แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์สมรสกับพันตรี จ. ในขณะที่พันตรี จ. มีคู่สมรสอยู่แล้วเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1452 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งรวมถึงโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะกล่าวอ้างหรือมีคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1497 ซึ่งความเป็นโมฆะของการสมรสย่อมมีผลไปถึงวันที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับพันตรี จ. หาใช่มีผลนับตั้งแต่วันที่โจทก์จดทะเบียนหย่าในปี 2532 ไม่ ฉะนั้นในขณะที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายจึงถือไม่ได้ว่าในขณะนั้นโจทก์ยังมีคู่สมรสอยู่ การสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตายจึงไม่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1452 เมื่อจำเลยจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายในปี 2533 โดยโจทก์กับผู้ตายยังเป็นคู่สมรสกันอยู่การสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ตายจึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1452 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495
การร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะตามมาตรา 1497 มิใช่เรื่องอายุความในกรณีใช้สิทธิเรียกร้องซึ่งอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ที่ให้มีกำหนด 10 ปี ผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะเมื่อใดก็ได้
ย่อยาว
สำนวนแรก โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ตาย เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ เป็นโมฆะ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สอง โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ตายเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ ณ สำนักงานเขตบางกอกใหญ่เป็นโมฆะ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้คงเรียกโจทก์สำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยสำนวนที่สองว่า โจทก์ เรียกจำเลยสำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์สำนวนที่สองว่า จำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การสมรสระหว่างพลเอกนิพนธ์ กับพันเอกหญิงเอกอรหรือเสาวนีย์(โจทก์) ที่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ ณ สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ เป็นโมฆะ ให้แจ้งนายทะเบียนสำนักงานเขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรสเมื่อคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสระหว่างพลเอกนิพนธ์ กับพันเอกหญิงเอกอร ถึงที่สุด ให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนแรก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลย (โจทก์ในสำนวนที่สอง) ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามประเด็นที่จำเลยฎีกาว่า การสมรสของโจทก์กับผู้ตายเป็นโมฆะเพราะเป็นการสมรสซ้อนหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า แม้โจทก์จะจดทะเบียนหย่ากับพันตรีจำรัสปี ๒๕๓๒ ก็ไม่ทำให้การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตายในปี ๒๕๒๙ มีผลสมบูรณ์และที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ ฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การสมรสระหว่างโจทก์กับพันตรีจำรัสเป็นโมฆะไม่ชอบเพราะมิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว โดยชอบในศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ ยกเอาข้ออ้างตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับพันตรีจำรัสเป็นโมฆะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวกับคำให้การและคำฟ้องของจำเลยในสำนวนคดีหลังซึ่งเป็นข้อที่โจทก์ไม่สามารถยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นได้และเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวพันกับปัญหาข้อกฎหมายว่า การสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตายชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และการสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ตายเป็นการสมรสซ้อนหรือไม่ นับว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ต้องพิจารณาต่อไปว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ตายเป็นโมฆะได้หรือไม่ ปัญหาดังกล่าวแม้เป็นข้อที่โจทก์มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แต่ก็ต้องด้วยบทยกเว้นที่ให้คู่ความที่เกี่ยวข้องมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างเป็นปัญหาในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๒๕ วรรคสองประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวมาตรา ๖ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ รับวินิจฉัยให้จึงชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์สมรสกับพันตรีจำรัสในขณะที่พันตรีจำรัสมีคู่สมรสอยู่แล้วการสมรสระหว่างพันตรีจำรัสกับโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๕๒ ย่อมตกเป็นโมฆะตาม มาตรา ๑๔๙๕ ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งรวมถึงโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะกล่าวอ้างหรือจะมีคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๙๗ แม้ในคดีนี้จำเลยฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตายเป็นโมฆะ โดยอ้างว่าโจทก์เป็นคู่สมรสกับพันตรีจำรัสในขณะจดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย แต่โจทก์ให้การว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับพันตรีจำรัสเป็นโมฆะเนื่องจากพันตรีจำรัสจดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่นและยังมิได้จดทะเบียนหย่า ย่อมมีผลถึงการกล่าวอ้างถึงการเป็นโมฆะของการสมรสระหว่างโจทก์กับพันตรีจำรัส ซึ่งคดีนี้ย่อมมีประเด็นว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับพันตรีจำรัสเป็นโมฆะหรือไม่ เพื่อจะนำไปสู่การวินิจฉัยว่า การสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ตายเป็นโมฆะหรือไม่ ตามคำฟ้องของโจทก์เมื่อพิเคราะห์ถึงพยานหลักฐานในสำนวนคดีนี้และข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติข้างต้น ได้ความว่าในขณะที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับพันตรีจำรัสนั้น พันตรีจำรัสมีคู่สมรสเป็นหญิงอื่นอยู่แล้วการสมรสระหว่างโจทก์กับพันตรีจำรัสย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๕๒ ประกอบมาตรา ๑๔๙๕ ซึ่งความเป็นโมฆะของการสมรสดังกล่าวย่อมมีผลไปถึงวันที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับพันตรีจำรัส หาใช่มีผลนับแต่วันที่โจทก์จดทะเบียนหย่ากับพันตรีจำรัสในปี ๒๕๓๒ ไม่ ฉะนั้นในขณะที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายจึงถือไม่ได้ว่าในขณะนั้นโจทก์ยังมีคู่สมรสอยู่ การสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตายจึงไม่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา ๑๔๕๒ ย่อมมีผลสมบูรณ์และโจทก์มีฐานะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เมื่อปรากฏว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายในปี ๒๕๓๓ โดยโจทก์กับผู้ตายยังเป็นคู่สมรสกันอยู่เช่นนี้ การสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ตายจึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๔๕๒ ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๔๙๕ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นการไม่ชอบนั้นชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย โจทก์เพิ่งมาทราบภายหลังเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วเพราะจำเลยมายื่นขอรับเงินทดแทนและเงินบำเหน็จตกทอดของผู้ตาย โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยโดยใช้สิทธิสุจริต เห็นว่า ในการร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะตาม มาตรา ๑๔๙๗ มิใช่เรื่องของอายุความในกรณีใช้สิทธิเรียกร้องซึ่งอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ ที่ให้มีกำหนด ๑๐ ปี ดังนั้นผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะเมื่อใดก็ได้ ประกอบกับได้ความตามคำฟ้องสอดคล้องกับที่จำเลยเบิกความรับว่า เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายในปี ๒๕๕๑ จำเลยจึงมายื่นขอรับเงินทดแทนและเงินบำเหน็จตกทอดของผู้ตาย แต่โจทก์ยื่นคำคัดค้านที่จำเลยขอรับเงินทดแทนและเงินบำเหน็จตกทอดของผู้ตายโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทราบถึงการสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ตายเมื่อใดและการที่จำเลยไปใช้สิทธิในฐานะภริยาผู้ตายย่อมเป็นการกระทบ กระเทือนสิทธิและโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ชอบที่จะมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าการสมรสของจำเลยกับผู้ตายเป็นโมฆะในคดีนี้ได้ หาใช่เป็นการส่อแสดงว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ นอกจากนี้ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์กับผู้ตายสมรสโดยไม่สุจริตเพราะขณะนั้นโจทก์มีคู่สมรสอยู่แล้ว แต่เมื่อผลการสมรสระหว่างพันตรีจำรัสกับโจทก์เป็นโมฆะและเสียเปล่ามาแต่ต้นย่อมทำให้การสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตายชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ต้องพิจารณาว่าโจทก์ได้สมรสกับผู้ตายโดยสุจริตหรือไม่เพราะเป็นกรณีที่จะใช้บังคับสำหรับการสมรสที่เป็นโมฆะและสิทธิของคู่สมรสดังกล่าวจะเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสหรือไม่ตาม มาตรา ๑๔๙๙ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่จะใช้บังคับเมื่อ การสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตายเป็นการสมรสซ้อนเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยเหตุนี้มานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า การสมรสระหว่างพลเอกนิพนธ์ (ผู้ตาย) กับนางสาวหรือนางจรีรัตน์หรือเรณุกา (จำเลย) ซึ่งจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ เป็นโมฆะ ให้แจ้งนายทะเบียนสำนักทะเบียนอำเภอเมืองนนทบุรีเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส ให้ยกฟ้องจำเลย (โจทก์สำนวนที่สอง) ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองสำนวนทั้งสามศาลให้เป็นพับ.