แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การอ้างสำเนาแทนต้นฉบับเอกสารนั้น ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างสำเนาเอกสารมาเป็นพยานหลักฐานยันตนไม่คัดค้านการอ้างเอกสารดังกล่าวเสียก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จ คู่ความฝ่ายนั้นก็ต้องห้ามมิให้คัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของเอกสารนั้น หรือความถูกต้องแห่งสำเนาเอกสารนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์อ้างหนังสือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 เอกสารหมาย จ.20 เป็นพยานโดยส่งสำเนาให้จำเลยก่อนวันสืบพยานแล้ว แต่จำเลยมิได้คัดค้านว่าไม่มีต้นฉบับ หรือสำเนาเอกสารนั้นไม่ถูกต้องตรงกับต้นฉบับก่อนวันสืบพยาน และหลังจากที่ ศ. พยานโจทก์เบิกความอ้างถึงสำเนาหนังสือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นเวลากว่าสองปี จำเลยก็มิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตคัดค้านการอ้างเอกสารดังกล่าวต่อศาล โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุผลอันสมควรประการใดที่ไม่อาจยกข้อคัดค้านนั้นได้ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงตามสำเนาเอกสารหมาย จ.20 ประกอบคำเบิกความของพยานบุคคลว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีหนังสือแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้ทำละเมิดสิทธิของผู้บริโภคต่อศาลแล้ว จำเลยจึงไม่อาจคัดค้านการรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวได้อีก กรณีฟังได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องโดยชอบ
จำเลยเป็นผู้ลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่นำมาจัดสรรขายให้แก่ประชาชนโดยคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนสูง ซึ่งก็ต้องใช้เงินลงทุนสูงด้วย จึงต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุมในเรื่องการเงิน การตลาด รวมทั้งการคาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถรับความเสี่ยงได้สูง แม้จะเกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจและนโยบายการแก้ปัญหาของรัฐบาลจะมีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจทั่วไป รวมทั้งของจำเลยด้วยก็ตาม แต่ก็มิใช่ภาวะที่จำเลยไม่อาจคาดการณ์ได้ หรือไม่อาจแก้ไขได้ ดังนั้น การที่จำเลยปลูกสร้างบ้านไม่เสร็จจึงไม่อาจฟังได้ว่าเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย จำเลยจึงเป็นผู้ผิดสัญญา ผู้บริโภคชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้
สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างจำเลยกับ ส. เป็นสัญญาต่างตอบแทน โดย ส. มีหน้าที่ชำระราคาตามงวด ส่วนจำเลยมีหน้าที่ก่อสร้างบ้านให้เสร็จและส่งมอบแก่ ส. ได้ภายในกำหนดเวลาที่ประมาณการไว้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. ได้ชำระเงินค่างวดแก่จำเลยมาโดยตลอดถึง 17 งวด คงค้างชำระเพียง 3 งวดสุดท้าย แต่จำเลยกลับก่อสร้างบ้านเพียงบางส่วนแล้วหยุดก่อสร้างเป็นเวลานาน จึงถือว่าจำเลยไม่ดำเนินการก่อสร้างบ้านให้เสร็จเรียบร้อยตามที่คู่สัญญาพึงคาดหมายจากกันได้ ทำให้มีเหตุที่ ส. จะหยุดชำระค่างวด โดยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขาย
การที่จำเลยเป็นเจ้าของโครงการจัดสรรที่ดินและปลูกสร้างบ้านเพื่อขายแก่ผู้ซื้อ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปลูกสร้างบ้านให้เสร็จสมบูรณ์ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง และเหมาะสมแก่การอยู่อาศัย การกำจัดปลวกจึงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการเพื่อให้บ้านแข็งแรงทนทานยิ่งขึ้น แม้ในตอนแรกจำเลยกับผู้บริโภคจะไม่ได้กำหนดเรื่องการกำจัดปลวกไว้ในสัญญา แต่ทั้งสองฝ่ายก็สามารถตกลงเพิ่มเติมกันในภายหลังได้ โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือ และเห็นว่าเมื่อมีการตกลงกันเช่นว่านี้แล้ว การกำจัดปลวกย่อมเป็นการบริการอย่างหนึ่งซึ่งเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ก่อสร้างบ้านขายโดยตรง เพราะการฉีดยากำจัดปลวกจะต้องสัมพันธ์กับการก่อสร้าง จำเลยจึงต้องส่งมอบบ้านที่มีการกำจัดปลวกเรียบร้อยแก่ผู้บริโภค เมื่อจำเลยไม่ส่งมอบบ้านให้ ก็ต้องรับผิดต่อผู้บริโภคตามข้อตกลงเพิ่มเติมนั้น และจำเลยยังอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมดูแลของคณะกรรมการคุ้มครองบริโภคตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกคืนเงินค่ากำจัดปลวกหรือเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้แทนผู้บริโภคได้
ตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2532 มาตรา 39 บัญญัติว่า การดำเนินคดีในศาลแทนผู้บริโภคของเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคนั้นให้ได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง และข้อเท็จจริงปรากฏว่าคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล จึงมีผลให้พนักงานอัยการมีอำนาจดำเนินคดีได้เองโดยตรงในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค หาใช่เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะเป็นทนายแผ่นดินในคดีนี้ไม่ จึงไม่ชอบที่ศาลจะสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ค่าทนายความแก่ฝ่ายที่ชนะคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่รับไปจากผู้บริโภคทั้ง 13 ราย คือ คืนเงินแก่นายสุเทพ และนางสาววันเพ็ญ ผู้บริโภครายที่ 1 เป็นเงิน 208,413.237 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คืนเงินแก่นางสาวรุ่งแสง ผู้บริโภครายที่ 2 เป็นเงิน 203,755.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คืนเงินแก่ร้อยโทสิทธิศักดิ์ ผู้บริโภครายที่ 3 เป็นเงิน 211,778.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คืนเงินแก่นางสาวผ่องศรี ผู้บริโภครายที่ 4 เป็นเงิน 204,246.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คืนเงินแก่นายวัฒนชัย และนางสาวนงคราญ ผู้บริโภครายที่ 5 เป็นเงิน 207,650.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คืนเงินแก่นายสุรพล ผู้บริโภครายที่ 6 เป็นเงิน 181,814.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คืนเงินแก่นายสมญา ผู้บริโภครายที่ 7 เป็นเงิน 175,778.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 172,800 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คืนเงินแก่นางสาวสุธาทิพย์ ผู้บริโภครายที่ 8 เป็นเงิน 166,540.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 172,800 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คืนเงินแก่นางจิรสา ผู้บริโภครายที่ 9 เป็นเงิน 202,821.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คืนเงินแก่สิบเอกหญิงจารุวรรณ ผู้บริโภครายที่ 10 เป็นเงิน 207,097.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คืนเงินแก่นางหทัยรัตน์ ผู้บริโภครายที่ 11 เป็นเงิน 183,126.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คืนเงินแก่นายเอกวิทย์ และนางสาวสายหยุด ผู้บริโภครายที่ 12 เป็นเงิน 288,604.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และคืนเงินแก่นายวิธาน ผู้บริโภครายที่ 13 เป็นเงิน 138,548.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 172,800 บาท (ที่ถูกน่าจะเป็น 111,400 บาท) นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 170,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 170,800 บาท นับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางสาวรุ่งแสง ผู้บริโภครายที่ 2 แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 กรกฎาคม 2543) ต้องไม่เกิน 32,955.04 บาท ตามที่ขอมา คืนเงิน 170,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 170,000 บาท นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ร้อยโทสิทธิศักดิ์ ผู้บริโภครายที่ 3 แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 41,778.08 บาท ตามที่ขอมา คืนเงิน 140,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 140,000 บาท นับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายสมญา