แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นบุตรที่ ฉ.ได้ให้การรับรองว่าเป็นบุตรแล้ว แม้จำเลยจะมีเอกสารสำเนาทะเบียนบ้านกับทะเบียนนักเรียนที่ระบุว่าโจทก์เป็นบุตร ฉ.และนางแฉล้มมาแสดงก็ตาม แต่เมื่อพยานโจทก์ที่นำสืบมาฟังได้ดังกล่าวข้างต้น กรณีถือได้ว่าโจทก์ได้นำสืบถึงความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารสำเนาทะเบียนบ้านกับทะเบียนนักเรียนอันเป็นการนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.วิ.พ.มาตรา 127 แล้ว
แม้จำเลยแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า จำเลยเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของ ฉ.โดยมิได้แจ้งว่าโจทก์เป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกด้วยก็ตาม แต่การที่จำเลยไปขอรับมรดกของ ฉ.โดยระบุบัญชีเครือญาติของ ฉ.เจ้ามรดกว่ามีเฉพาะจำเลยและ ส.บุตรนายเฉลียวเพียง 2 คน เท่านั้นที่เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของ ฉ.เจ้ามรดกและ ส.ไม่ขอรับมรดก โดยไม่ได้ระบุถึงโจทก์ด้วยตามพฤติการณ์เพียงเท่านี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นเรื่องปิดบังทรัพย์มรดก อันจะเป็นเหตุให้จำเลยถูกกำจัดมิให้รับทรัพย์มรดกตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 1605
ฉ.เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2532โจทก์ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกภายหลังจากที่ ฉ.ถึงแก่กรรมแล้วโดยได้รับอนุญาตจากจำเลย กรณีจึงมิใช่โจทก์ในฐานะทายาทคนหนึ่งมีเจตนายึดถือเพื่อตนอันจะมีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์มรดกฉ.ร่วมกับจำเลยแต่ประการใด แต่เป็นการครอบครองแทนจำเลย และเมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอรับโอนที่ดินมรดก โจทก์ก็ไปด้วยและโจทก์ไม่ได้ขอแบ่งที่ดินมรดก เมื่อรับฟังประกอบกับเมื่อขณะที่จำเลยขอรับโอนที่ดินมรดกจำเลยก็ไม่ได้ระบุว่าโจทก์เป็นทายาท ดังนี้ถือได้ว่า โจทก์มิได้ครอบครองที่ดินมรดกอย่างเจ้าของ และการครอบครองที่ดินมรดกของจำเลยมิใช่การครอบครองที่ดินมรดกแทนโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ ฉ.เจ้ามรดกถึงแก่กรรม คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754