เกิดเหตุ มีบางคนเดินออกไป คนที่เดินออกไปคนหนึ่งมองหน้าโจทก์ โจทก์ให้นายสิทธิพงษ์ไปดูว่าเป็นใคร นายสิทธิพงษ์สอบถามเจ้าพนักงานตำรวจในบริเวณนั้น ได้ความว่า คือ จำเลยที่ 4 แต่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสี่ว่า ไม่เห็นบุคคล ซึ่งก็คือจำเลยที่ 4 ในที่เกิดเหตุแต่ลูกน้องของโจทก์เห็น แตกต่างจากคำเบิกความของโจทก์ในชั้นพิจารณา ส่วนที่พันตำรวจเอกทินกรเบิกความว่า เห็นจำเลยที่ 4 ยังอยู่นอกประตูรั้วและเดินตามจำเลยที่ 1 เข้าไปในที่เกิดเหตุ เมื่อพิจารณาภาพถ่ายที่โจทก์และจำเลยทั้งสี่อ้างทุกภาพไม่ปรากฏว่ามีภาพจำเลยที่ 4 อยู่ในเหตุการณ์ด้วย จำเลยที่ 4 นำสืบปฏิเสธว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ทำงานอยู่กลุ่มงานสอบสวน 2 กองบังคับการสอบสวน กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ตลอดเวลา ไม่ได้ร่วมตรวจค้นที่เกิดเหตุด้วย ตามบันทึกการลงเวลาปฏิบัติงาน บันทึกส่งสำนวนไปให้พนักงานอัยการและทะเบียนส่งหนังสือ นอกจากนี้ในบันทึกการตรวจค้นสถานที่ทั้งสามแห่งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 ไม่ปรากฏว่ามีจำเลยที่ 4 ร่วมตรวจค้นด้วย ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 4 อยู่ในที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุกเคหสถานเวลากลางคืนและฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในส่วนของจำเลยที่ 1 ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการให้งัดกุญแจประตูรั้วบ้านที่เกิดเหตุหรือสั่งการไว้ก่อนแล้วว่าไม่ต้องแสดงหมายค้นแก่ผู้ครอบครองที่เกิดเหตุ การที่เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวไม่ได้แสดงหมายค้นแก่ผู้ครอบครองในที่เกิดเหตุทันทีเป็นเรื่องนอกเหนือการควบคุมของจำเลยที่ 1 อีกทั้งการงัดกุญแจประตูรั้ว เห็นได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นตามเหตุการณ์และเป็นการกระทำตามสมควรเพื่อให้สามารถเข้าไปในที่เกิดเหตุได้เพราะคนที่อยู่ภายในบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีใครยอมเปิดประตูให้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ฎีกาข้ออื่นของโจทก์เป็นฎีกาปลีกย่อยไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคดีจึงไม่วินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share