ผู้บริโภครายที่ 7 แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 35,578.15 บาท ตามที่ขอมา คืนเงิน 166,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 166,800 บาท นับแต่วันที่ 3 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางจิรสา ผู้บริโภครายที่ 9 แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 36,021.95 บาท ตามที่ขอมา ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์เป็นเงิน 20,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การอ้างสำเนาแทนต้นฉบับเอกสารนั้น ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างสำเนาเอกสารมาเป็นพยานหลักฐานยันตนไม่คัดค้านการอ้างเอกสารดังกล่าวเสียก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จ คู่ความฝ่ายนั้นก็ต้องห้ามมิให้คัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของเอกสารนั้น หรือความถูกต้องแห่งสำเนาเอกสารนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์อ้างหนังสือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เอกสารหมาย จ. 20 เป็นพยานโดยส่งสำเนาให้จำเลยก่อนวันสืบพยานแล้ว แต่จำเลยมิได้คัดค้านว่าไม่มีต้นฉบับ หรือสำเนาเอกสารนั้นไม่ถูกต้องตรงกับต้นฉบับก่อนวันสืบพยาน และหลังจากที่นางสาวศิริลักษณ์ พยานโจทก์เบิกความอ้างถึงสำเนาหนังสือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ตามเอกสารหมาย จ. 20 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2544 แล้ว นับถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2546 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นเวลากว่าสองปี จำเลยก็มิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตคัดค้านการอ้างเอกสารดังกล่าวต่อศาล โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุผลอันสมควรประการใดที่ไม่อาจยกข้อคัดค้านนั้นได้ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงตามสำเนาเอกสารหมาย จ. 20 ประกอบคำเบิกความของพยานบุคคลว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีหนังสือแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้ทำละเมิดสิทธิของผู้บริโภคต่อศาลแล้ว จำเลยจึงไม่อาจคัดค้านการรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวได้อีก กรณีฟังได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องโดยชอบ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า จำเลยผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่นำมาจัดสรรขายให้แก่ประชาชน โดยคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนสูง ซึ่งก็ต้องใช้เงินลงทุนสูงด้วย จึงต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุมในเรื่องการเงิน การตลาด รวมทั้งการคาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถรับความเสี่ยงได้สูง แม้จะเกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจและนโยบายการแก้ปัญหาของรัฐบาลจะมีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจทั่วไป รวมทั้งของจำเลยด้วยก็ตาม แต่ก็มิใช่ภาวะที่จำเลยไม่อาจคาดการณ์ได้หรือไม่อาจแก้ไขได้ ดังนั้น การที่จำเลยปลูกสร้างบ้านไม่เสร็จ จึงไม่อาจฟังได้ว่าเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย จำเลยจึงเป็นผู้ผิดสัญญา ผู้บริโภคชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาในปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า นายสมญาไม่ผ่อนชำระเงินค่าบ้านตรงตามงวดในสัญญา จึงตกเป็นผู้ผิดสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งจำเลยได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่นายสมญาก่อนที่จะไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค นายสมญาจึงไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยส่งมอบบ้านที่ปลูกสร้างได้ และเป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเองนั้น เห็นว่า สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างจำเลยกับนายสมญาเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยนายสมญามีหน้าที่ชำระราคาตามงวด