คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5568/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนมีว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นของจำเลยที่ให้โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน การที่จำเลยเบิกความเกี่ยวกับโจทก์เพียงว่าจำเลยรู้จักกับโจทก์เมื่อปี 2524 และเห็นว่าโจทก์เป็นคนดีน่าเชื่อถือ กับได้รับคำแนะนำจากนายจ้างของโจทก์ว่าโจทก์เป็นผู้ที่ไว้วางใจได้น่าเชื่อถือ อันแสดงว่าจำเลยได้พิจารณาเพียงคุณสมบัติของตัวโจทก์ดังกล่าวก่อนที่จะให้โจทก์เป็นผู้ซื้อและถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนจำเลย โดยไม่เบิกความถึงความสัมพันธ์ที่จำเลยอยู่กินกับโจทก์เป็นภริยาของจำเลยอีกคนหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์อันเป็นกรณีพิเศษไปจากบุคคลอื่นๆ และย่อมเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่ศาลในคดีก่อนจะได้นำไปพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานอื่น ๆ เพื่อวินิจฉัยให้มีผลคดีที่ถูกต้องและเป็นธรรม จึงเป็นการเบิกความโดยปิดบังข้อสำคัญแห่งคดี เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก จำคุก 1 ปี ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นได้ว่า โจทก์กับจำเลยเคยอยู่กินฉันสามีภริยากัน โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 18926 ตำบลบางแค (หลักสอง) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร และโฉนดเลขที่ 37010 ถึงเลขที่ 37016 ตำบลบางเขน อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี รวม 8 แปลง ปี 2530 โจทก์ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินโฉนดเลขที่ 18926 ด้วยเงินของจำเลย และโจทก์พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าวตลอดมาปี 2547 โจทก์ป่วยต้องผ่าตัดสมอง ปี 2553 โจทก์ออกจากบ้านดังกล่าวไปกับน้องสาว ต่อมาจำเลยฟ้องโจทก์ที่ศาลแพ่งธนบุรีขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวคืนจำเลย โดยจำเลยเบิกความในคดีแพ่งนั้นด้วย และศาลแพ่งธนบุรีมีคำพิพากษาให้จำเลยชนะคดี
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 8 ฉบับ ย่อมได้ประโยชน์ตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นเจ้าของ จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวที่ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ศาลแพ่งธนบุรี เรื่อง ที่ดิน ขับไล่ โดยอ้างว่าจำเลยเป็นผู้ซื้อที่ดินทั้ง 8 แปลง และให้โจทก์ลงชื่อเป็นผู้ซื้อในสัญญาซื้อขายและเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 8 แปลง ดังกล่าวแทนจำเลย แล้วโจทก์ไม่ยอมคืนให้ ในคดีดังกล่าวจำเลยเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าจำเลยรู้จักกับโจทก์และเห็นว่าโจทก์เป็นคนดีจึงได้ปรึกษาภริยาจำเลยแล้วตกลงกันให้โจทก์เป็นคู่สัญญาซื้อที่ดิน และลงชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 8 แปลง แทนจำเลย ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณากับมีคำพิพากษาไปฝ่ายเดียว โดยให้โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวคืนจำเลยซึ่งในคดีดังกล่าวมีประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลงเป็นของโจทก์ หรือเป็นของจำเลยที่ให้โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน แต่เนื่องจากโจทก์ได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าโจทก์เป็นเจ้าของ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยและมีหน้าที่นำพยานหลักฐานพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว แต่เมื่อจำเลยเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนั้น จำเลยได้เบิกความเกี่ยวกับโจทก์เพียงว่า จำเลยรู้จักกับโจทก์เมื่อปี 2524 และเห็นว่าโจทก์เป็นคนดีน่าเชื่อถือกับได้รับคำแนะนำจากนายจ้างของโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้ที่ไว้วางใจได้น่าเชื่อถือ อันแสดงว่าจำเลยได้พิจารณาเพียงคุณสมบัติของตัวโจทก์ดังกล่าวก่อนที่จะให้โจทก์เป็นผู้ซื้อและถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 8 แปลงแทนจำเลย โดยจำเลยไม่เบิกความถึงความสัมพันธ์ที่จำเลยแม้จะมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ก็ยังได้มีความสัมพันธ์และอยู่กินกับโจทก์เป็นภริยาของจำเลยอีกคนหนึ่งด้วย ซึ่งความสัมพันธ์ใกล้ชิดดังกล่าวจำเลยก็ย่อมต้องมีความรู้สึกผูกพัน ห่วงใยและเอื้อประโยชน์ให้แก่โจทก์ยิ่งกว่าบุคคลที่จำเลยรู้จักโดยทั่วไปอื่นๆ ดังนั้นหากจำเลยได้เบิกความถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์อันเป็นกรณีพิเศษไปจากบุคคลอื่นๆ ดังกล่าว ข้อเท็จจริงนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่ศาลแพ่งธนบุรีจะได้นำไปพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานอื่น ๆ ของจำเลยเพื่อวินิจฉัยให้มีผลคดีที่ถูกต้องและเป็นธรรม การที่จำเลยไม่เบิกความถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นการปิดบังข้อสำคัญแห่งคดี เป็นผลให้โจทก์เสียหายและเป็นความผิดตามฟ้องในคดีนี้แล้ว ส่วนฎีกาของจำเลยข้ออื่น ๆ ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยในคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share