คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8417/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มิได้ให้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ไว้ และมิได้ใช้คำว่า “โดยทุจริต” ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) จึงต้องให้ความหมายว่า “ทุจริต” ตามพจนานุกรม คือความประพฤติชั่ว โกง ไม่ชื่อตรง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการสอบสวนนั้นโจทก์แจ้งว่า โจทก์ได้รับกล้องที่เป็นของสมนาคุณมาจริงแล้วนำไปไว้ในที่เก็บสินค้าของจำเลยยังมิได้นำออกใช้ แต่เมื่อตรวจดูหน่วยความจำที่บันทึกภาพถ่ายในกล้องปรากฏว่ามีภาพอยู่จำนวน 26 ภาพ เป็นภาพถ่ายที่โจทก์บันทึกไว้เป็นการส่วนตัวโจทก์จึงยอมรับว่าเอากล้องดังกล่าวไปใช้จริง การที่โจทก์ยอมรับว่าเอากล้องดังกล่าวไปใช้แล้วจึงเป็นเพราะโจทก์จำนนต่อหลักฐานนั่นเอง ทั้งไม่อาจถือได้ว่าเป็นการนำไปใช้โดยถือวิสาสะ เพราะหากโจทก์คิดว่าโจทก์มีสิทธิจะนำไปใช้ได้ โจทก์ก็น่าจะยอมรับว่าเอาไปใช้แล้วจริงตั้งแต่ต้น ไม่น่าจะต้องให้ตรวจดูหน่วยความจำที่กล้องบันทึกไว้เสียก่อน เมื่อปรากฏว่ามีภาพถ่ายที่โจทก์บันทึกไว้เป็นการส่วนตัว โจทก์จึงเพิ่งจะยอมรับว่ากล้องดังกล่าวเป็นของสมนาคุณที่จำเลยได้มาและมีไว้เพื่อให้พนักงานของจำเลยจับรางวัลในงานวันขึ้นปีใหม่ การที่โจทก์ไม่แจ้งให้จำเลยทราบว่าได้กล้องดังกล่าวมา ทั้งยังนำไปใช้โดยพลการ เมื่อมีการสอบสวนก็ยังไม่ยอมรับว่าเอาไปใช้แล้วจนต้องมีการตรวจสอบหาความจริงจากหน่วยความจำที่กล้องบันทึกไว้ด้วยเช่นนี้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการประพฤติไม่ซื่อตรงอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) ทั้งยังเป็นการกระทำอันไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ทั้งการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในกรณีนี้เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างได้ จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 223,520 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 27,940 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 251,460 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดวันที่ 1 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างเป็นเงิน 558,800 บาท
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 22,940 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าชดเชยจำนวน 183,520 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 1 ตุลาคม 2547) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 48,880 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานภาค 5 รับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ มีหน้าที่สั่งซื้อสินค้าดูแลสินค้า เก็บรักษาสินค้า ตลอดจนตรวจคืนสินค้า ได้รับเงินเดือนสุดท้ายเดือนละ 22,940 บาท กำหนดจ่ายทุกวันสิ้นเดือน ได้รับค่าเช่าบ้านเดือนละ 2,000 บาท และเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 3,000 บาท วันที่ 30 กันยายน 2547 จำเลยมีหนังสือบอกเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไป โดยมีสาเหตุมาจากเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2547 โจทก์ในฐานะผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อได้รับกล้องดิจิตอล ยี่ห้อโซนี่ รุ่น ดีเอสซี-เอฟเอกซ์ 77 ราคา 21,990 บาท จากบริษัทฮิวแลตต์ แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด ไว้แทนจำเลย ซึ่งเป็นของสมนาคุณที่ได้เนื่องจากจำเลยสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทดังกล่าว โดยโจทก์ไม่เคยแจ้งเรื่องให้ผู้ใดทราบ สำหรับของสมนาคุณที่จำเลยได้รับมาจะนำมาเก็บไว้เพื่อให้พนักงานของจำเลยทุกคนได้จับรางวัลในงานวันขึ้นปีใหม่ ต่อมามีผู้ร้องเรียนว่าโจทก์นำเอากล้องดังกล่าวไปเป็นของส่วนตัว จำเลยจึงมีคำสั่งให้สอบสวนหาข้อเท็จจริง จากการสอบสวนโจทก์แจ้งว่าได้รับกล้องที่เป็นของสมนาคุณมาจริงแล้วนำไปไว้ในที่เก็บสินค้าของจำเลยยังมิได้นำออกใช้ แต่เมื่อตรวจดูหน่วยความจำที่บันทึกภาพถ่ายในกล้องแล้วปรากฏว่ามีภาพอยู่จำนวน 26 ภาพ เป็นภาพถ่ายที่โจทก์บันทึกไว้เป็นการส่วนตัวโจทก์จึงยอมรับว่าเอาไปใช้จริง แล้วศาลแรงงานภาค 5 วินิจฉัยว่า การที่โจทก์นำกล้องที่เป็นของสมนาคุณซึ่งโจทก์มีหน้าที่ดูแลเก็บรักษาออกจากที่ทำงานไปใช้ถ่ายรูปส่วนตัวโดยมิได้ขออนุญาตจากผู้มีอำนาจของจำเลยก่อนเป็นการกระทำที่ถือวิสาสะ ยังไม่แน่ชัดว่าโจทก์เก็บกล้องที่เป็นของสมนาคุณไว้โดยมีเจตนาเก็บไว้เป็นของตนเองหรือไม่ เพราะเมื่อมีการร้องเรียนจำเลยเรียกให้ส่งคืนโจทก์ก็ส่งมอบให้แก่จำเลยในสภาพที่ใช้การได้ดี ยังไม่อาจรับฟังได้ถึงขนาดว่าโจทก์มีเจตนาเอาไปหรือเบียดบังเอาไปโดยทุจริตอันจะเป็นความผิดในทางอาญา จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ทั้งฟังไม่ได้ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรงจำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า การกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า หากโจทก์สุจริตใจจริง โจทก์ก็น่าจะยอมรับว่าเอากล้องไปใช้ตั้งแต่แรก แต่กลับปรากฏว่าจำเลยต้องเปิดหน่วยความจำในกล้องให้ดูโจทก์จึงยอมรับเพราะจำนนต่อหลักฐาน การกระทำของโจทก์เป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ เอาทรัพย์สินของจำเลยไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยมีเจตนาทุจริตปกปิดทรัพย์สินของจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย มิใช่เป็นกรณีถือวิสาสะดังที่ศาลแรงงานภาค 5 วินิจฉัย โจทก์ไม่ซื้อสัตย์ต่อจำเลย จึงมีเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้อง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มิได้ให้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ไว้และมิได้ใช้คำว่า “โดยทุจริต” ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ตามพจนานุกรม คือความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง ศาลแรงงานภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงว่า ในการสอบสวนนั้นโจทก์แจ้งว่าโจทก์ได้รับกล้องที่เป็นของสมนาคุณมาจริงแล้วนำไปไว้ในที่เก็บสินค้าของจำเลยยังมิได้นำออกใช้ แต่เมื่อตรวจดูหน่วยความจำที่บันทึกภาพถ่ายในกล้องปรากฏว่ามีภาพอยู่จำนวน 26 ภาพเป็นภาพถ่ายที่โจทก์บันทึกไว้เป็นการส่วนตัว โจทก์จึงยอมรับว่าเอากล้องดังกล่าวไปใช้แล้วจริง การที่โจทก์ยอมรับว่าเอากล้องดังกล่าวไปใช้แล้วจึงเป็นเพราะโจทก์จำนนต่อหลักฐานนั่นเอง ทั้งไม่อาจถือได้ว่าเป็นการนำไปใช้โดยถือวิสาสะ เพราะหากโจทก์คิดว่าโจทก์มีสิทธิจะนำไปใช้ได้ โจทก์ก็น่าจะยอมรับว่าเอาไปใช้แล้วจริงตั้งแต่ต้น ไม่น่าจะต้องให้ตรวจดูหน่วยความจำที่กล้องบันทึกไว้เสียก่อน เมื่อปรากฏว่ามีภาพถ่ายที่โจทก์บันทึกไว้เป็นการส่วนตัว โจทก์จึงเพิ่งจะยอมรับ กล้องดังกล่าวเป็นของสมนาคุณที่จำเลยได้มาและมีไว้เพื่อให้พนักงานของจำเลยจับรางวัลในงานขึ้นปีใหม่ การที่โจทก์ไม่แจ้งให้จำเลยทราบว่าได้กล้องดังกล่าวมา ทั้งยังนำไปใช้โดยพลการ เมื่อมีการสอบสวนก็ยังไม่ยอมรับว่าเอาไปใช้แล้วจนต้องมีการตรวจสอบหาความจริงจากหน่วยความจำที่กล้องบันทึกไว้ด้วยเช่นนี้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการประพฤติไม่ซื่อตรงอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) ทั้งยังเป็นการทำอันไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ทั้งการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในกรณีนี้เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างได้ จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share