ส่วนจำเลยมีหน้าที่ก่อสร้างบ้านให้เสร็จและส่งมอบแก่นายสมญาได้ภายในกำหนดเวลาที่ประมาณการไว้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายสมญาได้ชำระเงินค่างวดแก่จำเลยมาโดยตลอดถึง 17 งวด คงค้างชำระเพียง 3 งวดสุดท้าย แต่จำเลยกลับก่อสร้างบ้านเพียงบางส่วนแล้วหยุดก่อสร้างเป็นเวลานาน จึงถือว่าจำเลยไม่ดำเนินการก่อสร้างบ้านให้เสร็จเรียบร้อยตามที่คู่สัญญาพึงคาดหมายจากกันได้ ทำให้มีเหตุที่นายสมญาจะหยุดชำระค่างวด โดยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขาย การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาแก่นายสมญาจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า โจทก์ไม่อาจดำเนินคดีแทนผู้บริโภคในการเรียกให้จำเลยคืนเงินค่ากำจัดปลวกแก่นางสาวรุ่งแสง และนางจิรสา เนื่องจากจำเลยเป็นเพียงตัวแทนรับชำระเงินไว้แทนผู้ให้บริการกำจัดปลวกเท่านั้น จำเลยไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ให้บริการตามความหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 นั้น เห็นว่า จำเลยเป็นเจ้าของโครงการจัดสรรที่ดินและปลูกสร้างบ้านเพื่อขายแก่ผู้ซื้อ จำเลยมีหน้าที่ต้องปลูกสร้างบ้านให้เสร็จสมบูรณ์ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง และเหมาะสมแก่การอยู่อาศัย การกำจัดปลวกจึงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการเพื่อให้บ้านแข็งแรงทนทานยิ่งขึ้น แม้ในตอนแรกจำเลยกับผู้บริโภคจะไม่ได้กำหนดเรื่องการกำจัดปลวกไว้ในสัญญา แต่ทั้งสองฝ่ายก็สามารถตกลงเพิ่มเติมกันในภายหลังได้ โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือ และเห็นว่าเมื่อมีการตกลงกันเช่นว่านี้แล้ว การกำจัดปลวกย่อมเป็นการบริการอย่างหนึ่งซึ่งเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ก่อสร้างบ้านขายโดยตรง เพราะการฉีดยาเพื่อกำจัดปลวกจะต้องสัมพันธ์กับการก่อสร้างบ้าน ส่วนจำเลยจะว่าจ้างผู้ใดให้มาดำเนินการย่อมเป็นเรื่องของจำเลย ตามทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าผู้บริโภคได้ติดต่อหรือพบกับผู้กำจัดปลวกเลย โดยปล่อยให้เป็นเรื่องของจำเลยที่จะจัดการให้เรียบร้อยพร้อมไปกับการก่อสร้างบ้าน เห็นได้ว่าคู่สัญญามีเจตนาที่จะให้การกำจัดปลวกเป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้างบ้าน จำเลยจึงต้องส่งมอบบ้านที่มีการกำจัดปลวกเรียบร้อยแก่ผู้บริโภค เมื่อจำเลยไม่ส่งมอบบ้านให้ ก็ต้องรับผิดต่อผู้บริโภคตามข้อตกลงเพิ่มเติมนั้น และจำเลยยังอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมดูแลของคณะกรรมการคุ้มครองบริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกคืนเงินค่ากำจัดปลวกหรือเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้แทนผู้บริโภคได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์เป็นเงิน 20,000 บาท ชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2532 มาตรา 39 บัญญัติว่า การดำเนินคดีในศาลแทนผู้บริโภคของเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคนั้นให้ได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง และข้อเท็จจริงปรากฏว่าคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล ดังปรากฏตามสำเนาคำสั่งเอกสาร จ. 20 และได้แจ้งคำสั่งไปยังกระทรวงยุติธรรมแล้ว ตามเอกสารหมาย จ. 21 จึงมีผลให้พนักงานอัยการมีอำนาจดำเนินคดีได้เองโดยตรงในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคหาใช่เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะเป็นทนายแผ่นดินในคดีนี้ไม่ ดังจะเห็นได้ว่าไม่มีการแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความเช่นคดีอื่น ๆ เมื่อพนักงานอัยการมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความ จึงไม่ชอบที่ศาลจะสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ค่าทนายความแก่ฝ่ายที่ชนะคดี คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 20,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.